เตือนไทยจับตาขัดแย้ง"อิหร่าน-ซาอุฯ"
สถานการณ์ร้อนในตะวันออกกลาง สืบเนื่องจากกรณีทางการซาอุดิอาระเบียลงโทษประหารชีวิต "ชีค นิมร์ อัล-นิมร์" นักการศาสนานิกายชีอะห์วัย 56 ปี ซึ่งซาอุดิอาระเบียเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาลของตนเองเมื่อปี 2554 นั้น บานปลายถึงขั้นบุกเผาสถานทูต และตัดสัมพันธ์ทางการทูตกันเลยทีเดียว
ข้อมูลจากนักวิชาการด้านมุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ความขัดแย้งของสองชาติมหาอำนาจตะวันออกกลางเกิดขึ้นมานานแล้ว และส่งผลกระทบถึงประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิหร่านมีมานานพอสมควรนับจากมีการปฏิวัติอิหร่านเมื่อปี ค.ศ.1979 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ปลุกใจมุสลิมชีอะห์หลายประเทศในอ่าวเปอร์เซีย คล้ายกับเป็นการลุกฮือของมุสลิมชีอะห์ที่ถูกปกครองโดยกษัตริย์ที่เป็นมุสลิมสุหนี่
ส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียและอีกหลายประเทศซึ่งปกครองโดยมุสลิมสุหนี่กังวลกับการเคลื่อนไหวของอิหร่านนับแต่นั้นมา เนื่องจากท่าทีของอิหร่านคล้ายต้องการส่งออกแนวคิดปฏิวัติอิสลามของตนไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย จนดูเหมือนเป็นความขัดแย้งระหว่างนิกายของศาสนาอิสลาม
อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศที่หนักข้อจริงๆ เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาล ซัดดัม ฮุสเซน ของอิรักถูกโค่นล้ม และอิรักเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นมุสลิมชีอะห์ จากเดิมที่เป็นสุหนี่ ทำให้ดุลอำนาจในตะวันออกกลางเปลี่ยนไป ประเทศส่วนใหญ่ของโลกอาหรับที่เป็นชีอะห์ก็ล้วนใกล้ชิดกับอิหร่าน และอิหร่านเองก็มีสัมพันธ์แนบแน่นกับซีเรีย ทั้งยังเป็นพันธมิตรกับกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน
“ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้ระบบกษัตริย์ในซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน และประเทศอื่นๆ กลัวว่าอิหร่านจะขยายอิทธิพลในอ่าวเปอร์เซียมากเกินไป โดยเฉพาะในบาห์เรน ซึ่งเป็นมุสลิมชีอะห์ที่ถูกปกครองโดยสุหนี่เหมือนกัน ยิ่งเกิดปรากฏการณ์อาหรับสปริง ความขัดแย้งยิ่งชัดเจน ประเทศที่อยู่ในสภาพรัฐล้มเหลว จะกลายเป็นสมรภูมิต่อสู้กันระหว่างสองมหาอำนาจ คือ ซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน” นักวิชาการด้านมุสลิมศึกษา ระบุ
ดร.ศราวุฒิ อธิบายต่อว่า กระทั่งปี ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554) มีการชุมนุมประท้วงในซาอุดิอาระเบีย และทางการซาอุฯมองว่ามีผู้นำศาสนาชีอะห์อยู่เบื้องหลัง จึงกวาดจับดำเนินคดี และล่าสุดสั่งลงโทษประหารชีวิต ทำให้ความขัดแย้งที่ตึงเครียดมาตลอดอยู่แล้ว ปะทุหนักข้อขึ้นอีกระลอก
“จะเห็นได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ การเสียชีวิตของผู้แสวงบุญที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ซาอุดิอาระเบีย ก็บานปลายกลายเป็นความขัดแย้งของสองประเทศ มีการกล่าวหากันไปมา สะท้อนว่าทุกประเด็นมีความอ่อนไหวทั้งสิ้น”
ดร.ศราวุฒิ กล่าวด้วยว่า ความขัดแย้งครั้งนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยด้วย เนื่องจากในช่วงทศวรรษ 1980 ก็เคยมีการลอบสังหารนักการทูตซาอุฯในหลายประเทศ ทั้งตุรกีและไทย
“ความตึงเครียดในช่วงนั้นมาจากการที่ทางการซาอุฯ สั่งปราบปรามการชุมนุมประท้วงในประเทศของตน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ในจำนวนนั้นมีมุสลิมชีอะห์ชาวอิหร่านอยู่ด้วย จากนั้นจึงเกิดการไล่ล่าสังหารนักการทูตซาอุฯตามมา ความขัดแย้งรอบใหม่นี้จึงเป็นประเด็นที่ไทยต้องจับตาและไม่อาจมองข้ามได้เลย” นักวิชาการจากศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง มองต่างมุมว่า ไทยมีความเสี่ยงน้อยมากจากปัญหาขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน เพราะไทยกับซาอุดิอาระเบียเองมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ไม่ดี และแทบไม่มีผลประโยชน์ของซาอุฯในไทยเลย ตั้งแต่เกิดกรณีโจรกรรมเพชรซาอุฯเมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว ขณะที่กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ และกลุ่มที่ถือพาสปอร์ตอิหร่านที่เคยเข้ามาก่อเหตุในไทย ก็มีเป้าหมายเป็นอิสราเอลกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านดีขึ้น ภัยเรื่องนี้ในไทยจึงลดลงไปด้วย
ส่วนการลอบสังหารนักการทูตซาอุดิอาระเบียหลายศพในไทยนั้น เกิดขึ้นนานมากแล้ว ช่วงปี 2532-2533 และหลังจากเกิดกรณีเพชรซาอุฯ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างซาอุฯกับไทยก็เป็นแค่ระดับอุปทูต กิจกรรมจึงน้อยมาก ส่วนของอิหร่านก็คล้ายคลึงกัน จึงเชื่อว่าความขัดแย้งของสองมหาอำนาจในตะวันออกกลางรอบใหม่นี้ จะไม่กระทบกับไทย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบแสดงแผนที่ประเทศอิหร่านและซาอุดิอาระเบีย จากอินเทอร์เน็ต
ภาพที่ 2 : ดร.ศราวุฒิ อารีย์ (จากแฟ้มภาพอิศรา)