ขสช. เล็งฟ้องสสส. แช่แข็งโครงการฯ-จี้สตง.ยุติคุกคามภาคี ไล่เบี้ยเก็บภาษีซ้ำซ้อน
ขบวนการส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชนเตรียมเดินหน้าฟ้องสสส.ต่อศาลปกครอง หลังหลายโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบฯ ตามสัญญาถูกแช่แข็ง และยังไล่เบี้ยเก็บภาษีย้อนหลัง ชี้เป็นการคุกคามการทำงาน
วันที่ 11 มกราคม 2559 ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) จัดประชุม 20 ภาคีเครือข่าย กรณีการปลดบอร์ดกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และชะตากรรมกว่า 2,000 องค์กรภาคประชาชนหลังโครงการของ สสส.ถูกแช่แข็งร่วม 3 เดือน ณ ชั้น 4 อาคารคริสตจักรแห่งประเทศไทย
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) อ่านแถลงการณ์ภายหลังได้ข้อสรุปการประชุมภาคีเครือข่ายฯ ว่า 1.ปัญหาการปลดบอร์ด สสส.และการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่นั้น ขบวนการส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชนเห็นว่า การปลดบอร์ดของสสส.ทั้ง 7 คนเป็นไปโดยไม่ชอบธรรม เนื่องจากไม่พบการทุจริต อีกทั้งการดำรงตำแหน่งของกรรมการมีคุณสมบัติเป็นไปตามกฎหมาย หากปลดบอร์ดทั้ง 7 คน ด้วยการอ้างเหตุผลว่า เพื่อไม่ให้ขัดขวางการตรวจสอบ ดังนั้นเมื่อมีการตรวจสอบเสร็จสิ้น และพบว่ากรรมการที่ถูกปลดไม่ได้ดำเนินการใดๆที่บกพร่องต่อหน้าที่ รัฐบาลต้องคืนความเป็นธรรมให้กับคณะกรรมการทุกคนโดยเร็ว
นายธีระ กล่าวว่า สำหรับกรณีดังกล่าวทางเครือข่าย มีข้อเสนอ ดังนี้ ให้ยกเลิกการสั่งที่ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากการเป็นกรรมการและการดำรงตำแหน่งในกองทุนดังกล่าว เพื่อให้คณะกรรมการสามารถกลับเข้ามาปฏิบัติงานได้หลังการตรวจสอบเสร็จสิ้น และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการของสสส.ที่เหลืออยู่ และคณะรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสรรหาและแต่งตั้ง ดำเนินการเพื่อให้ได้คณะกรรมการที่มีคุณสมบัติครบถ้วน คือต้องเป็นผู้มีความรู้ ซื่อสัตย์ สุจริต และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านต่างๆ โดยต้องมีคุณสมบัติไม่น้อยไปกว่าคณะกรรมการทั้ง 7 คนที่พ้นจากหน้าที่ รวมทั้งต้องไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านแอลกอฮอล์ บุหรี่ อาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือมีทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิรูประบบสุขภาพ
“และหากทางเครือข่ายพบว่า การแต่งตั้งผู้จัดการสสส. หรือการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเป็นไปโดยมิชอบ รวมทั้งไม่มีความคืบหน้าเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศ”
ผู้จัดการสคล. กล่าวอีกว่า 2.กรณีการระงับการจ่ายงบประมาณดำเนินการและไม่อนุมัติโครงการที่มีงบประมาณเกิน 5 ล้านบาท จะส่งผลกระทบและสูญเสียโอกาสในการมีระบบสุขภาวะที่ดีในหมู่ประชาชนนับแสนนับล้านคน ดังนั้นโครงการที่ภาคีร่วมดำเนินงานกับสสส. ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามสัญญาที่ทำไว้ร่วมกัน หากโครงการยังคงถูกแช่แข็ง ไม่จ่ายเงินตามงวดตามที่ตกลงและลงนามไว้ ทางภาคีจะดำเนินการยื่นฟ้องสสส. ต่อศาลปกครอง
3.กรณีผู้มีอำนาจสั่งการให้มีการไล่เบี้ยเก็บภาษีมูลนิธิและองค์กรต่างๆที่ร่วมปฏิบัติงานกับสสส.นั้น โดยอ้างว่าการดำเนินงานของมูลนิธิและองค์กรต่างๆเป็นการรับจ้างทำของ ซึ่งต้องเสียภาษีและตีตราอากร ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
1.องค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมปฏิบัติงานกับสสส.ไม่ได้สัมพันธ์กับสสส.ในฐานะผู้รับจ้างทำของแต่เป็นผู้ดำเนินการแทนสสส. โดยในความตกลงของสสส.กับภาคีจะมีการลงนามในความตกลงที่เรียกว่า “ข้อตกลงการปฏิบัติงาน” ไม่ใช่ “สัญญารับจ้างทำของ” ซึ่งสสส.เคยขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดตีความในโครงการที่ลงนามในความตกลงดังกล่าวเมื่อปี 2547 และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบกลับตามหนังสือลงวันที่ 27 ธันวาคม 2547 วินิจฉัยว่าเป็น “การดำเนินการแทน”
2.ในความตกลงของสสส.ที่ดำเนินการร่วมกับภาคีได้แยกงบประมาณที่เกี่ยวข้องเป็น 2 ส่วน คือ งบที่เป็นค่าตอบแทนบุคลากร และงบประมาณการดำเนินกิจกรรมตามโครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในส่วนค่าตอบแทนบุคลากรมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยสสส. จะหักค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก่อนโอนงบประมาณให้กับมูลนิธิและองค์กรร่วมปฏิบัติงาน และงบประมาณเกี่ยวกับการดำเนินงานร่วมกับสสส.ไม่ได้เป็นรายได้เพื่อเอามาแบ่งปันแต่ใช้ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ตามความตกลงกับสสส. ค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดขึ้นต้องมีการเก็บใบเสร็จหลักฐานทั้งหมด หากมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายต้องส่งคืนสสส.ตอนหมดสัญญา หากมีการจัดซื้ออุปกรณ์ระหว่างดำเนินกิจกรรมถือว่าเป็นทรัพย์สินของสสส.ทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากสัญญาการรับจ้างทำของ
3.ผู้ปฏิบัติงานในมูลนิธิและองค์กรต่างๆต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามเงินเดือนที่แต่ละคนได้รับตามความเป็นจริง
4.ปัญหาความเดือนร้อนขณะนี้เกิดจากกรมสรรพากรไล่เรียกเก็บภาษีย้อนหลังมูลนิธิและองค์กรต่างๆ ย้อนหลัง 5 ปี และตีความอย่างไม่ชอบธรรมว่าความตกลงดังกล่าว “เป็นสัญญาจ้างทำของ” ต้องเสียภาษีในอัตรา 3% และต้องติดตราสารอากรในอัตรา 1 บาท ต่อทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท พร้อมเบี้ยปรับ 5-6 เท่า ของงบประมาณดำเนินการ ซึ่งไม่มีองค์กรใดที่มีความสามารถจ่ายได้
“ดังนั้นการดำเนินการไล่เบี้ยภาษีจากองค์กรสาธารณประโยชน์ถือเป็นการคุกคามการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมอย่างร้ายแรง ฉะนั้นหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กรมสรรพากร และสรรพากรจังหวัดทุกจังหวัด ยุติการคุกคามองค์กรต่างๆ และให้คณะกรรมการสสส.ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความข้อตกลงการปฏิบัติงานระหว่างภาคีและสสส.ไม่ใช่การรับจ้างทำของ และทางขบวนการส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชนจะร่วมมือกันฟ้องร้องเพื่อยกเลิกประกาศกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้”
สำหรับในการปฏิรูปสสส.นั้น นางสาวจิตติมา ภาณุเดช มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพหญิง กล่าวว่า เราต้องการให้มีข้อเรียกร้องดังนี้ 1.เพิ่มการสนับสนุนโครงการแก่องค์กรและประชาชนเพื่อสร้างความเท่าเทียมในระบบสุขภาพ 2.เพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการและกรรมการระดับต่างๆ ให้มีผู้ที่มีผลงานและประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาด้านต่างๆเข้ามามีบทบาทในสสส.มากขึ้น ปรับทิศทางการทำงานให้ใกล้ชิดกับองค์กรภาคประชาสังคมโดยตรง 3.สนับสนุนให้ออกระเบียบใหม่ที่ป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการและผู้ได้รับผลประโยชน์จากการรับทุนอย่างเข้มงวด 4.กระจายระบบการสนับสนุนทุนให้มีการตัดสินใจในระดับภูมิภาค และ 5.ประเมินผลการดำเนินงานของสสส.และการประเมินการทำงานของผู้บริหารของสสส.โดยโปร่งใสและมีส่วนร่วมโดยภาคีให้มากขึ้น
นางสาวจิตติมา กล่าวถึงกรณีโครงการประชารัฐโดยมีการหารือกรณีเดินหน้านโยบายประชารัฐไม่ได้ เพราะคตร.ไม่อนุมัติโครงการเช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ของสสส. นั้น ทางภาคีจะติดตามการดำเนินโครงการประชารัฐในส่วนที่ขอรับทุนสนับสนุนจากสสส. ว่าจะมีการใช้งบประมาณในโครงการประชารัฐมากจนเกิดผลกระทบต่อการดำเนินการปกติของสสส.ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนด้อยโอกาสหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบการดำเนินการที่มีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านการเกษตร อาหาร และธุรกิจแอลกอฮอล์ ว่าดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ พร้อมกับติดตามผลการประชุมของบอร์ดสสส.ในวันที่ 15 มกราคม 2559 เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้จัดการสสส.คนใหม่ การดำเนินการสรรหาบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิ และความคืบหน้าการแช่แข็งโครงการว่าจะดำเนินการไปในทิศทางใด