เงินอุดหนุน 400 บาท นโยบายสาธารณะก้าวแรกเพื่อเด็กเล็ก
นโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ ตัวเด็กเล็ก ยังไม่สามารถพูดเพื่อสิทธิประโยชน์ของตนเองได้ ต่างจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในนโยบายอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุยังร่วมออกเสียงได้ รัฐและสังคมจึงต้องมี ’ความรับผิดชอบต่ออำนาจ’ สนใจให้ความสำคัญกับนโยบายสาธารณะนี้อย่างจริงจัง
เงินอุดหนุนเด็กเล็ก เป็นข้อเสนอนโยบายจัดทำโดยนักนโยบาย นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องฐานการคุ้มครองทางสังคมแก่เด็ก เพื่อให้ครอบครัวของเด็กจัดสรรใช้จ่ายในสิ่งที่เอื้อให้ชีวิตของเด็กเล็กมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือทางสังคม
รัฐบาลได้ประกาศเดินหน้าโครงการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในครอบครัวยากจน โดยมอบเงินช่วยเหลือ จำนวน 400 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี สำหรับเด็กที่เกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 - 30 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นนโยบายที่รับผิดชอบโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
รัฐบาลคาดว่าจะมีเด็กแรกเกิดประมาณ 135,768 คน ในโครงการ และหลังจากจบโครงการจะมีการประเมินผลสัมฤทธิ์อีกครั้ง เพื่อประเมินความเหมาะสมในระยะต่อไป โดยในเบื้องต้นคุณสมบัติของครอบครัวที่จะได้รับเงินอุดหนุนคือ มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ ในครอบครัวมีคนพิการ ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในปกครอง เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
เนื่องจากแต่ละครอบครัวมีความจำเป็นไม่เหมือนกัน การให้เป็นเงินอุดหนุนจึงสอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่างกัน มากกว่าการให้เป็นอาหารหรือสิ่งของ
เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในครอบครัวยากจนที่รัฐบาลประกาศ นับเป็นผลจากความพยายามก้าวแรกในการขับเคลื่อนระดับนโยบายร่วมกันระหว่างนักนโยบาย นักวิชาการ และภาคประชาสังคม คณะทำงานด้านเด็ก คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่าย พร้อมให้ความสำคัญและสนับสนุนร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายนี้ให้สามารถดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการเลี้ยงดูและเอาใจใส่เด็กอย่างมีสุขภาวะ เสริมสร้างสมรรถนะครอบครัวดูแลเด็กเล็ก เรียกร้องให้สังคม และรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการดูแลเด็กในเชิงระบบอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง
ในวงวิชาการด้านพัฒนาการเด็ก ค้นพบว่า โครงสร้างสมอง (brain architecture) ของมนุษย์จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปีแรกของชีวิต พัฒนาการที่สำคัญของเด็ก รวมทั้งพัฒนาการสมองเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงอายุ 5-6 ปี จึงค่อยๆชะลอตัวลง
เด็กในช่วงปฐมวัย (0-6 ปี ) จึงเป็นช่วงที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง การที่เด็กได้รับโภชนาการที่ดี การเลี้ยงดูที่เหมาะสม ได้รับความเอาใจใส่และมีโอกาสหลากหลายที่จะเรียนรู้ผ่านการเล่นและกิจกรรมต่างๆ เป็นความจำเป็นพื้นฐานสำหรับเด็ก เพื่อเด็กๆเหล่านี้มีความพร้อมเมื่อเข้าโรงเรียน และเป็นประชากรที่มีคุณภาพและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพในอนาคต
หากมองจากมุมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมักจะมีการพูดถึงการยกระดับคุณภาพแรงงานให้ก้าวสู่แรงงานมีฝีมือ ไม่ติดอยู่กับการเป็นประเทศแรงงานราคาถูก หรือกับดักประเทศรายได้ปานกลาง นั่นหมายถึงคุณภาพคนในสังคมไทยต้องได้รับการดูแลและพัฒนาระดับสติปัญญาให้สามารถยกระดับเป็นแรงงานฝีมือได้ การพัฒนาขีดความสามารถของคนในสังคมตั้งแต่เด็กเล็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ
การขับเคลื่อนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ ตัวเด็กเล็ก ยังไม่สามารถพูดเพื่อสิทธิประโยชน์ของตนเอง ต่างจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในนโยบายอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุก็ยังร่วมออกเสียงได้ รัฐและสังคมจึงต้องมี ’ความรับผิดชอบต่ออำนาจ’ ควรสนใจให้ความสำคัญกับนโยบายสาธารณะนี้อย่างจริงจัง
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/Msociety.go.th/photos_stream