สูตรกระตุ้น ศก. ปี 59 ‘สมคิด’ เน้นแก้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ต้องเพาะปลูกให้หลากหลาย
มองเศรษฐกิจไทย ปี 59 แบงก์ชาติคาดจีดีพีโต 3.5% ‘ดร.สมคิด’ ดันนโยบายกระตุ้นภายในฐานราก เจาะกลุ่มเกษตรกร หลังเจอมรสุมราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เตรียมหารือ ธ.ก.ส.-ธ.ออมสิน ลงพื้นที่ส่งเสริมปลูกพืชอื่นแทนข้าว-ลงทุนท่องเที่ยวชนบท
วันที่ 6 มกราคม 2559 สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดสัมมนาใหญ่ เรื่อง เศรษฐกิจไทย ปี 59 มองไปข้างหน้า โอกาส และความท้าทาย ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม AB โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว โดยมีดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธาน
ดร.สมคิด ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ แนวโน้มเศรษฐกิจ ปี 2559 ใจความตอนหนึ่งว่า ปัญหาหลักของไทยที่น่าห่วง คือ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งผลให้คนในเศรษฐกิจฐานรากลำบาก แม้ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจะทำอะไรหลายอย่าง และจีดีพีเติบโตในอัตราพอสมควร แต่เศรษฐกิจไม่ดี เพราะฐานรากไม่ดี เราต้องยอมรับในประเด็นนี้ ฉะนั้นราคาสินค้าเกษตรจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก
ทั้งนี้ คนในภาคเกษตรมีราว 30 ล้านคน ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน เมื่ออำนาจซื้อทั้งประเทศน้อย การค้าขายก็ฝืดเคือง ข้างบนจะค่อย ๆ ได้รับแรงกระทบ ซึ่งระบบเศรษฐกิจจะเชื่อมโยงกันหมด หากกลุ่มอาชีพเหล่านี้ไม่ได้รับการพัฒนา เศรษฐกิจไทยจะไม่มีทางดีขึ้นได้ ซึ่งยืนยันจะดำเนินนโยบายตามวิธีที่ตั้งไว้
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงวิธีทำให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยยกตัวอย่าง ข้าว ซึ่งปัญหาใหญ่ คือ ข้าวขาว นาปรัง ขาดแหล่งน้ำ ต้นทุนสูง ดังนั้น ทำอย่างไรให้พร้อมใจหรือยินยอมปรับวิธีการเพาะปลูกให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวจำเป็น หากผลิตเฉพาะข้าวอย่างเดียว และรัฐบาลไม่สนับสนุนการประกันราคา เกษตรกรก็จะมีปัญหา
“จะให้วิธีการขับเคลื่อนแนวนอนผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน นอกจากนี้จะร่วมมือกับสหกรณ์ทั่วประเทศ กองทุนหมู่บ้าน สภาเกษตรกรแห่งชาติ ภาคเอกชน ผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ดร.สมคิด กล่าว และว่า วันที่ 8 มกราคม 2559 จะพูดคุยกับ ธ.ก.ส. เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวนาทดลองการปลูกพืชชนิดอื่น แต่เข้าใจว่า ชาวนาที่มีฐานะยากจนไม่กล้าเสี่ยง เพราะพลาดก็ต้องอดตาย ฉะนั้นจำเป็นต้องช่วยกันคิดทำอย่างไรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ให้ได้
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สำหรับภาคเอกชนต้องเข้าไปช่วยแนะนำ ทำแปลงสาธิตให้เห็นเป็นตัวอย่าง ว่าการเพาะปลูกหลายอย่างทำอย่างไร และต้องเพิ่มมูลค่าสินค้าที่มีอยู่ ซึ่งให้โจทย์ดังกล่าวกับธนาคารออมสินแล้ว รวมถึงบางครั้งต้องให้เกษตรกรพูดคุยกับเกษตรกรเอง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของจริง อีกทั้ง สร้างเอสเอ็มอีภาคเกษตร เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในท้องถิ่นมากขึ้น
“สังคมเกษตรกรชนบทจะเติบโตได้ อีกปัจจัยสำคัญ คือ การท่องเที่ยว แต่ปัญหาที่ผ่านมา คือ ขาดการลงทุนระยะยาว โดยขณะนี้ให้สั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมใช้งบประมาณพิเศษลงทุน และต้องติดไฟตามแหล่งท่องเที่ยวตอนกลางคืนด้วย เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวยามค่ำคืน ถ้าเราไม่นิ่ง ไม่รวก ๆ ไม่ใช่ให้คนเข้ามาช้อปปิ้งแล้วจบเท่านั้น”
ดร.สมคิด กล่าวด้วยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยทำนายไว้ว่า ปี 2559 เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.5% ของจีดีพี ซึ่งต้องดูว่าจะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์ทุกเครื่องต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่ ไม่มีไขลาน โดยช่วง 2 ไตรมาสแรก ต้องเร่งการเบิกจ่ายให้เร็วที่สุด เพื่อประคองเศรษฐกิจให้ได้ 9% ของจีดีพี ขึ้นไป อะไรเร่งลงทุนได้ ให้เร่ง สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้เครื่องยนต์ทุกเครื่องวิ่งเต็มที่ เพื่อประโยชน์ที่จะได้รับ
“ถ้าโลกใบนี้เริ่มแผ่ว จะอาศัยแรงภายนอกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหันกลับมามองภายในประเทศ แต่ไม่ใช่การเอาง่ายเข้าว่า อย่างการแจกเงิน เพราะการอัดฉีดเงินเข้าระบบ เมื่อเกิดการบริโภคก็หมด ภาระจะตกอยู่ที่รัฐบาลหน้า ฉะนั้นรัฐบาลนี้ต้องการสร้างโมเมนตัมการเติบโตพอสมควร หากจะอัดฉีดเงินเข้าระบบ ต้องเป็นไปในเชิงพัฒนา สร้างการเติบโตจากภายในขึ้นมา” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่สุด .