‘นพ.แท้จริง’ หนุนรัฐวางเป้าให้ชัด ลดอุบัติเหตุ- ‘ยึดรถ’ คนเมาขับ ควรทำตลอดปี
‘นพ.แท้จริง’ หนุนรัฐกำหนดเป้าชัดเจน ลดอุบัติเหตุทางถนน ระบุ ‘ยึดรถ’ คนเมาแล้วขับ เดินมาถูกทาง ควรทำตลอดปี ไม่เฉพาะเทศกาล ด้านนักวิชาการ ชี้ยึดถาวรทำได้ เเต่ต้องมีสัดส่วนร้ายเเรงมากพอ
ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ระบุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.2558-4 ม.ค. 2559 มียอดสะสมอุบัติเหตุทางถนน 6 วัน เกิดอุบัติเหตุ 3,092 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 340 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,216 ราย โดยจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ นครราชสีมา 15 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด คือ เชียงใหม่ 125 คน สาเหตุหลัก เมาสุรา ขณะที่มาตรการ ‘ยึดรถ’ ของผู้ขับขี่เมาแล้วขับ สามารถยึดรถได้ 5,785 คัน จาก 76 จังหวัด
นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงมาตรการยึดรถผู้ขับขี่เมาแล้วขับว่า เราเดินมาถูกทางแล้ว แต่อย่าเพิ่งดีใจ หากหยุดดำเนินการ ทุกอย่างก็จะกลับไปเหมือนเดิม ดังนั้น รัฐบาลต้องตั้งเป้าหมาย กำหนดวัตถุประสงค์ ประเมินผล และติดตามผล อย่างชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่เคยมีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
“ทุกครั้งเมื่อถึงเทศกาลปีใหม่ รัฐจะออกมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน โดยตั้งเป้าหมายจะดำเนินการให้ดีที่สุด ซึ่งคำว่า “ดีที่สุด” ไม่ส่งสัญญาณอะไรได้เลย ดังนั้น การตั้งเป้าหมายจึงมีความสำคัญ แต่หากไม่ตั้งเป้าหมาย 7 วัน ก็ควรตั้งเป้าหมายทั้งปี”
เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวต่อว่า ในแต่ละปีไทยมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนเสียชีวิตประมาณ 2.4 หมื่นคน แม้มีการรณรงค์ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ไม่มีผู้เสียชีวิต เชื่อว่าลดจำนวนได้เพียง 1,000 คน ซึ่งที่เหลืออีก 2.3 หมื่นคนยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น ควรใช้มาตรการในปีนี้เป็นจุดเริ่มต้นดำเนินการตลอดปี
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งสัญญาณคร่าว ๆ แล้วว่า มาตรการยึดรถไม่ควรดำเนินการเฉพาะ 7 วัน ช่วงเทศกาลสำคัญเท่านั้น ฉะนั้น ขึ้นอยู่กับหน่วยงานราชการจะนำคำพูดดังกล่าวปฏิบัติหรือไม่ และคงไม่คาดหวังให้แก้ปัญหาได้ 100% ขอเพียง 50% ของจำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละปี เหลือ 1.2 หมื่นคน
“รัฐบาลปัจจุบันควรผลักดันกฎหมายให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพราะขณะนี้ถืออำนาจสูงสุด และเชื่อว่า การบังคับใช้กฎหมายลงโทษที่เด็ดขาด จะไม่มีใครคัดค้าน ขออย่าเพิ่งเลิกมาตรการนี้ แต่ต้องตั้งเป้าหมายชัดเจน จะแก้ปัญหาได้แน่นอน” นพ.แท้จริง กล่าวในที่สุด
ด้านผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ในกรณีที่รัฐบาลมีมาตรการเมาแล้วขับ จับยึดรถนั้น ซึ่งเป็นกฎหมายอาญา จึงไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่การบังคับใช้ จำเป็นต้องเฉลี่ยสัดส่วนของความผิดและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ และปัจจัยอื่น ๆ มาประกอบ เช่น การทำผิดซ้ำซาก
ทั้งนี้ การจะยึดรถของบุคคลใด บุคคลหนึ่งอย่างถาวรสามารถทำได้ เเต่ในกรณีที่ความผิดของคนนั้นก่อขึ้น มีสัดส่วนที่ร้ายแรงมากพอ ซึ่งต้องอาศัยการพิจารณาตามสัดส่วนนั้น ๆ ไป .