สปสช.ดึงชุมชนร่วมฟื้นฟูสุขภาพหลังน้ำลด
สปสช.ตั้งงบฟื้นฟูสุขภาพหลังน้ำลด 2 พันล้านบาท เป้าหมาย 3 กลุ่ม ผู้ป่วย-ผู้ให้บริการ-ชุมชน ให้ รพ.สต.ทำงานเชิงรุกป้องกันโรค หนุนงบให้กองทุนสุขภาพตำบลฟื้นฟูสุขภาวะในท้องถิ่น
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เปิดเผยถึงแผนการฟื้นฟูหลังอุทกภัยของ สปสช. ว่าขณะนี้หน่วยบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหลายแห่งระดับน้ำเริ่มลดลงและกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว โดย สปสช.จะเน้นการแก้กลุ่มเป้าหมายสำคัญ 3 กลุ่ม คือผู้ป่วย หน่วยบริการสาธารณสุข/ผู้ให้บริการสาธารณสุข และชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในแผนปฏิบัติการหลังน้ำลด และเร่งจัดงบประมาณเพื่อฟื้นฟูให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการรักษาพยาบาลตามปกติได้เร็วขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ปี 2555 ประมาณ 2,000 ล้านบาท
นพ.วินัย กล่าวถึงรายละเอียดของแผนฟื้นฟูว่า สำหรับกลุ่มที่ 1 ประชาชนจะต้องได้รับการดูแลสุขภาพในทุกมิติอย่างดี เน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จัดบริการเชิงรุกป้องกันโรค โดย รพ.สต อปท. คลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพมหานคร ขยายความร่วมมือกับ รพ.เอกชน ที่มีความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้ป่วยโดยเฉพาะ ผู้ป่วยที่สามารถรอการผ่าตัดไว้หรือการผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วน 1,200 ราย ขยายเวลาการให้บริการผู้ป่วยกับ รพ.เอกชนที่ไม่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เข้าร่วมโครงการออกไปอีก 2 เดือน โดยเป้าหมายผู้ป่วยใน 2,000 ราย ผู้ป่วยนอก 1,000 ราย
การบริการรักษากลุ่มเฉพาะ ได้แก่ ติดตามผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ไตวายเรื้อรัง เอดส์ให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฝ้าระวังผู้ป่วยไต 16,754 ราย ผู้ป่วยเอดส์ 41,673 ราย จัดส่งน้ำยาล้างไตทางช่องท้องให้ผู้ป่วยถึงบ้านผ่านหน่วยบริการในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เครือข่ายผู้ป่วยโรคไต 8,861 ราย เตรียมเวชภัณฑ์จำเป็นให้เพียงพอ ได้แก่ ยากำพร้า ยา จ 2 และยา CL (การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร) การฟื้นฟูสภาพคนพิการ โดยการจัดซ่อมและหากายอุปกรณ์ทดแทนให้กับคนพิการ ที่อุปกรณ์ชำรุดจากอุทกภัย เช่น ขาเทียม
สำหรับกลุ่มที่ 2 หน่วยบริการทุกระดับสามารถกลับมาให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดงบประมาณ และ หาความต้องการร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อการซ่อมแซม โครงสร้าง ครุภัณฑ์ แก่หน่วยบริการที่ประสบปัญหาอุทกภัย เร่งรัดการโอนงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวให้หน่วยบริการ ให้ได้ร้อยละ 50
“สำหรับกลุ่มที่ 3 ชุมชน ท้องถิ่น และภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการวางแผน ดูแล ป้องกันสุขภาพของคนในชุมชน ทั้งในระยะฟื้นฟูและในอนาคต พิจารณาสนับสนุนงบประมาณให้กองทุนตำบลในพื้นที่ประสบภัยในการจัดสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การกำจัดขยะ ล้างบ่อน้ำ จัดประชุมระดมสมองร่วมกันระหว่าง อปท. ชุมชน รพ.สต หน่วยงานอื่นในพื้นที่ เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูสุขภาพประชาชนในพื้นที่หลังน้ำลด และแผนพัฒนาระบบหากเกิดเหตุฉุกเฉินในอนาคต” นพ.วินัย กล่าว .
ที่มาภาพ : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/214191