พระศากยวงศ์วิสุทธิ์: สันติคือการอดทนในความต่าง, เลขาฯOIC: อิสลามไม่สุดโต่ง
การเสวนาหัวข้อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม เมื่อวันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2559 นอกจากจะมีการจับตาบทบาทของเลขาธิการโอไอซี ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางเยือนประเทศไทยแล้ว ยังมีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างความเชื่อและศาสนาซึ่งกำลังเป็นกระแสร้อนของโลกยุคปัจจุบันด้วย
เลขาธิการโอไอซี หรือองค์การความร่วมมืออิสลาม ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของโลกมุสลิม และใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหประชาชาติ อยู่ระหว่างเดินทางเยือนประเทศไทย และได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนาเรื่อง “การเสวนาระหว่างความเชื่อและการอยู่ร่วมกันโดยสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม” ที่โรงแรมอนันตรา สยาม จัดโดยสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับศูนย์วิจัยประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมอิสลาม หรือไออาร์ซีไอซีเอ
นายอิยาด อามีน มาดินิ เลขาธิการโอไอซี กล่าวตอนหนึ่งว่า การเสวนานี้ครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีความขัดแย้งต่างๆ เกี่ยวกับศรัทธาและความเชื่อในแต่ละสังคม เนื่องจากเราอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยโลกาภิวัฒน์ทำให้ระยะเวลาและระยะทางในการติดต่อสื่อสารกันลดลง กลายเป็นความท้าทายในการการกระจายข้อมูลความรู้ รวมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันได้ง่าย จนนำไปสู่ความขัดแย้งและความตึงเครียด เห็นได้จากการมองศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่สุดโต่ง ถือเป็นการมองที่มีอคติ
“ทุกศาสนามีแก่นแท้ที่เหมือนกัน คือความกลมเกลียว การยอมรับและเข้าใจกัน รวมถึงการอดทนอดกลั้นต่อกัน แม้ว่าจะมีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันก็ตาม” นายอิยาด กล่าว และว่า ประชาชนที่อยู่ในประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยลดความขัดแย้งและความรุนแรง ลดความเกลียดชังและความไม่ไว้วางใจ ขณะที่ในระดับประชาคมโลกก็ควรมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย จึงถือเป็นความท้าทายของหน่วยงานต่างๆ ในการทำให้ความเข้าใจกันเข้าถึงคนส่วนใหญ่
สอดคล้องกับ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ที่กล่าวในงานเดียวกันว่า การเข้าใจความเชื่อของศาสนาพุทธและอิสลาม ทำให้ทั้งสองศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติมาได้นับพันปี เพราะมีความเคารพซึ่งกันและกัน พร้อมแนะว่า ประชาชนควรเข้าใจว่าสันติภาพหมายถึงความอดทนต่อแนวคิดที่แตกต่างกัน แต่ในทางปฏิบัติทุกคนต้องการปกป้องสิ่งที่ตนเองมี ทำให้เข้าใจผิดว่าสันติสุขหมายถึงการมีสันติสุขเพื่อตัวเอง ดังนั้นจึงควรละทิ้งอุดมคติส่วนตัวและความขัดแย้ง เพื่อให้สังคมเกิดสันติสุขอย่างแท้จริง
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า สังคมต้องการความเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่านี้ ความขัดแย้งเนี่องจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมเกิดจากการไม่มีส่วนร่วมในสังคม การขาดประชาธิปไตย และระบบนิติรัฐที่ล้มเหลว ความขัดแย้งนี้ยังเป็นความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ นอกเหนือจากภัยพิบัติ, ภาวะโลกร้อน หรือเศรษฐกิจตกต่ำ
อดีตเลขาธิการอาเซียน ยกตัวอย่างผู้อพยพและลี้ภัยหลายล้านคนทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศมุสลิม พวกเขาต้องเผชิญกับการปกครองที่ไม่ดีและความขัดแย้งภายในประเทศ ซึ่งผลักดันให้พวกเขาต้องออกจากมาตุภูมิเพื่อหามองอนาคตที่ดีกว่าในประเทศอื่น แต่การที่จะอยู่ในโลกที่มีสันติภาพและความกลมเกลียวกันได้ สังคมต้องมีความสงบสุขและความเอื้อเฟื้อ ยึดหลักเมตตาธรรม ค้ำจุนโลก
ดร.สุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สังคมจำเป็นต้องบริหารความหลากหลายในอนาคต เนื่องจากประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความหลากหลายทางวัฒนธรรม การจัดการจึงไม่ใช่แค่การเสวนาหรือการตระหนักรู้เพียงคนเดียว และยังต้องไปไกลกว่าเรื่องศาสนา โดยจะต้องมีการสร้างความยั่งยืน ความเท่าเทียม ความยุติธรรม และการมีส่วนร่วมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น
ดร.ธีรวัฒน์ ภูมิจิตร ผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กล่าวว่า ประเทศไทยสนับสนุนกลไกและความร่วมมือในการสร้างเอกภาพของสังคม ซึ่งการเสวนาระหว่างประเทศจะทำให้เกิดความเข้าใจและความเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังเน้นว่าการศึกษายังเป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจของคนในสังคมในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีวัฒนธรรมอันหลากหลาย และไม่ควรยอมให้ความรุนแรงที่ทำลายความกลมเกลียวของผู้คน
ดร.ฮาลิต เอเรน ผู้อำนวยการไออาร์ซีไอซีเอ กล่าวว่า การอยู่ร่วมกันโดยสันติในสังคมที่มีความหลากหลายควรเริ่มต้นจากการศึกษาในระดับประถม และเชื่อว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในทศวรรษที่ผ่านมาจะทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ลดลง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เอื้อเฟื้อภาพถ่ายจากงานเสวนา
*หมายเหตุ : นัฏฐิกา โล่ห์วีระ เป็นผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ NOW26