ปรเมศวร์ มินสิริ :หรือนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ในการทำงานภาคสังคมของไทย
"...น่าจับตาดูว่าจุดนี้คือจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทยหรือไม่ ที่กลุ่มทุนจะเข้มแข็งขึ้น เพราะได้ทำงานร่วมกับระดับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ อย่างใกล้ชิด และภาคประชาชน ประชาสังคมจะอ่อนแรงลง...ฐานมวลชนจำนวนมากที่เคยชื่นชมท่านผู้นำมาตั้งแต่แรก ขณะนี้พวกเขาจะคิดกันอย่างไร..."
เมื่อเร็วๆ นี้ นายปรเมศวร์ มินศิริ ซึ่งดำรงตำแหน่ง กรรมการกำกับทิศทางแผนภัยพิบัติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้โพสข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัวชื่อ Poramate Minsiri แสดงความเห็นถึง กรณีที่มีการใช้ ม.44 ปลดบอร์ดทั้ง 7 คน และการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ โดยมีใจความว่า
เรื่องที่ต้องมองให้ทะลุมากไปกว่า ทำไมถึงใช้มาตรา 44 ปลดกรรมการ ทั้งๆ ที่ไปตรวจทุจริตก็ไม่พบ และกำลังแก้ไขปัญหาตำแหน่งนั่งในบอร์ดและมูลนิธิตามระยะเวลาในระเบียบอยู่แล้ว
กลุ่มทุนในประเทศไทย นั้นมีความเก่งในการดีลกับรัฐ มานานแล้ว ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ประชาชนมักจะไม่ได้มีโอกาสเป็นหลักในการทำงาน เพราะเอกชนเขาจะคุยกับรัฐพอตกลงกันได้ก็จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ว่ากันไปให้ถูกระเบียบในเอกสาร แต่ผลงานออกมาเกิดประโยชน์แค่ไหนเป็นเรื่องที่วัดกันยาก
แม้แต่ในรัฐบาลคสช.นี้ก็ตาม ดังจะเห็นได้จากโครงการประชารัฐ ที่ตอนเริ่มกำเนิดนั้นมาจากแนวคิดที่ตกผลึกมานานแล้วของ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ที่สสส.ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนงานอยู่อย่างสม่ำเสมอ จนรัฐบาลรับลูกมีการจัดแถลงข่าวใหญ่โต เบื้องหลังคนทำงานคือสสส.กับภาคีภาคประชาสังคมทั้งนั้น แต่ต่อมาความหวังก็ดับวูบลง เมื่อมีการประกาศรายชื่อคณะทำงานร่วม มีแต่คนของรัฐกับเอกชนรายใหญ่ นายทุน แม้แต่นายทุนน้ำเมา ก็ยังมีบทบาทอย่างสูงในประชารัฐ
จึงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเข้าถึงทรัพยากรภาครัฐของนายทุนเอกชนได้เป็นอย่างดี มาเป็นเวลาอันยาวนาน
ต่างจากกองทุน สสส.ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางสังคมเดียวที่ ให้ภาคประชาชน ประชาสังคม เข้ามาร่วมทำงานกับรัฐได้ โดยสามารถคิดโครงการที่เป็นประโยชน์ขึ้นมาได้และไม่ใช่การรับจ้างแบบคิดกำไรได้ แต่ต้องแจกแจงค่าใ้ช้จ่ายตามจริงแบบละเอียดยิบ การพิจารณาโครงการโดยผู้ไม่มีส่วนได้เสีย การตรวจสอบที่เข้มข้น แต่ก็ช่วยให้เกิดโครงการจำนวนมากที่ ตอบโจทย์สังคม ทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็งเพราะได้คิดงาน ทำงาน เรียนรู้งาน กันจริงๆไม่ใช่แค่เป็นผู้รอรับความช่วยเหลือจากรัฐและความรู้จากการทำงานเกิดในมือของเอกชนที่มารับงานรัฐ
การใช้มาตรา 44 ปรับกรรมการออก เกิดจากตอนที่ทางรัฐบาลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ สสส. ทางผู้จัดการสสส.แสดงสปิริตลาออกเพื่อเปิดทางให้การตรวจสอบสะดวกขึ้น จนท่านไพบูลย์ยังต้องชมและออกมาบอกว่าไม่พบทุจริตในเวลาต่อมา แต่ติงเรื่องกฎหมายเขียนไว้กว้าง จนได้มีการดำเนินการปรับแก้ระเบียบต่างๆให้แคบลงอยู่หลังจากนั้น
แต่จุดสำคัญคือเมื่อผู้จัดการลาออก ก็จะต้องมีการสรรหาใหม่ โอกาสเดียวที่จะแทรกแซงองค์กรนี้ได้สะดวกที่สุดคือ เปลี่ยนแปลงตัวกรรมการที่จะมีส่วนสำคัญในขั้นตอนการสรรหา
น่าจับตาดูว่าจุดนี้คือจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทยหรือไม่ ที่กลุ่มทุนจะเข้มแข็งขึ้น เพราะได้ทำงานร่วมกับระดับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ อย่างใกล้ชิด และภาคประชาชน ประชาสังคมจะอ่อนแรงลง เพราะเท่าที่ทราบก็เป็นเวลาร่วม 4 เดือนแล้วที่การจ่ายเงินสนับสนุนโครงการต่างๆ ต้องสะดุดหยุดลง และไม่ทราบชะตากรรมหลังจากนี้ต่อไปเมื่อเปลี่ยนกรรมการชุดใหม่และมีผู้จัดการคนใหม่แล้ว
ฐานมวลชนที่ทำงานเพื่อสังคมมาเป็นเวลานาน ไม่ใช่มวลชนสีใดๆ และมีจำนวนมากที่เคยชื่นชมท่านผู้นำมาตั้งแต่แรก ขณะนี้พวกเขาจะคิดกันอย่างไร ต้องคอยติดตามกันต่อไป
ทั้งนี้นาย ปรเมศวร์ มินศิริ ยังเผยว่า ในส่วนของเขานั้นได้ค่าตอบแทนคือเบี้ยประชุมครั้งละ 500 บาท ซึ่งต่อให้เดินทางไปประชุมไกลแค่ไหนก็ไม่ได้เกิน 1,500 บาท
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.manager.co.th/