ประชารัฐกับประชานิยมต่างกันอย่างไร? แล้วคนไทยจะได้อะไร?
"คำตอบที่ว่า ประชาชนจะได้อะไรจากนโยบายประชารัฐ ขึ้นกับว่า คณะทำงานประชารัฐจะมุ่งนโยบายไปในทิศทางใด หากนโยบายประชารัฐมุ่งเน้นที่การพัฒนาที่รากหญ้าเป็นสำคัญ ประชาชนทั่วไปก็จะได้รับผลประโยชน์ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และได้รับผลประโยชน์ที่มากกว่านโยบายที่มุ่งเน้นที่การพัฒนาภาคธุรกิจ เพื่อลดปัญหาผลผลิตคงค้าง เป็นหลัก"
นโยบาย ‘ประชารัฐ’ เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แทนกรอบนโยบายแบบเก่าของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ หรือก็คือ นโยบาย ‘ประชานิยม’
โดยในตัวสาระสำคัญจะพบว่า นโยบายประชานิยม จะมุ่งเน้นที่ความนิยมชมชอบของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเมื่ออยู่ภายใต้ระบบการเลือกตั้ง นโยบายประชานิยมจะเลือกพุ่งเป้าไปที่ความนิยมชมชอบของกลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ก่อน เพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะไม่เป็นที่นิยมชมชอบ หรือแม้กระทั่งเกิดผลเสียต่อกลุ่มประชาชนส่วนน้อย
ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งของนโยบายประชานิยม ก็คือ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบาย มักจะไม่ได้ทันคำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาในอนาคตซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การมองภาพรวมได้อย่างไม่ครบถ้วน การขาดข้อมูลในการตัดสินใจ หรือ ผลของความเสียหายจะถูกกระจายอย่างเฉลี่ยจนทำให้ผลเสียดูเบาบางลงไป นโยบายประชานิยมที่ขาดการคำนึงถึงผลเสียในอนาคต จึงทำให้ประเทศสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกาในช่วงทศวรรษก่อนๆ
สำหรับ นโยบายประชารัฐ ความมุ่งหวังของกรอบนโยบาย คือการปิดจุดอ่อนของนโยบายประชานิยมดังกล่าว โดยตัวสาระสำคัญของนโยบายประชารัฐ จะอยู่ที่การใช้อำนาจของรัฐ เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
นโยบายประชารัฐ จึงมิได้มุ่งเน้นที่การสร้างความนิยมชมชอบของประชาชนในระยะสั้นเป็นหลัก เพราะนโยบายที่ประชาชนให้ความนิยมชมชอบ อาจจะมีผลเสียตามมาในอนาคตก็เป็นได้ และไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของแหล่งที่มาของอำนาจว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่อีกด้วย ขอเพียงแค่ผลประโยชน์ของการดำเนินนโยบายให้ตกอยู่กับประชาชนก็พอ
เมื่อย้อนมองถึงนโยบายประชารัฐในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา และมองทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายในอนาคตผ่านการ ตั้งคณะทำงานประชารัฐ พบว่า นโยบายประชารัฐที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต จะมีอยู่ 2 รูปแบบที่สำคัญ
รูปแบบแรก คือ กลุ่มนโยบายที่ดูแลกลุ่มรากหญ้าโดยตรง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการอัดฉีดเงินกองทุนหมู่บ้านหรือ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับตำบล ซึ่งเป็นมาตรการดูแล สนับสนุนแบบเฉพาะเจาะจงลงไปให้กับกลุ่มประชาชน และในระดับพื้นที่
รูปแบบที่สอง คือ กลุ่มนโยบายที่สนับสนุนภาคธุรกิจ เพื่อลดปัญหาผลผลิตคงค้าง ก่อให้เกิดการผลิต การจ้างงาน การลงทุนระลอกใหม่ ตัวอย่างของนโยบายในรูปแบบที่สอง เช่น มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับรายได้ที่จ่ายไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ มาตรการลดหย่อนภาษี 15,000 บาท สำหรับการซื้อสินค้าและบริการในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เป็นต้น
ทั้งสองรูปแบบจะให้ผลประโยชน์ต่อประชาชนในระดับที่ต่างกัน โดยนโยบายรูปแบบแรกจะให้ผลกระทบโดยตรงอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า เนื่องจากเป็นการให้การช่วยเหลือกับกลุ่มประชาชนโดยตรง ในขณะที่นโยบายรูปแบบที่สอง จะให้ประโยชน์กับประชาชนทางอ้อม ผ่านการสนับสนุนภาคธุรกิจ นั่นคือ ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ภายหลังจากที่ธุรกิจได้รับผลประโยชน์แล้ว และผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจะมากหรือน้อย ขึ้นกับว่าภาคธุรกิจนำผลประโยชน์ทีได้ มาต่อยอดสร้างการผลิต จ้างงานและลงทุนเพิ่มมากน้อยเพียงใดนั่นเอง
ประสบการณ์จากต่างประเทศ พบว่านโยบายที่สนับสนุนภาคธุรกิจ (รูปแบบที่ 2) มีประเด็นปัญหาที่น่ากังวลใจ คือ นโยบายดังกล่าวอาจจะให้ผลประโยชน์ต่อธุรกิจในระดับที่ไม่เท่าเทียมกัน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดกลางและย่อม นอกจากนี้ นโยบายสนับสนุนธุรกิจอาจจะส่งผลกระทบในแง่ลบต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว เนื่องจากนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจ ทำให้ธุรกิจได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันลดลง ท้ายที่สุด ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากนโยบายดังกล่าว อาจจะมีไม่มากนัก หากนโยบายที่สนับสนุนภาคธุรกิจ เป็นแค่การแก้ไขปัญหาผลผลิตที่ล้นเกิน ก่อให้เกิดการจ้างงาน การลงทุนใหม่ๆที่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก
คำตอบที่ว่า ประชาชนจะได้อะไรจากนโยบายประชารัฐ จึงขึ้นกับว่า คณะทำงานประชารัฐจะมุ่งนโยบายไปในทิศทางใด หากนโยบายประชารัฐมุ่งเน้นที่การพัฒนาที่รากหญ้าเป็นสำคัญ ประชาชนทั่วไปก็จะได้รับผลประโยชน์ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และได้รับผลประโยชน์ที่มากกว่านโยบายที่มุ่งเน้นที่การพัฒนาภาคธุรกิจ เพื่อลดปัญหาผลผลิตคงค้าง เป็นหลัก
ทั้งนี้ ผู้เขียนมองว่านโยบายที่จะพัฒนาธุรกิจแบบประชารัฐ คือสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนจะต้องไม่ใช่นโยบายฉาบฉวย ที่เน้นการแก้ไขปัญหาผลผลิตส่วนเกิน แต่ต้องเป็นนโยบายที่วางกลยุทธ์อุตสาหกรรมในอนาคตที่เหมาะสม ที่จะก่อให้เกิดการผลิต การจ้างงาน และการลงทุนอย่างต่อเนื่องในอนาคต.
ขอบคุณบทความจาก
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร
นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)