12 ปีไฟใต้...อย่ามุ่งเอาชนะแค่สงครามตัวเลข
วันที่ 4 ม.ค.2559 เป็นวันครบรอบ 12 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่จากค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส อันถือเป็นวัน “เสียงปืนแตก” หรือเป็นปฐมบทของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบใหม่
เพราะนับจากวันนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ในลักษณะของการก่อการร้าย ทั้งยิง ฆ่า ลอบวางระเบิด วางเพลิงเผา แทบจะรายวัน จนถึงวันนี้นับรวมได้ 17,808 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 3,949 คน บาดเจ็บ 9,625 คน ทั้งประชาชนผู้บริสุทธิ์ ผู้หญิง เด็ก นักเรียน นักศึกษา ผู้นำศาสนาทุกศาสนา ไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างครู ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมทั้งพนักงานส่วนท้องถิ่น
ไฟใต้ที่ลุกโชนรอบนี้ ก่อความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน รวมทั้งโอกาสของการพัฒนาอย่างประเมินค่ามิได้
ก่อนสิ้นปี 2558 มีสุ้มเสียงจากผู้รับผิดชอบในภาครัฐ ทั้งรัฐบาล ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานด้านการพัฒนาว่า ชายแดนใต้ดีขึ้นแล้ว และปี 2559 จะเป็นปีที่ความรุนแรงยุติ
คนที่พูดแนวๆ นี้มีทั้ง ท่านภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่จัดกิจกรรม “ชายแดนใต้บ้านเรา วันนี้ดีขึ้นแล้ว” มาตั้งแต่ต้นปี 2558
ตามด้วย ท่านประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ที่กล่าวในงานแถลงผลงานของรัฐบาลเมื่อ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า “เราสามารถทำให้ปี 59 อาจยุติในเรื่องของการสู้รบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”
ขณะที่ พล.ท.เรืองศักดิ์ สุวรรณนาคะ แม่ทัพน้อยที่ 4 บอกว่า ปีหน้าภาคใต้จะสงบแล้ว อยากให้สื่อช่วยๆ กัน
ความมั่นใจของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง เท่าที่ถอดรหัสจากคำสัมภาษณ์ พบว่ามาจากตัวเลขสถิติความรุนแรงที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และตัวเลข “คนกลับบ้าน” ซึ่งหมายถึงผู้เห็นต่างจากรัฐทั้งที่มีหมายจับและไม่มีหมายจับ จากที่เคยหลบหนี ก็ทยอยออกมาแสดงตัวเข้าร่วมโครงการ “พาคนกลับบ้าน” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวเลขสถิติเหตุรุนแรงที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ณ วันที่ 3 ม.ค. 2559 พบว่าเหตุรุนแรงรวมทุกประเภทตลอดปี 2558 เกิดขึ้นทั้งสิ้น 701 เหตุการณ์ เฉลี่ย 1.09 เหตุการณ์ต่อวัน ลดลงจากปี 2557 ที่มีเหตุรุนแรงรวม 1,210 เหตุการณ์ คิดเป็นลดลงร้อยละ 42.1
ส่วนยอดการสูญเสียทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงตลอดปี 2558 นับเฉพาะเหตุความมั่นคง ก็ลดลงจากปีก่อนหน้า โดยปี 2558 มีผู้เสียชีวิตรวม 113 ราย บาดเจ็บ 354 ราย ลดลงจากปี 2557 ที่มีผู้เสียชีวิต 232 ราย และบาดเจ็บ 525 ราย
ขณะที่ตัวเลข "คนกลับบ้าน" ล่าสุดที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รายงานไปยัง พล.อ.ประวิตร คือ 3 พันกว่าคน
พิจารณาจากตัวเลขสถิติความรุนแรง ถูกตั้งคำถามเรื่องระเบียบวิธีทางสถิติและเกณฑ์การนับจำนวนครั้งของเหตุการณ์มากพอสมควร เพราะบางกรณีเกิดเหตุระเบิดหลายสิบจุดพร้อมๆ กัน แต่เจ้าหน้าที่นับเป็น 1 เหตุการณ์
ขณะที่บางเหตุการณ์ไม่ใช่เหตุรุนแรง แต่ส่งผลทางจิตวิทยาสูงมาก เช่น เหตุแขวนป้ายโจมตีเจ้าหน้าที่ 300 กว่าจุด นับจำนวนกว่า 1 พันผืนในคืนเดียว (เมื่อ 31 ส.ค.2555) เจ้าหน้าที่นับเป็นเหตุการณ์ก่อกวน 1 เหตุการณ์
ส่วนตัวเลข “คนกลับบ้าน” จำนวน 3 พันกว่าคนนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวในกิจกรรมพบปะ “คนกลับบ้าน” ระหว่างลงพื้นที่ภาคใต้ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อ 21 ธ.ค.2558 ปรากฏว่าวันนั้นมีการเกณฑ์คนไปร่วมกิจกรรม มีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงหัวละ 200 บาท ทั้งๆ ที่หลายคนเป็นอดีตผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน
ที่สำคัญตัวเลข “คนกลับบ้าน” ยังสับสน เพราะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพิ่งเปิดเผยตัวเลขก่อนหน้านี้ไม่นานว่ามีจำนวนประมาณ 2 พันคนเท่านั้น ต่างกับตัวเลขที่อยู่ในมือ พล.อ.ประวิตร นับพันคน
น่าสนใจว่ารัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงกำลังพยายามเอาชนะใน “สงครามตัวเลข” มากเกินไปหรือไม่ เพราะหากไปสอบถามชาวบ้านจริงๆ ในพื้นที่ ส่วนมากบอกว่าพวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าสถานการณ์ดีขึ้นจริง และไม่ได้มีความรู้สึกในทางบวกมากนักต่อเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง
ขณะที่งบประมาณที่ทุ่มลงไปแก้ไขปัญหานับถึงปีงบประมาณ 2559 มากถึง 264,953 ล้านบาทแล้ว โดยงบปี 59 อยู่ที่ 30,866 ล้านบาทเศษ สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยมีอัตรากำลังพลในกรอบ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า 6-8 หมื่นนาย เฉพาะทหารพรานมีกำลังถึง 12 กรม 172 กองร้อย กับอีก 9 หมวดทหารพรานหญิง
สรุปว่าเราเอาชนะสงครามจริงที่ชายแดนใต้ และเอาชนะใจผู้คนที่นั่นได้แล้วแน่หรือ?
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "แกะรอย" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปกโฟกัส ฉบับวันที่ 4 มกราคม 2559 ด้วย