- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- จนท.น้อย-ตร.ไม่พกบัตรไปจับ! เบื้องหลัง ป.ป.ช.ชง‘ครม.บิ๊กตู่’แก้ปัญหาร้านเกม
จนท.น้อย-ตร.ไม่พกบัตรไปจับ! เบื้องหลัง ป.ป.ช.ชง‘ครม.บิ๊กตู่’แก้ปัญหาร้านเกม
“…มีเจ้าหน้าที่เพียง 20 คนซึ่งทำหน้าที่ออกตรวจร้านเกมและอินเทอร์เน็ตทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งร้านมีเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงแต่ก็อาศัยประชาชนให้สามารถร้องเรียนได้ ในกรณีนี้กลายเป็นดาบสองคม เพราะส่วนหนึ่งเป็นประชาชนที่มาจำนวนร้านเกมที่ยื่นขออนุญาต ร้องเรียนจริง อีกส่วนเป็นร้านคู่แข่งที่มาร้องเรียน เมื่อไปตรวจสอบแล้ว มากกว่าร้อยละ 90 ไม่พบอะไรเลย…”
กลายเป็นเรื่องเป็นราวและส่งผลกระทบต่อสังคมไม่มากก็น้อย ภายหลังเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติรับทราบข้อเสนอแนะการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจร้านเกมและอินเตอร์เน็ตของสำนักงาน ป.ป.ช. และคณะรัฐมนตรีได้ส่งไม้ต่อให้กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวแล้ว
สำหรับรายละเอียดเบื้องต้น ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐหลายพื้นที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยปละละเลยให้เด็กนักเรียนมั่วสุมหลังเลิกเรียนในร้านเกมและร้านอินเตอร์เน็ต จึงได้ดำเนินการลุยตรวจสอบพบว่ามีร้านเกมจำนวนมากที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มั่วสุมนอกเหนือเวลาที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ ป.ป.ช. ได้แบ่งข้อเสนอเป็น 5 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การบังคับใช้กฎหมาย ที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เข้าตรวจตราเด็กและเยาวชนให้เข้าไปใช้บริการตามเวลาที่กฎหมายกำหนด เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการควบคุมการประกอบธุรกิจร้านเกมและอินเตอร์เน็ตในระดับชาติ โดยมีปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบายควบคุม กำกับดูแลธุรกิจร้านเกม หรือเสนอให้กระทรวงมหาดไทย กำหนดยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสังคมโดยเฉพาะ เพิ่มบทบาทให้ภาคประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมสังเกตการณ์ พร้อมให้กระทรวงศึกษาธิการแก้ไขปัญหาร้านเกมบริเวณสถานศึกษา เป็นต้น
อย่างไรก็ดีประเด็นสำคัญของเรื่องคือ ร้านเกมเหล่านั้นเป็นแหล่งมั่วสุมจริงหรือ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ทั้งของ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ภาครัฐอื่น ๆ พบข้อเท็จจริง ดังนี้
ปัญหาเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจร้านเกมและอินเทอร์เน็ต
ในการเปิดให้บริการของร้านเกมและอินเทอร์เน็ต สามารถเปิดให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในกรณีของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี กฎหมายได้กำหนดช่วงเวลาที่เด็กสามารถใช้บริการได้ กล่าวคือ เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ในวันที่มีการเรียน ให้ใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ถึง 20.00 น. ในวันหยุดให้ใช้บริการได้ตั้งแต่ 10.00 น. ถึง 20.00 น. เด็กที่มีอายุ 15 ถึง 18 ปี ในวันที่มีการเรียน ให้ใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ถึง 22.00 น. เด็กอายุ 18 ปีขึ้นไป ให้ใช้บริการได้จนถึง 22.00 น.
แต่จากข้อเท็จจริง พบว่า มีเด็กอายุที่ต่ำกว่า 18 ปี เข้าใช้บริการนอกเวลาที่กฎหมายกำหนดอยู่ตลอด ดังพบกรณีตัวอย่างจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน เช่น การจับกุมร้านเกมและอินเทอร์เน็ตในจังหวัดเชียงใหม่ และการจับกุมร้านเกมและอินเทอร์เน็ตในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อีกหลายร้านด้วยกัน
คำถามคือหน่วยงานใดที่เป็นผู้ดูแลและตรวจสอบกรณีดังกล่าว ?
คำตอบคือกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดเป็นหน่วยงานตรงที่ดูแลเรื่องนี้ โดยจะประสานงานกับฝ่ายตำรวจอีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ดี กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ชี้แจงว่า มีเจ้าหน้าที่เพียง 20 คนซึ่งทำหน้าที่ออกตรวจร้านเกมและอินเทอร์เน็ตทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งร้านมีเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงแต่ก็อาศัยประชาชนให้สามารถร้องเรียนได้ ในกรณีนี้กลายเป็นดาบสองคม เพราะส่วนหนึ่งเป็นประชาชนที่มาจำนวนร้านเกมที่ยื่นขออนุญาต ร้องเรียนจริง อีกส่วนเป็นร้านคู่แข่งที่มาร้องเรียน เมื่อไปตรวจสอบแล้ว มากกว่าร้อยละ 90 ไม่พบอะไรเลย เพราะว่าคู่แข่งร้องเรียนกันเอง ในเขตที่มีการร้องเรียนบ่อยมาก คือ เขตประเวศ ซึ่งมีจำนวนร้านเกมและอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก
ผู้แทนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ระบุอีกว่า ร้านอินเทอร์เน็ตที่ยืนยันว่าไม่มีเกม ก็ไม่ต้องมาขออนุญาตที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในส่วนที่เข้าข่าย ได้แก่ ตู้เกมตามห้างสรรพสินค้า ร้านที่มีลักษณะเป็นตึกแถวโดยเป็นร้านที่มีเครื่องเกม และร้านเกมที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์มีจำนวนไม่มาก เพราะเกมที่เข้าข่ายจะต้องเป็นเกมที่มีการติดตั้งลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้าไม่มีการติดตั้งจะไม่ใช่วัสดุตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551
กรณีร้านอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีการบันทึกข้อมูลเกมลงเครื่องนั้น ไม่มีกฎหมายควบคุม แต่ว่าหากมีการกระทำความผิดต้องไปใช้อำนาจตามกฎหมายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คือ พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กล่าวคือ ร้านอินเทอร์เน็ต เป็นลักษณะการใช้งานของลูกค้า อาทิ การโหลดภาพยนตร์ การโหลดเกม ถ้าไม่มีการบันทึกลงในเครื่อง ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายเป็นวีดีทัศน์ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์พ.ศ. 2551
ส่วนประเด็นการตรวจสอบร้านที่ไม่ได้รับการขออนุญาตนั้น ผู้แทนกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ระบุว่า ในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ให้อำนาจรัฐมนตรีแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์พ.ศ. 2551 โดยให้อำนาจ ตรวจสอบร้านเกมและอินเทอร์เน็ต โดยสามารถตรวจค้น ยึด อายัดได้ หากร้านไม่ได้ขออนุญาตถือเป็นความผิดอาญา ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจ
ประเด็นที่หลายฝ่ายอยากรู้คือการควบคุมเด็กที่เข้าใช้บริการอินเทอร์เน็ตทำกันอย่างไร ?
ผู้แทนกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ชี้แจงว่า พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์พ.ศ. 2551 ไม่มีการควบคุมเวลาเปิดปิดร้าน เนื่องจากในเขตกรุงเทพฯ มีชาวต่างชาติมาใช้บริการด้วย ดังนั้นจึงควบคุมเวลา เฉพาะเด็กที่อายุไม่เกิน 15 ปี ในวันที่มีการเรียน ให้ใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ถึง 20.00 น. ในวันหยุดให้ใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ถึง 20.00 น. เด็กที่อายุ 15 ปี ถึง 18 ปี ในวันที่มีการเรียน ให้ใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ถึง 22.00 น. เด็กอายุ 18 ปีขึ้นไป ให้ใช้บริการได้จนถึงเวลา 22.00 น. นี่คือการควบคุมเวลา
แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีน้อย การควบคุมจึงค่อนข้างทำได้ยาก อย่างไรก็ตามหากมีเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ก็จะไปตรวจสอบ ส่วนใหญ่จะร้องเรียนในประเด็นเด็กมาเล่นเกมก่อนเวลา หรือเลยเวลา ซึ่งก็มีร้านเกมและอินเทอร์เน็ตที่ถูกพักการใช้ใบอนุญาตเยอะพอสมควร ตามกฎหมายถือเป็นโทษทางปกครองที่นายทะเบียนสามารถพักการใช้ใบอนุญาตได้ 90 วัน หากกระทำความผิดบ่อย ๆ ก็สามารถเพิกถอนใบอนุญาตได้ ถ้าถูกเพิกถอนจะไม่สามารถขออนุญาตได้อีก 5 ปี
“กระทรวงวัฒนธรรมได้แต่งตั้งตำรวจเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 แต่ว่ากฎหมายกำหนดว่าการปฏิบัติหน้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตร โดยทางตำรวจมีจำนวนน้อยที่มาขอบัตรพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะตำรวจให้ เหตุผลว่า ต้องรับผิดชอบทุกคดี มีกรณีหลายครั้งที่ตำรวจต้องล่าถอยในการจับกุมเพราะไม่ได้แสดงบัตรพนักงานเจ้าหน้าที่”
ทั้งหมดคือข้อมูลเบื้องต้นจากการลงพื้นที่ของ ป.ป.ช. และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เกี่ยวกับปัญหา ‘เด็กติดเกม’ ที่สังคมกำลังให้ความสำคัญ และรัฐบาล ‘รับลูก’ ไปดำเนินนโยบายแล้ว
แม้ว่าที่ผ่านมาจะยังถกเถียงกันไม่ ‘ตกผลึก’ อย่างแท้จริงว่า ท้ายสุดแล้วปัญหาอยู่ที่เกม หรืออยู่ที่ตัวเด็กเองกันแน่ ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก bloggang