นายกฯยอมรับดับไฟใต้ไม่ง่าย! ไม่กังวล OIC เยือนไทย
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบข้อถามของผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2559 ถึงทิศทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานานถึง 12 ปีเต็ม
พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องถามก่อนว่าความขัดแย้งในภาคใต้เกิดขึ้นเพราะอะไร ซึ่งกระทรวงกลาโหมและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะเป็นผู้ชี้แจงในภาพของการแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขได้ง่าย ไม่ใช่สั่งวันนี้ พรุ่งนี้เสร็จ ปัญหาความขัดแย้งนั้นเป็นกันทั้งโลก ถามว่าแก้ไขได้หรือไม่ ก็แก้ไขไม่ได้ ประเทศไทยก็คล้ายกับประเทศอื่นทั่วโลก ไม่ใช่ให้ภาครัฐเป็นผู้แก้ไขเพียงฝ่ายเดียว ต้องแก้ไขกันทั้งสองฝ่าย รัฐมีหน้าที่ทำตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้เห็นต่างจากรัฐใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ มันก็ไม่ใช่
ผู้สื่อข่าวถามว่า เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) จะเดินทางเยือนประเทศไทยในสัปดาห์หน้า จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องใดบ้าง พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า จะชี้แจงในสิ่งที่เราได้แก้ปัญหาไปแล้ว ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ใช้แต่กำลัง แต่แก้ปัญหาด้วยยุทธศาสตร์ทั้ง 9 ยุทธศาสตร์ รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนวิธีอื่นๆ
“ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ออกมาพูดก็พูดไปเรื่อย พูดได้ทุกปี พูดจนเสียหาย ไม่รู้พูดเพื่อให้ได้ประโยชน์อะไร” พลเอกประยุทธ์ เปรยถึงนักวิชาการรายหนึ่งที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องไฟใต้ แต่ไม่ได้ขยายความต่อว่าคือใคร
ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญานั้น นายกรัฐมนตรี บอกว่า จะมีการหารือ เพราะอยู่ในหัวข้อการอพยพแบบไม่ปกติ ซึ่งกำลังแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาคกับทุกประเทศอยู่ โดยไทยเป็นประเทศที่อยู่กลางทาง การมองเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเดียวจะทำให้เกิดขบวนการค้ามนุษย์ และไทยจะกลายเป็นศูนย์กลาง ฉะนั้นจึงต้องมองในภาพกว้าง
"ประวิตร"ยันใช้งบคุ้ม – ยังไม่ถึงเวลาคุยมารา ปาตานี
ขณะที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเรื่องเดียวกันว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ความรุนแรงต่างๆ ลดน้อยลง และเรื่องภาคใต้ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการแก้ไข และหวังว่าในปี 2559 สถานการณ์จะลดลงหรือไม่มีเลย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่กำหนดเป้าหมายลดสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ในปี 2559 นี้ สามารถตั้งความหวังได้จริงหรือไม่ พลเอกประวิตร กล่าวว่า ก็หวังและพยายามที่จะลดกำลังเจ้าหน้าที่จากกองทัพภาคอื่นลง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทำงานร่วมกับประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ได้เอง ปัญหาต่างๆ จะลดลงได้ และขณะนี้เจ้าหน้าที่สามารถประสานงานร่วมกับภาคประชาชนได้แล้ว และประชาชนให้ความร่วมมือดีขึ้นมาก
เมื่อถามถึงข้อสังเกตของบางฝ่ายเกี่ยวกับความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณลงไปแก้ปัญหาจำนวนมาก เกือบๆ 3 แสนล้านบาทแล้ว พลเอกประวิตร ตอบว่า “คุ้มค่าสิ จะไม่คุ้มค่าหรือกับความสงบเรียบร้อยและการแก้ปัญหาต่างๆ ภายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อลดความขัดแย้ง ขณะที่ทรัพยาธรรมชาติในพื้นที่ก็มีจำนวนมาก ฉะนั้นเมื่อลดความขัดแย้งได้ทั้งหมด ก็คุ้มค่าหมด จะเสียเท่าไหร่ก็เสียได้หมด ไม่มีปัญหาหรอก ขอให้เกิดความสงบอย่างชัดเจน ชีวิตคน ชีวิตทหารที่เสียไปคุ้มค่าหรือไม่ ที่ต้องตายและบาดเจ็บไปปีหนึ่งเท่าไหร่”
เมื่อสอบถามถึงความคืบหน้าโครงการพาคนกลับบ้าน หรือการดึงกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐให้เข้ามาร่วมมือกับภาครัฐ ต้องแก้ไขกฎหมายอะไรเพิ่มเติมบ้างหรือไม่ พลเอกประวิตร กล่าวว่า ยังไม่ทราบ เพราะกำลังดูว่าคนที่กลับใจมาร่วมมือกับรัฐที่มีประมาณ 2 พันกว่าคนนั้น ต้องมาแยกว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ กลุ่มคนที่มีคดีติดตัวก็ต้องว่าไปตามกระบวนการกฎหมาย แต่จะทำอย่างไรให้ชัดเจน เรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา
ขณะที่การพูดคุยกับกลุ่มมารา ปาตานี องค์กรตัวแทนของผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มที่ร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยนั้น พลเอกประวิตร บอกว่า “ยังไม่มี เดี๋ยวก่อน ขอดูก่อน ไม่ได้มีอุปสรรค หากแต่ยังไม่ได้เวลาที่เหมาะสม ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่นั้นขอดูก่อน”
ต่อมา วันพุธที่ 6 มกราคม พลเอกประวิตร กล่าวถึงการเดินทางเยือนประเทศไทยของเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ซึ่งจะมีการลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยว่า คงไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการแก้ไขปัญหา เพราะตอนนี้ปัญหาต่าง ๆ ลดลงมาก โอไอซีก็เห็น เราไม่ได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนเสียหายต่อประเทศ จึงคิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ พลเอกประยุทธ์ ขณะแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 5 มกราคม 2559 จากเว็บไซต์รัฐบาลไทย