กสทช.เผย ธ.ค.คุยหลักเกณฑ์ออกใบอนุญาตวิทยุชุมชน
กก.กสทช.เผยกำลังทำแผนแม่บทจัดสรรคลื่น เลขาฯสหพันธ์ วชช.แนะออกเกณฑ์ชัดเจนแยกคลื่นชุมชน-คลื่นธุรกิจ ประธานสภาวิชาชีพข่าวฯมองวิทยุชุมชนรอดยากถ้าไม่พัฒนาเนื้อหา-รูปแบบ-ผังรายการ ผอ.สถาบันอิศรา ชี้ถ้าไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง วิทยุชุมชนรับใช้ชาวบ้านได้จริง
วันที่ 24 พ.ย.54 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การสร้างเสริมศักยภาพในการสื่อสารของวิทยุชุมชน” เพื่อส่งเสริมศักยภาพวิทยุชุมชนในการคิดประเด็นข่าว และเทคนิคการผลิตข่าวและสารคดีประกอบเสียง รวมทั้งส่งเสริมให้วิทยุชุมชนเป็นพื้นที่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ของชุมชน โดยมีตัวแทนวิทยุชุมชน 22 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วม
ดร.สมเดช รุ่งศรีสวัสดิ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่าวิทยุชุมชนเป็นสื่อที่จะช่วยเหลือชาวบ้านได้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเสริมศักยภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างสรรค์สื่อวิทยุชุมชนให้มีคุณภาพเพื่อชุมชนได้
ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวว่าปัจจุบันแม้เทคโนโลยีการสื่อสารจะก้าวหน้าไปมาก แต่สื่อวิทยุยังคงมีบทบาทสูงในสังคมไทย และที่ผ่านมาวิทยุชุมชนถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะควบคุมสถานีที่เกิดขึ้นมากมายได้อย่างไร แต่ถ้าเอาวิทยุมารับใช้ชุมชนโดยไม่มีเป้าหมายทางการเมือง ก็จะเกิดประโยชน์กับชาวบ้านผู้รับข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้วิทยุชุมชนในยุคปัจจุบันควรมีเทคนิคการนำเสนอที่น่าสนใจด้วย การเรียนรู้เทคนิคและการพัฒนาทักษะจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องมีการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคนทำงานด้านนี้
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าประมาณเดือน ธ.ค.จะมีการเชิญผู้ประกอบการวิทยุชุมชนมาคุยกันในหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตวิทยุชุมชน ซึ่งสังคมต้องช่วยกันจับตามอง
“การจัดสรรคลื่นใหม่ของวิทยุชุมชนต้องรอดูแผนแม่บทที่กำลังทำอยู่ ระหว่างนี้ กสทช.จะเดินสายแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้ประกอบการ ซึ่งในระยะยาวคนที่ทำวิทยุชุมชนจริงๆไม่น่าเป็นห่วงเพราะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนอยู่แล้ว” กก.กสทช.กล่าว
นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่าที่ผ่านมามีวิทยุชุมชนเกิดขึ้นมากมาย หลายคนกังวลเรื่องการได้รับใบอนุญาตที่จะทำให้ประกอบการได้ถูกต้องตามกฏหมายเพื่อความมั่นคงของสถานี แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ละเลยการพัฒนาคุณภาพเนื้อหาและการนำเสนอให้เข้าถึงชาวบ้านผู้ฟังอย่างแท้จริง การวางผังรายการที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งการให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมในรายการ เพื่อให้วิทยุเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง
“วันนี้วิทยุชุมชนเกิดขึ้นจำนวนมาก ถ้าไม่พัฒนาหรือปรับปรุงจะอยู่ยาก ผังรายการต้องสะท้อนความเป็นชุมชน ต้องมีสัดส่วนรายการที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ ตอบสนองชุมชนเป้าหมาย สื่อสารกับชาวบ้านชัดเจน รวมทั้งต้องรับผิดชอบและมีจริยธรรมในการนำเสนอ” ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ กล่าว
ขณะที่นายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่าในภาพรวม 10 ปีที่ผ่านมาของวิทยุชุมชน มีบทเรียนหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่ท้าทายว่าชาวบ้านจะทำสื่อวิทยุชุมชนได้หรือไม่ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าทำได้ และได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น จนทุกวันนี้แม้แต่พระสงฆ์ หน่วยงานราชการ หรือ กอ.รมน.ก็อยากมีวิทยุชุมชนเพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงของตัวเอง แม้แต่นักการเมืองก็หันมาใช้วิทยุชุมชนในการหาเสียงเลือกตั้ง
“เป็นการสะท้อนว่าวิทยุชุมชนมีบทบาทมากขึ้น แต่ก็มีภาพอีกด้านคือการเกิดขึ้นของวิทยุชุมชนมากมายที่ไม่มีการควบคุม มีคนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้ระยะหลังๆความน่าเชื่อถือลดลง ถูกเบียดจากธุรกิจที่มีทุนมากกว่า กสทช.ต้องแยกกลุ่มผู้ประกอบการให้ชัดว่าส่วนไหนทำธุรกิจ ส่วนไหนตั้งขึ้นมาเพื่อบริการสาธารณะไม่แสวงหาผลกำไร ต้องตั้งหลักเกณฑ์ให้ชัดเพื่อที่จะได้ไม่มีการคุกคามซึ่งกันและกัน” เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าว .
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิทยุชุมชนเป็นสื่อที่ใกล้ชิดเข้าถึงชาวบ้านมากที่สุด โดยมีบทบาทอย่างยิ่งในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญของชุมชน โดยรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 40 และปัจจุบันรัฐธรรมปี 2550 มาตร 47กำหนดให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ประชาชน ทั้งนี้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.(ก่อนที่จะมี กสทช.) ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่จัดระเบียบวิทยุชุมชนให้นิยามว่า “วิทยุกระจายเสียงชุมชน ต้องเป็นของชุมชน ดำเนินการโดยชุมชน เพื่อประโยชน์ของชุมชน โดยไม่แสวงหารายได้จากการโฆษณา”.