คุยกับ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว "เริ่มต้นดึง SMEs เข้าระบบภาษีได้ 10% ก็เก่งแล้ว"
“การพูดถึงเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือบอกว่าถ้าไม่เข้าระบบจะตรวจสอบย้อนหลัง และเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้ นั่นคือสัญญาณเตือนจากรัฐบาลว่าเอสเอ็มอีจะมีชีวิตเหมือนเดิม แล้วทำแบบนี้ต่อไปโดยไม่มองไปข้างหน้า แล้วมองทุกอย่างแบบวันต่อวันไม่ได้อีกแล้ว”
เริ่มต้นเปิดศักราชใหม่ รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 และพระราชกฤษฎีกา(พรฎ.)ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 โดยจะเปิดให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้ในปี พ.ศ. 2558 ไม่เกิน 500 ล้านบาท มาลงทะเบียนเข้าโครงการ พร้อมจดแจ้งการทำบัญชีเดียวกับกรมสรรพากร จะได้รับการยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลังที่เกิดก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2559
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงมาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprise:SMEs) ที่จะมีการบังคับใช้มาตรการให้ใช้บัญชีเล่มเดียวในการดำเนินธุรกิจ พร้อมกับไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังผู้ประกอบการว่า จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านราย แต่มีเพียง 6 แสนกว่ารายที่อยู่ในระบบ ขณะที่ 2 ล้านรายไม่อยู่ในระบบภาษี
ที่ผ่านมามีเสียงจากธุรกิจเอสเอ็มอีว่า ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ หรือรัฐช่วยเหลือในด้านเงินทุนอย่างไม่ทั่วถึง ดังนั้นจึงเป็นนโยบายว่า หากอยากเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็ต้องเข้าไปอยู่ในระบบเสียก่อน มิฉะนั้นก็ไม่สามารถช่วยเรื่องสินเชื่อได้
มาตรการที่รัฐกำลังจะนำมาใช้ หากมองในแง่ดี ดร.เกียรติอนันต์ บอกว่า จะส่งผลดีต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากภาครัฐ หากภาคธุรกิจรายใดที่มองเห็นประโยชน์จากการจะเข้าระบบในครั้งนี้ เข้าก็จะเข้าสู่ระบบด้วยความสมัครใจ เมื่อระบบภาษีดี สุขภาพทางการเงินของเอสเอ็มอีก็จะดีขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งจะทำให้การทำงานของเอสเอ็มอีมีความเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่การทำธุรกิจแบบเช้าเย็นอย่างที่ผ่านมา
"การทำธุรกิจในลักษณะเช้าเย็นนั้น ทำให้ที่ผ่านมาเราไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ เนื่องจากมิติด้านความเป็นมืออาชีพเรามีไม่มากพอ"
ที่สำคัญ นักวิชาการ มธบ. มองว่า การที่ตัวรัฐเอาเงินไปช่วยเหลือในภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ก็คืองบลงทุนระยะยาวของรัฐที่นำมาใช้ลงทุนในธุรกิจ ซึ่งในระยะยาวมาตรการดังกล่าวจะออกดอกออกผล ทำให้เงินภาษีที่เคยหายออกไปจากระบบ เข้ามาอยู่ในระบบ สถานการณ์ด้านการเก็บภาษีของรัฐก็จะดีขึ้น ระบบการทำงานของธุรกิจเอสเอ็มอีก็จะดีขึ้น เพราะที่ผ่านมานอกจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้วภาคธุรกิจนี้ก็ไม่ได้เสียอะไรเลย ฉะนั้นนี่จึงเป็นการดึงเงินเข้าสู่ระบบเพื่อนำมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
“ส่วนแนวทางในการปฏิบัติหรือความคาดหวังว่าจะมีภาคธุรกิจเอสเอ็มอีแสดงตัวหรือไม่กล้าแสดงตัวเข้าระบบเท่าที่ควร คือใน 2 ล้านรายที่ไม่อยู่ในระบบ หากรัฐสามารถดึงเข้ามาอยู่ในระบบได้สัก 10% หรือ 2 แสนราย ก็ถือว่าเก่งแล้ว เพราะนี่คือก้าวแรกของการเริ่มต้น”
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวถึงเรื่องจะมีการตรวจสอบย้อนหลัง สำหรับเอสเอ็มอีที่ไม่เข้าสู่ระบบ และไม่สามารถกู้เงินกับธนาคารได้นั้น ที่ผ่านมาก็มีเสียงบ่นอยู่ตลอดเวลาว่า มาตรการของรัฐในการช่วยเหลือภาคธุรกิจเอสเอ็มอีตก "ไม่ทั่วฟ้า" แต่จะทั่วฟ้าได้อย่างไรถ้าภาคธุรกิจไม่กล้าอยู่กลางฝน ไม่กล้าแสดงตัวเข้าสู่ระบบ ดังนั้นหากใครที่มองเห็นว่า จะได้ประโยชน์จากสิ่งที่รัฐบาลกำลังพยายามทำ เขาก็จะเข้า แต่จะหวังว่าทั้งหมดจะอยู่ในระบบคงไม่ได้
ส่วนสิ่งที่พึงระวังสำหรับมาตรการลดอัตราภาษีนิติบุคคลนั้น ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มธบ. เห็นว่า ตัวกฎหมายยังไม่มีความชัดเจน และในทางปฏิบัติภาครัฐจะต้องสื่อสารกับภาคธุรกิจให้มากว่า หากเขาเข้ามาอยู่ในระบบเสียภาษีแล้วจะดูแลมากน้อยขนาดไหน ต้องสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นให้ได้ว่า อยู่ในระบบแล้วจะได้รับการดูแลอย่างดี ต้องสื่อสารให้เข้าใจว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่ได้รับประโยชน์ทั้งภาครัฐและธุรกิจ
“โดยปกติธุรกิจที่เข้าระบบส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างใหญ่ และมีความพร้อม ซึ่งขณะนี้ในโลกโซเชียลมีเดียก็มีกระแสว่า มาตรการดังกล่าวเหมือนเป็นการไปช่วยคนรวย สิ่งที่รัฐควรต้องทำคือการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกว่า ระดับเล็กๆก็เข้ามาได้ ส่วนการตรวจสอบย้อนหลังแล้วจะส่งผลต่อการกู้เงินกับธนาคารนั้นอาจจะไม่มีผลต่อการบีบให้ภาคธุรกิจเข้ามามากนัก เนื่องจากความจริงธุรกิจที่อยู่ในระบบก็ไม่สามารถทำธุรกรรมในด้านสินเชื่อกับธนาคารได้อยู่แล้ว”
ดร.เกียรติอนันต์ ย้ำด้วยว่า การพูดถึงเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือบอกว่า ถ้าไม่เข้าระบบจะตรวจสอบย้อนหลัง และเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้ นั่นคือสัญญาณเตือนจากรัฐบาลว่า เอสเอ็มอีจะมีชีวิตเหมือนเดิม แล้วทำแบบนี้ต่อไปโดยไม่มองไปข้างหน้า แล้วมองทุกอย่างแบบวันต่อวันไม่ได้อีกแล้ว ควรจะมีการบริหารแบบมืออาชีพและทำทุกอย่างให้ถูกต้องเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นๆได้
“ภาพลักษณ์ของมาตรการลดอัตราภาษีนิติบุคคล หากรัฐทำไม่ได้ก็จะกลายเป็นดาบสองคม ซึ่งช่วงนี้รัฐบาลอธิบายไม่เต็มที่ ทำให้กระแสในโลกโซเชียลเข้าใจประเด็นว่า จะเป็นการช่วยเหลือคนรวย ฉะนั้นต้องรุกสร้างความเข้าใจ สื่อสารให้มากว่าต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กมากกว่ารายใหญ่" นี่คือสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งทำ ดร.เกียรติอนันต์ ฝากทิ้งท้าย....
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์เมเนเจอร์ออนไลน์และเออีซีนิวส์