มาเลย์พามาราฯพบOIC "อกนิษฐ์"ฝากถามจะคบรัฐบาลไทยหรือกลุ่มแยกดินแดน
มีรายงานจากหน่วยงานด้านความมั่นคงค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า กลุ่มมารา ปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐจำนวน 6 กลุ่มที่ร่วมโต๊ะพูดคุยสันติสุขดับไฟใต้กับรัฐบาล จะได้เข้าพบเลขาธิการโอไอซี ระหว่างเดินทางเยือนหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งไทย ช่วงสุดสัปดาห์นี้
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวในมุมมองของฝ่ายความมั่นคงไทย ถือว่าอ่อนไหวต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก เพราะรัฐบาลไทยทุกรัฐบาลยืนยันมาตลอดว่า ปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาภายในของไทย แต่บทบาทของมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย ประสานงานให้กลุ่มมารา ปาตานี เข้าพบเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี ซึ่งแสดงท่าทีกดดันไทยมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ เสมือนหนึ่งเป็นการยกระดับปัญหาสู่ระดับสากล หรือมีองค์กรภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง
พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะอดีตนายทหารที่เคยมีบทบาทด้านประสานงานชายแดนไทย-มาเลเซีย กล่าวว่า เท่าที่ทราบประเทศเพื่อนบ้านของไทยเคยพากลุ่มมารา ปาตานี เดินทางไปพบโอไอซีมาแล้ว และให้มารา ปาตานี เสนอตัวเป็นผู้สังเกตการณ์การประชุมโอไอซี ซึ่งเป็นสถานะเทียบเท่ากับรัฐไทยในโอไอซี ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของชาติผู้สังเกตกาณ์ซึ่งไม่ใช่ประเทศมุสลิม
ฉะนั้นตามข่าวที่ได้รับมา เมื่อเลขาธิการโอไอซีจะเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านในช่วงสุดสัปดาห์นี้ จึงมีการประสานงานให้กลุ่มมารา ปาตานี เข้าพบเลขาธิการโอไอซีด้วย
“ผมห่วงบทบาทของประเทศเพื่อนบ้านที่เราเชิญมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขเพื่อแก้ไขปัญหาขัดแย้งในภาคใต้ เพราะบทบาทเช่นนี้ไม่ใช่ผู้อำนวยความสะดวก แต่กำลังแสดงบทบาทเป็นคนกลางการเจรจา และทำให้กลุ่มผู้เห็นต่างยกสถานะเทียบเท่ารัฐบาลไทย คำถามก็คือเป็นการทำเกินหน้าที่หรือไม่ และมีความเหมาะสมหรือเปล่า”
“เรื่องนี้ถ้าโอไอซียอม ก็เท่ากับยอมรับสถานะของกลุ่มมารา ปาตานี ว่าเทียบเท่ากับรัฐบาลไทย จึงอยากให้โอไอซีตระหนักตรงจุดนี้และพิจารณาอย่างรอบคอบว่าตกลงจะคบกับรัฐบาลไทย หรือคบมารา ปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน” พลเอกอกนิษฐ์ กล่าว
อดีตนายทหารซึ่งมีบทบาทสูงในการเจรจายุติปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาในอดีต ซึ่งส่งผลดีทั้งกับประเทศไทยและมาเลเซีย ยังเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ จับตาการเล่นเกินบทบาท ผิดคิวของมาเลเซีย และควรเร่งทำความเข้าใจกับโอไอซีโดยด่วน
“มาเลเซียคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จในการเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ กับกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ บนเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งสู้รบกันมาหลายสิบปี แล้วกำลังจะนำ ‘มินดาเนาโมเดล’ มาใช้กับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ทั้งๆ ที่ใช้กันไม่ได้ เนื่องจากสภาพปัญหา สภาพสังคม และประวัติศาสตร์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”
พลเอกอกนิษฐ์ กล่าวด้วยว่า จากแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ กำลังเดินผิดทาง เล่นตามเกมมาเลเซียและมารา ปาตานี ฉะนั้นจึงเตรียมเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาเรื่องนี้ และสรุปเป็นรายงานเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับเปลี่ยนแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
"อักษรา"ประชุมร่วม"ผู้นำศาสนา-ภาคสังคม" ถกพูดคุยดับไฟใต้
วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมคณะพูดคุย รวมทั้ง พลเอกกิตติ อินทสร เลขานุการคณะพูดคุยฯ ตัวแทนจากกองทัพ เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้นำศาสนา นักวิชาการ และภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อรับทราบสภาพปัญหาและความต้องการเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ โดยใช้สถานที่ค่ายจุฬาภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยคณะพูดคุยฯได้อธิบายผลการดำเนินกรบะวนการพูดคุยในปี 2558 และแผนงานการดำเนินกระบวนการพูดคุยในระยะต่อไป ซึ่งมีการขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมด้วย เพื่อแสดงถึงความต้องการร่วมกันที่จะนำสันติสุขและความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของประชาชนกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ขณะที่ผู้นำศาสนาซึ่งเข้าร่วมประชุม ได้ขอให้ทุกฝ่ายอดทน แสดงออกด้วยความจริงใจและจริงจังในการดำเนินกระบวนการพูดคุยฯ อย่าให้สังคมผิดหวัง และต้องดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาในทุกมิติ ส่วนนักวิชาการจะช่วยสร้างเสริมทางวิชาการในมุมมองสันติภาพเชิงบวก
ภาคสังคมขอพื้นที่กลาง-ยื่นรายงานซ้อมทรมานเหยื่อ 52 คน
ขณะที่ตัวแทนภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมประชุม ร้องขอการมีส่วนร่วมในการดำเนินกระบวนการพูดคุยฯ อาทิ ขอให้จัดพื้นที่กลาง หรือ Common space ในการแสดงออก ซึ่งตัวแทนฝ่ายรัฐในที่ประชุมชี้แจงว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ในฐานะคณะประสานงานระดับพื้นที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว
โอกาสนี้ นางสาวอัญชณา หีมมิหน๊ะ แกนนำกลุ่มด้วยใจ ในฐานะตัวแทนคณะจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ปี 2557 - 2558 ซึ่งร่วมจัดทำกับเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้มอบรายงานดังกล่าว ความหนา 59 หน้าให้กับ พลเอกอักษรา
เนื้อหาในรายงานระบุถึงผู้ร้องเรียนทั้งหมด 52 ราย เป็นชายชาวมลายูมุสลิมทั้งหมด ร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการถูกทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และเกิดขึ้นในสถานที่เดิม โดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหารหลังถูกควบคุมตัว วัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพ ซึ่งจากบันทึกของผู้ร้องเรียน มีการกล่าวอ้างว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร 48 ราย และเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 13 ราย
พลตรีบรรพต พูลเพียร รองโฆษกคณะพูดคุยฯ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการประชุมรับฟังความเห็นครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างคณะพูดคุยฯ กับผู้นำศาสนา ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อให้ทราบสภาพปัญหาและความต้องการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำคัญตามกรอบเป้าหมายและทิศทางการดำเนินกระบวนการพูดคุยฯในระยะที่ 1 คือระยะการสร้างความไว้วางใจ
วันเดียวกัน พลเอกอักษรา พร้อมคณะ ได้ประชุมหารือกับฝ่ายกองกำลัง นำโดย พลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 พลตรีชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4 พลตรีเอกรัตน์ ช้างแก้ว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส และ พลตำรวจตรี พัฒนวุธ อังคะนาวิน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ด้วย
พลเอกอักษรา กล่าวว่า ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่มีมาถึง 12 ปี ตัวละครออกมาหมดแล้ว จึงต้องมาบอกกล่าวให้ประชาชนทุกคนได้รับรู้ว่ามีการพูดคุยไปถึงไหนแล้ว มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องอย่างไร ขณะนี้อยู่ที่ว่ากลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐจะเอาอย่างไร
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ (ภาพจากทีมข่าวอิศรา)
2 พลเอกอักษรา เกิดผล (คนกลาง) ภาพจากเฟซบุ๊คของ พลตรี บรรพต พูลเพียร (ภาพถูกครอปโดยทีมข่าวอิศรา)