‘ศิริชัยการประมง’ แนะล้งอาหารทะเล ตั้งกลุ่มผู้ผลิตแปรรูปสัตว์น้ำ แข่งสู้รายใหญ่
นายกสมาคมอาหารเเช่เยือกเเข็งไทยยันกุ้งไม่ได้ขนาด ส่งขายในประเทศ ล้งยังรับซื้อ ระบุที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ ต้องหารือรัฐบาลเเก้ปัญหา ‘วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์’ แนะล้งอาหารทะเล จับมือตั้งกลุ่มผู้ผลิตและแปรรูปสัตว์น้ำ ให้เป็นอาหารสำเร็จรูป เเข่งขันผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่รับซื้อ
สืบเนื่องจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ประกาศยกเลิกการว่าจ้างสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น (ล้ง) ภายนอก ตลอดห่วงโซ่อุปทานกุ้งของบริษัทสมาชิก ตั้งเเต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เพื่อเเก้ไขปัญหาต่างประเทศมีนโยบายห้ามซื้อสินค้าทะเลจากไทย ซึ่งสมาคมฯ ได้จัดประชุมชี้เเจงเเก่ผู้ประกอบการล้งที่เป็นสมาชิก เเละมีข้อเสนอให้ผู้ประกอบการรวมตัวยื่นหนังสือต่อรัฐบาล เพื่อหาแนวทางเจรจากับห้างร้านในต่างประเทศ แต่ไม่ยืนยันความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น (อ่านประกอบ:สูตรยกระดับอุตฯ ประมงไทย เลิกจ้าง ‘ล้ง’ ภายนอก สร้างเชื่อมั่นเวทีโลก
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยยกเลิกการว่าจ้างล้งภายนอก ว่าเหตุผลต้องใช้นโยบายดังกล่าว เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม มีความพยายามแก้ไขมาตลอด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ส่วนความกังวลกุ้งขนาดไม่ได้มาตรฐานจะไม่มีผู้รับซื้อ เนื่องจากล้งภายนอกถูกยกเลิก นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า เรายกเลิกเฉพาะล้งภายนอกส่งออกเท่านั้น แต่ล้งภายนอกส่งภายในประเทศ ไม่ได้ห้ามอะไร ยืนยันโรงงานยังรับซื้ออยู่ แต่แทนที่จะแปรรูปข้างนอก ให้กลับมาแปรรูปข้างในแทน
“ปัจจุบันหลายโรงงานที่เคยดูแลล้งต่าง ๆ เริ่มนำแรงงานเข้ามาอยู่ในระบบ ทั้งนี้ ความจริงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ให้ทุกอย่างเข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมด เพื่อการควบคุมได้ง่ายมากขึ้น” ดร.พจน์ กล่าว และว่า ส่วนล้งที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบ จะต้องหารือกับรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง จะแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไป
ขณะที่นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และเจ้าของกลุ่มบริษัท ศิริชัย การประมง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์’ ตอนหนึ่งว่า ถ้าจะวิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริง ‘ล้งกุ้งและล้งปลา’ ในช่วงปีที่ผ่านมาได้ปรับตัวกันมาหลายรอบแล้ว ทั้งในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของแรงงาน อาจจะกล่าวได้ว่า กว่าร้อยละ 80 เป็น ‘ล้ง’ ที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีปัญหาแรงงานหรือค้ามนุษย์ที่ถูกกล่าวหาแล้ว ดังนั้น ปัญหาการเลิกซื้อดังกล่าว ดูจะไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ ‘ล้ง’ เท่าไร เพราะแทนที่จะแยกน้ำดีออก ส่งเสริมสนับสนุนให้ทำธุรกิจต่อไป เล่นบทแรงตัดทิ้งทั้งยวง ไม่ว่าจะมีปัญหาหรือไม่ก็ตาม
“ผมมานึกดู จะโทษสมาคมฯ ที่ออกมาประกาศก็ไม่ได้ เพราะเป็นเอกชน แต่ผมกำลังสงสัยหน่วยงานของรัฐ ที่ยอมให้เขาทำได้ตามสบาย ไม่ได้อ่านพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 หมวด 3 ที่ว่าด้วยการป้องกันการผูกขาดหรืออย่างไร ผม “งง งง งง งง” ครับ เมื่อเขาไม่ซื้อ ผมก็อยากเสนอให้ ‘ล้งอาหารทะเล’ ทั้งหลาย ลองคุยกันครับ” เจ้าของกลุ่มบริษัท ศิริชัย การประมง กล่าว และว่า มีหลายรายที่มีศักยภาพ หลายรายที่พัฒนาได้ รวมตัวกันเลยครับ ยกระดับไปเป็น ‘ผู้ผลิตและแปรรูปสัตว์น้ำ’ ให้เป็นอาหารสำเร็จรูป จะส่งออกหรือขายในประเทศแข่งกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เขารวมหัวกันไม่ซื้อเราไปเลย ผมว่าท่านได้เปรียบนะ เพราะเป็นโรงงานขนาดเล็ก ต้นทุนต่ำ และอยู่ในพื้นที่ เจาะเข้าไปในตลาดเลยครับ
สำหรับท่านที่ขาดความรู้ ต้องการพัฒนา นายวิชาญ ระบุว่า ประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการแปรรูปอาหารเยอะแยะเลยครับ คณะอุตสาหกรรมอาหาร หรืออุตสาหกรรมเกษตร ก็มีอยู่หลายมหาวิทยาลัยทีเดียว ลองไปปรึกษา ลองไปขอความรู้ดูครับ ผมเชื่อว่า ทุกมหาวิทยาลัยยินดี เเละใครที่อยู่สมุทรสาคร วันนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีศูนย์การศึกษาอยู่ในพื้นที่แล้ว และคณะอุตสาหกรรมเกษตรก็มีหลักสูตรเฉพาะในด้านการแปรรูปอาหารทะเลโดยเฉพาะอยู่ด้วย ลองไปคุยดู หากจะให้ผมประสานให้ ผมก็ยินดีครับ ไม่ได้อยากจะยุให้แข่งขันกับเขาครับ แต่ไม่อยากเห็น “ล้ง” ต้องเป็นลูกไก่ในกำมือที่ถูกเขาบีบจนเจียนตายอย่างนี้ครับ
‘วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์’ แนะล้งอาหารทะเล จับมือตั้งกลุ่มผู้ผลิตและแปรรูปสัตว์น้ำ ให้เป็นอาหารสำเร็จรูป