คำถามถึงสื่อไทย? ผ่านหนัง‘Spotlight’ กับการทำข่าวเชิงสืบสวน
“…ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ ‘สื่อไทย’ จะต้องมีกองบรรณาธิการฝ่ายสืบสวนสอบสวน เพื่อรับหน้าที่หลักคอยตรวจสอบความไม่โปร่งใส ป้องกันผลประโยชน์ชาติ-ประชาชนเสียหาย รวมถึงเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของสังคม แก้ไขให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เฉกเช่นเดียวกันทีมข่าว ‘Spotlight’…”
“การหยุดยั้งคอร์รัปชั่นที่ชะงัดที่สุด คือการทำหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative Journalism) คอร์รัปชั่นไม่กลัวความเห็น แต่กลัวความรู้ ความจริงทำให้นักคอร์รัปชั่นจนมุมกลางกระดานได้”
คำพูดของ ‘นพ.ประเวศ วะสี’ ราษฎรอาวุโส ที่เคยกล่าวไว้เมื่อหลายปีก่อน ยังคงใช้ได้จริงเสมอในสังคมยุคปัจจุบัน
เพราะข้อเท็จจริงคือไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย ผ่านรัฐบาลมากี่ชุด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง รัฐบาลในค่ายทหาร หรือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็ตาม ล้วนถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการบริหารงานเสมอมา
คำถามคือใครจะเป็นผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลเหล่านั้น ?
ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำตอบแรกหนีไม่พ้น ‘สื่อมวลชน’ ที่ต้องเป็นผู้สืบค้นข้อมูล นำมาข้อเท็จจริงมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้ได้รับทราบ นอกเหนือไปจากองค์กรอิสระปราบปรามคอร์รัปชั่นที่ในประเทศไทยมีกันเกลื่อนเหมือนดอกเห็ด
คำถามสำคัญต่อไปคือ เราจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น หรือการกระทำที่สร้างความเสียหายร้ายแรงกับสังคมได้อย่างไร ?
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ ‘Spotlight’ ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับนักข่าวประเภททำ ‘ข่าวเจาะ-ข่าวสืบสวนสอบสวน’ ที่ค่ายสหมงคลฟิล์มซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาฉายในบ้านเรา กำกับโดย โทมัส แม็คคาร์ธี นักเขียนบทการันตีรางวัลออสการ์จากแอนิเมชั่นเรื่อง ‘Up’ เมื่อปี 2009
ภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าด้วย ทีมข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Boston Globe เมื่อปี 2001 (ขณะนั้นถูก Time สื่อยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาซื้อกิจการ) สืบสวนสอบสวนเปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก (ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาย) จากบรรดา ‘บาทหลวง’ ประจำโบสถ์ท้องถิ่นในเมืองบอสตันในช่วงยุค 1970 ที่เคยขึ้นเป็นข่าวกรอบเล็ก ๆ ทางหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น แล้วเรื่องก็เงียบหายไปนานถึง 30 ปี
กระทั่งทีมข่าว ‘Spotlight’ ซึ่งเป็นทีมข่าวเล็ก ๆ ประกอบด้วยนักข่าว 4 คน หัวหน้าข่าว 1 คน ของหนังสือพิมพ์ The Boston Globe พบหลักฐานใหม่ที่อาจเชื่อมโยงได้ว่า ‘บาทหลวง’ ที่ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ไม่ได้มีแค่คนเดียว แต่อาจมีถึงหลายร้อยราย พร้อมกับเชื่อได้ว่า ‘นักบวชระดับสูง’ ของคริสตจักรคาทอลิคประจำเมืองมีส่วนรู้เห็นในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 1970 ด้วย
ผู้เขียนจะไม่แตะเนื้อหาส่วนใหญ่ในภาพยนตร์ แต่ที่อยากจะนำเสนอคือกระบวนการทำข่าวของทีมข่าว ‘Spotlight’ ที่ใช้รูปแบบการทำงานเชิงสืบสวนสอบสวน แบ่งหน้าที่กันอย่างลงตัว และทุกคนในทีมต่างรู้หน้าที่ของตัวเอง และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการฟ้องศาลเพื่อขอให้เปิดเผยข้อมูล คล้ายคลึงกับบ้านเราที่ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2540 (แต่ในไทยมักไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าไหร่ โดยหน่วยงานรัฐมักอ้างว่า เป็นข้อมูลภายใน กระทบความมั่นคง เช่น กรณีการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์)
การลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์แหล่งข่าวทั้งเหยื่อ รวมถึงตัวบาทหลวงที่เกี่ยวพันกับกรณีฉาว การติดต่อขอสัมภาษณ์นักวิชาการที่เก็บข้อมูลสถิติในเรื่องดังกล่าว รวมถึงการพูดคุยขอข้อมูลกับทนายที่รับเรื่องทำคดีระหว่างเหยื่อและบาทหลวงด้วย และที่สำคัญคือการติดต่อไปยังคริสตจักรคาทอลิคประจำเมืองเพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริง
ที่น่าสนใจสำหรับกระบวนการทำข่าวนี้คือ ทีมข่าว ‘Spotlight’ ใช้เวลาเก็บข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมดเป็นระยะเวลาปีเศษ (เริ่มทยอยเล่นข่าวในปี 2002) เพื่อให้ข้อมูล ‘แน่นปึ้ก’ มีข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ป้องกันความผิดพลาดต่าง ๆ ที่อาจจะตามมา
ซึ่งตรงนี้อาจไม่ค่อยเห็นนักในสื่อไทยปัจจุบัน เพราะมักติดรูปแบบการรายงานข่าวแบบรายวัน เน้นการทำงานแบบ ‘Routine’ หรือหมายต่าง ๆ ตามที่ได้รับผิดชอบจากหัวหน้าข่าว โดยละเลยประเด็นการตรวจสอบสาธารณะ
นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่สื่อหลายแขนง (หนังสือพิมพ์-วิทยุ-โทรทัศน์-ออนไลน์) หลายสำนักกระแสหลัก เท่าที่เห็นแทบไม่มีการตั้งทีม ‘เฉพาะกิจ’ เพื่อทำข่าวเจาะ-สืบสวนสอบสวนโดยเฉพาะแม้แต่น้อย
ทั้งที่มีกำลังคน-กำลังเงินในการทำงานได้ดีกว่าสื่อที่เน้นทำข่าวเจาะ-สืบสวนสอบสวน (ซึ่งมีแค่ 2-3 แห่ง และแต่ละที่คนก็น้อยมากด้วย) ในปัจจุบัน
แม้จะเข้าใจได้ว่าเรื่องดังกล่าวคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากด้วยข้อจำกัดด้าน ‘ทุน’ ที่หนุนหลังแต่ละสื่อ ทำให้กระบวนการทำงานต้องมีความ ‘เกรงอกเกรงใจ’ กันไม่มากก็น้อยระหว่างกองบรรณาธิการกับฝ่ายบริหาร ซึ่งตรงนี้เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ ‘สื่อไทย’ จะต้องมีกองบรรณาธิการฝ่ายสืบสวนสอบสวน เพื่อรับหน้าที่หลักคอยตรวจสอบความไม่โปร่งใส ป้องกันผลประโยชน์ชาติ-ประชาชนเสียหาย รวมถึงเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของสังคม แก้ไขให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เฉกเช่นเดียวกันทีมข่าว ‘Spotlight’
แต่ไม่ว่าอย่างไรขอแค่สื่อทำหน้าที่ตามจรรยาบรรณ-อุดมการณ์วิชาชีพ ยืนยันในหลักสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ไม่จำเป็นต้องเน้นที่ข่าวทุจริตอย่างเดียว ขอแค่เป็นข่าวที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมในทางที่ดีขึ้นได้
เท่านี้ก็สามารถยืนหยัดอยู่ในแวดวงวิชาชีพได้อย่างภาคภูมิแล้ว !
ยั่วน้ำลายกันมามาก ก็อย่าลืม ‘Spotlight’ ภาพยนตร์แนวข่าวเจาะ ที่มีความสนุกและระทึกไม่แพ้กับภาพยนตร์แนวนี้ที่เคยออกมาก่อนหน้าอย่าง ‘The Insider’ หรือ ‘Kill the messenger’ แม้แต่น้อย
ฉายจริง วันที่ 14 ม.ค. 2559 ทุกโรงภาพยนตร์ใกล้บ้าน โดยเฉพาะคนข่าวพลาดไม่ได้เด็ดขาด !
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก poynter.org