คนชายแดนใต้เห็นต่าง จนท.รัฐ เชื่อปี59 ยังห่างไกลสันติสุข
ปี 2559 เป็นปีที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงพูดตรงกันว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดีขึ้นจนอาจถึงขั้นยุติความรุนแรงได้สำเร็จ กลายเป็นพื้นที่สงบ สันติสุขกันเลยทีเดียว (อ่าน ปีหน้าสามจังหวัดใต้จะสงบแล้ว...)
ปัจจัยสนับสนุนที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงนำมาเป็นเหตุผลว่าชายแดนใต้จะสงบในปี 2559 นอกจากโครงการพาคนกลับบ้านที่ภาครัฐเชื่อว่าประสบความสำเร็จอย่างงามแล้ว ยังมีเรื่องของเหตุรุนแรงรายวันที่ลดต่ำลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า ตามสถิติที่เก็บรวบรวมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) รายงาน ณ วันที่ 3 มกราคม 2559 ในวาระครบ 12 ปีไฟใต้ (นับตั้งแต่เหตุปล้นปืนครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547) เหตุรุนแรงรวมทุกประเภทตลอดปี 2558 เกิดขึ้นทั้งสิ้น 701 เหตุการณ์ เฉลี่ย 1.09 เหตุการณ์ต่อวัน ลดลงจากปี 2557 ที่มีเหตุรุนแรงรวม 1,210 เหตุการณ์ คิดเป็นลดลงร้อยละ 42.1
หากนับเฉพาะเหตุความมั่นคง ซึ่งแยกแยะออกมาแล้วว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ พบว่าปี 2558 มีเหตุความมั่นคงเกิดขึ้น 367 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 52 ของเหตุรุนแรงรวมที่เกิดขึ้น ขณะที่ปี 2557 มีเหตุความมั่นคง 501 เหตุการณ์ เท่ากับว่าปี 2558 มีเหตุความมั่นคงลดลงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับปี 2557
ส่วนยอดการสูญเสียทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงตลอดปี 2558 ก็ลดลงจากปีก่อนหน้า โดยปี 2558 มีผู้เสียชีวิตรวม 113 ราย บาดเจ็บ 354 ราย ลดลงจากปี 2557 ที่มีผู้เสียชีวิต 232 ราย และบาดเจ็บ 525 ราย
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นท่าทีและข้อมูลของฝ่ายรัฐเท่านั้น เพราะเมื่อไปพูดคุยสอบถามความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ซึ่งต้องเผชิญกับสถานการณ์จริงทุกวัน พบว่ายังคงรู้สึกสวนทางกับภาครัฐ
นายอิสมะแอ อาแวโล๊ะ ชาวบ้านจากจังหวัดยะลา ย้อนถามว่า จะเอาสงบแบบไหน ถ้าแบบทหารก็อาจจะใช่ เพราะช่วงหลังๆ นี้ก็รู้สึกว่าเหตุการณ์ที่เกิดจากการสร้างสถานการณ์มีน้อยลง ส่วนใหญ่ที่ยังเกิดจะเห็นได้ชัดว่ามาจาก 2 ส่วน คือ 1.เรื่องส่วนตัว ยาเสพติด ชู้สาว และหนี้สิน กับ 2.เป็นเหตุการณ์ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
“ผมคิดว่าระยะหลังเหตุรุนแรงที่เกิดจากฝั่งขบวนการมีน้อยลง และเกิดยาก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่อยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ก็สามารถกดสถานการณ์เอาไว้ได้ แต่อย่าเผลอ เพราะถ้าเผลอเขาอาจทำหนักๆ แน่ เหมือนไฟที่รอปะทุ อย่างนี้น่ากลัว”
นายอิสมะแอ ยังบอกว่า ถ้าถามใจชาวบ้าน สถานการณ์แบบนี้ถือว่ายังไม่สงบ
“ตอนนี้ชาวบ้านรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่พูดอะไรสวนทางกับสิ่งที่ตนเองทำ เช่น บอกว่าไฟใต้จะสงบแล้ว แต่กลับทุ่มงบประมาณและกำลังพลลงมามากขึ้น โดยที่ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ ส่วนโครงการพัฒนาที่ลงมา มีหลายโครงการที่ไม่เหมาะสม อย่างโครงการสานสัมพันธ์ตาดีกา ก็มีแค่เอาขนมไปแจกเด็กๆ ในโรงเรียนตาดีกา แล้วก็เต้น ร้องเพลงกัน ซึ่งมันไม่เหมาะ เจ้าหน้าที่ที่ตั้งด่านจำนวนไม่น้อยก็ยังหน้าบึ้งใส่ประชาชน บางคนนึกอยากใช้รถจักรยานยนต์ของชาวบ้านก็เอาไปใช้ คิดจะเอาผลไม้ไปกิน ก็เอาไป โดยเจ้าของไม่ได้เต็มใจ อยากให้รัฐบาลแก้ไขตรงจุดนี้ด้วย” ชาวบ้านจากจังหวัดยะลา ระบุ
ด้านตัวแทนชาวบ้านไทยพุทธในพื้นที่ ซึ่งขอสงวนนาม ตั้งคำถามทำนองเดียวกันว่า เหตุการณ์จะสงบแล้วหรือ คิดง่ายเกินไปหรือเปล่า ถ้าเหตุการณ์จะสงบจริง ก็ไม่ต้องทุ่มงบประมาณลงมา แม้จะอ้างว่าเป็นโครงการพัฒนา แต่หากจะพัฒนาพื้นที่จริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาลอย่างที่ทำอยู่
“ตอนนี้ประชาชนบ่นว่าเดือดร้อน แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าทุกคนมีความสุขดี เรียกไปอบรม แทนที่จะฟังชาวบ้าน กลับให้ชาวบ้านมาฟังเจ้าหน้าที่ ประชุมวันก่อนที่หน่วยงานรัฐจัด มีคนถามว่าตอนนี้บ้านเราสงบแล้วจริงหรือ เจ้าหน้าที่ตอบว่าสงบอะไรล่ะ จะเอาสงบแบบไหน แล้วจะให้เราคิดอย่างไร” ชาวบ้านไทยพุทธ กล่าว
ขณะที่ นางคอรีเยาะ หะหลี ครอบครัวเหยื่อที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เมื่อปี 2547 กล่าวในทางตรงกันข้ามว่า สถานการณ์น่าจะใกล้สงบจริง เพราะปัจจุบันเริ่มมีคดีส่วนตัวเยอะขึ้น คดีความมั่นคงลดลง อาจจะมีการทิ้งช่วงของเหตุการณ์ด้วย แต่จะสงบเต็มร้อยได้หรือไม่ ยังไม่กล้าฟันธง แต่คิดว่าน่าจะดีขึ้นเป็นระยะ
ปัญหาใหญ่ในความเห็นของคอรีเยาะ คือ กลุ่มองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งมีหลายองค์กร นับๆ แล้วอาจเป็นร้อย องค์กรเหล่านี้ตั้งขึ้นมาเพื่อหางบประมาณสนับสนุน และถูกชาวบ้านตั้งข้อสงสัย หลายเรื่องที่ออกมาแสดงท่าทีก็สวนทางกับความคิดเห็นของประชาชน
ถือเป็นเสียงจริงจากประชาชนชายแดนใต้ที่ภาครัฐสมควรรับฟัง!