14 กรณีเงื่อนงำใน ธพว.‘ปล่อยกู้-ขายลูกหนี้ NPL’ ซุกใต้พรม รอสะสาง?
รวบรวม 14 กรณีเงื่อนงำใน ธพว. ปล่อยกู้ บ.ไรซิงฯ ร้านอาหารลูกชาย ‘สาลินี’ หัวหิน โรงสีข้าวศรีสะเกษ ชัยนาท อุดรดิตถ์ รร.แม่ฮ่องสอน เกาะพะงัน ภูเก็ต มุกดาหาร ซื้อที่ดินเปล่าแก่งกระจาน โรงพิมพ์ประสานมิตร ยันประมูลขายลูกหนี้ NPL กลุ่มภาคตะวันออก ยอด 694 ล้าน ซุกใต้พรม วัดน้ำยารัฐบาลสะสาง?
ในรอบปี 2558 กรณีการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นประเด็นหนึ่งที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่ายังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนจากผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับทั้งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แม้กระทั่งฝ่ายกำกับตรวจสอบอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องรอดูในปี 2559 จะมีความชัดเจนหรือไม่
สำนักข่าวอิศรารวบรวมแต่ละกรณีมาเสนอดังนี้
1.กรณี ปล่อยกู้รีไฟแนนซ์ให้แก่ บริษัท ไรซิง (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ นักธุรกิจชาวจีนถือหุ้นใหญ่ รวม 195 ล้านบาท ทำให้ ธพว.ได้รับความเสียหายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ประมาณ 300 ล้านบาท เมื่อลูกหนี้รายนี้มีสินเชื่ออยู่กับธนาคารกสิกรไทยมีปัญหานำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และไม่ได้ชำระหนี้มาเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ต่อมาปี 2552 เมื่อมาขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์กับ ธพว.ได้ 7 เดือนก็มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อีกครั้ง ทว่าปี 2553 ธพว.กลับอนุมัติสินเชื่อครั้งที่สองอีก 35 ล้านบาท มีความผิดปกติ 2 ประการ
1.เพิ่มหลักประกันเป็นที่ดินไร่อ้อยจำนวน 200 ไร่ มีบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาได้โอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของหุ้นส่วนคนหนึ่งก่อนจดจำนองกับธนาคาร
2.มีการถอดที่ดินบางแปลงที่อยู่ติดกับทางสาธารณะออกไป ทำให้ที่ดินหลักประกันที่เหลือเป็นที่ดินไม่ทางออก(ที่ดินตาบอด) ทำให้หลักประกันมีราคาถูก ไม่สมเหตุสมผล
26 มี.ค.58 คณะกรรมการ ธพว. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีความเห็นว่ามีผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้บริหารและเจ้าหน้าที่อยู่ในข่ายแจ้งข้อกล่าวหา 21 คน ทว่าบอร์ด ธพว.ได้เปลี่ยนกรรมการสอบสวนอีก 2 ครั้ง จนนำไปสู่การร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้แต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
2.กรณี อนุมัติสินเชื่อรีไฟแนนซ์ให้แก่ หจก.โรงสีข้าวจงเจริญ จ.ศรีสะเกษ เมื่อ 20 ส.ค.57 จำนวน 94 ล้านบาท และให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเป็นทุน หมุนเวียนแก่ลูกหนี้อีก 31 ล้านบาท รวม 125 ล้านบาท ทั้งที่ลูกหนี้รายนี้ได้หยุดดำเนินกิจการสีข้าวแล้ว ตั้งแต่เดือน ก.ย.56 ลูกหนี้ชำระหนี้เพียงงวดเดียว 1.4 ล้านบาทก็หยุดชำระหนี้ และกลายเป็นเอ็นพีแอล และ ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.)สั่งให้ ธพว.สอบสวนข้อเท็จจริง และเป็น 1 ใน 4 ประเด็นที่ถูกร้องเรียนต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ตรวจสอบการบริหารงานของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารฯ
3.กรณีอนุมัติสินเชื่อให้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพราะจริง ซึ่งมีลูกชาย นางสาลินี วังตาล ประธานบอร์ด ธพว.เป็นเจ้าของ ทำธุรกิจร้านอาหารใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 1 ล้านบาทเมื่อต้นเดือน ธันวาคม 2557 ผู้ขอสินเชื่ออ้างวัตถุประสงค์ เพื่อนำเงินไปปรับปรุงกิจการ โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมค้ำประกัน ภายใต้เงื่อนไขจะต้องนำหลักฐานใบเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงกิจการมาเป็นหลักฐานการเบิกจ่ายสินเชื่อ และลูกหนี้นำเอกสารผู้รับจ้าง 3 รายมาแสดงต่อ ธพว. แต่ ธนาคารฯได้ตรวจสอบพบว่าเอกสารไม่ถูกต้อง ต่อมาลูกหนี้ได้ชำระและปิดบัญชีสินเชื่อทันที
4.กรณีลดหนี้เงินต้นให้แก่โรงแรมแม่ฮ่องสอน เมาท์ เท่น อินน์ แอนดิ์ รีสอร์ท จำกัด กิจการโรงแรมที่ จ.แม่ฮ่องสอน กรณีนี้ลูกหนี้ภาระหนี้เงินต้น 50.26 ล้านบาท ดอกเบี้ยรับรู้รายได้ 4.51 ล้านบาท ดอกเบี้ยไม่รับรู้รายได้ 52.93 ล้านบาท รวม มีภาระหนี้ทั้งสิ้น 108.5 ล้านบาท ผู้บริหารฝ่ายบริหารหนี้ พยายามเจรจาให้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยรับรู้รายได้เป็นเงินประมาณ 55 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดเงินที่ต่ำกว่าภาระหนี้ทั้งหมดมาก และต่ำกว่ามูลค่าหลักประกัน อีกทั้งผู้จะขอซื้อกิจการมีฐานะทางการเงินดีมาก แต่ผู้บริหารระดับสูงได้สั่งให้ลดหนี้เพียง 45 ล้านบาท
5.กรณีลูกค้าของธนาคารฯรายหนึ่ง ประกอบธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ เกิดความขัดแย้งส่วนตัวใน กับผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร อันเนื่องมาจากการจัดตั้ง“คริสจักร”ที่ใช้พื้นที่บ้านเป็นที่ตั้ง ต่อมาผู้บริหารธนาคารได้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนกรรมการตัวแทนของ ธพว.ที่เข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทของลูกค้า (ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง ธพว.กับลูกค้าธนาคารฯ) และยื่นฟ้องลูกค้าว่ากระทำผิดสัญญาร่วมทุน ทั้งที่ลูกค้าอยู่ระหว่างทยอยคืนเงินร่วมทุนของ ธพว.พร้อมดอกเบี้ยตามข้อตกลง เหลือเพียง 2 งวดสุดท้าย แต่กลับมีการสั่งห้ามธนาคารรับชำระสินเชื่อ เพื่อเป็นเหตุุให้ฟ้องร้องลูกค้า ทำให้ลูกค้าต้องนำเงิน 2 งวดสุดท้ายไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์ และยื่นฟ้อง ธพว.ให้โอนหุ้นคืน ต่อมาผู้บริหารธนาคารที่เข้าไปเกี่ยวข้องก็ถูกย้ายพ้นหน้าที่
6.กรณีปล่อยกู้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ดรอปอินน์ (เจ้าของ โรงแรมเกาะพะงัน) ลูกหนี้ NPL อันดับ 4 วงเงิน 199 ล้านบาท เดิมลูกหนี้เป็นหนี้ที่มีปัญหากับสถาบันการเงินเดิม เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอชำระนี้ได้ตามเงื่อนไข ต้องขอผ่อนผันโดยปลอดชำระเงินต้นไปจนถึงสิ้นปี 2552 ธนาคารให้วงเงินเพื่อปรับปรุงโรงแรมเพิ่มอีก โดยคาดว่าลูกหนี้จะมีรายได้เพิ่มหลังจากปรับปรุงโรงแรมดังกล่าว โดยมีอสังหาริมทรัพย์ราคาประเมิน 202.6 ล้านบาท จำนองเป็นประกันวงเงินรวม 200 ล้านบาท และกำหนดเงื่อนไขให้ลูกหนี้ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนและชำระเต็มมูลค่าอีกจำนวน 50 ล้านบาท เป็นทุนทั้งสิ้น 100 ล้านบาท
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งข้อสังเกต 2 ประการ
ประการแรก เป็นการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่มีปัญหาจากสถาบันการเงินเดิม ภายหลังเบิกเงินกู้ ลูกหนี้ชำระเพียง 3 งวด ก็กลายเป็นหนี้มีปัญหาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553 ธพว.อนุมัติปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อเดือน ก.ค.53 และเดือน ธ.ค.53 เพื่อป้องกันการตกชั้นเป็น NPL
ประการที่สอง การตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเพิ่มทุน ธพว.ตรวจสอบเพียงเอกสารการจดทะเบียนเพิ่มทุน ไม่มีการตรวจสอบว่ามีการชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนจริง หากไม่รวมการเพิ่มทุนดังกล่าวประมาณการ D/E Ratio (อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น) ปี 2553 จะเท่ากับ 5.66 เท่า สูงกว่าแนวทางการบริหารความเสี่ยงเครดิตสำหรับกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2.5 เท่า
7.กรณี ธพว.อนุมัติสินเชื่อให้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) โรงสี ป.น่ำเฮง (โรงสีข้าว จ.ชัยนาท) รวม 173 ล้านบาทเมื่อเดือน ส.ค.53 เป็นเงินกู้เพื่อชำระหนี้และไถ่ถอนหลักประกันจากสถาบันการเงินอื่น 160 ล้านบาท และให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน 11.5 ล้านบาท หนังสือค้ำประกัน 1.5 ล้านบาท โดยมีอสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรราคาประเมิน 133.4 ล้านบาท จำนองเป็นประกันวงเงินรวม 173 ล้านบาท และ บยส. ค้ำประกัน 40 ล้านบาท ในการเบิกเงินกู้กำหนดเงื่อนไขลูกหนี้ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนและชำระเต็มมูลค่าอีกจำนวน 30 ล้านบาท เป็นเงินทุนทั้งสิ้น 50 ล้านบาท ต่อมาลูกหนี้รายนี้เป็น NPL เมื่อ ก.ย.55
ธปท.ได้ตั้งข้อสังเกตการว่า ในการตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเพิ่มทุน ธพว.ตรวจสอบเพียงเอกสารการจดทะเบียนเพิ่มทุน ไม่มีการตรวจสอบว่ามีการชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนจริง โดยหากไม่รวมการเพิ่มทุนดังกล่าว ประมาณการ D/E Ratio ( อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น) ณ สิ้นปี 2553 จะเท่ากับ 3.44 เท่า สูงกว่าแนวทางการบริหารความเสี่ยงเครดิตสำหรับกลุ่มธุรกิจโรงสีที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3 เท่า
8.กรณีการปล่อยกู้ บริษัท เอสคอม พลัส (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโครงการแก่งกระจานคันทรีคลับ แอนด์ รีสอร์ท ซึ่งเป็นโครงการที่มีปัญหาหยุดดำเนินการจากบริษัท เพชรไทยพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ รวมยอดหนี้ 347.5 ล้านบาท เป็นการให้สินเชื่อเพื่อซื้อโครงการที่มีปัญหาหยุดดำเนินการจากบริษัทแม่เพื่อมาดำเนินการต่อ มีความเป็นไปได้ยากที่โครงการจะประสบผลสำเร็จ จัดอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยง
9.กรณีการอนุมัติสินเชื่อ ให้แก่ บริษัท โฟลว์ ริเวอร์ โฮมเทล จำกัด ผู้ประกอบการโรงแรมใน จ.มุกดาหาร ลูกหนี้รายนี้มียอดหนี้ 102 ล้านบาท ธนาคารอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพื่อชำระหนี้และไถ่ถอนหลักประกันจากสถาบันการเงินอื่น 47 ล้านบาท และให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเป็นค่าก่อสร้างโรงแรมใหม่ 65 ล้านบาท หนังสือค้ำประกัน 0.5 ล้านบาท โดยมีอสังหาริมทรัพย์ราคาประเมิน 158.6 ล้านบาท จำนองเป็นประกันวงเงินรวม 112.5 ล้านบาท ก่อนการเบิกเงินกู้กำหนดเงื่อนไขให้ลูกหนี้ต้องเพิ่มทุจดทะเบียนและชำระเต็มมูลค่าอีกจำนวน 50 ล้านบาท เป็นเงินทุนทั้งสิ้น 100 ล้านบาท
ธปท.ได้ตรวจสอบและตั้งข้อสังเกตว่า การตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเพิ่มทุน ธนาคารตรวจสอบเพียงเอกสารการจดทะเบียนเพิ่มทุน ไม่มีการตรวจสอบว่ามีการชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนจริง หากไม่รวมการเพิ่มทุนดังกล่าวประมาณการ D/E Ratio (อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น) ณ สิ้นปี 2553 จะเท่ากับ 3.40 เท่า สูงกว่าแนวทางการบริหารความเสี่ยงเครดิตสำหรับกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2.5 เท่า
10.กรณีอนุมัติสินเชื่อ บริษัท รวมสินทรัพย์ไทย จำกัด เมื่อ 16 ก.พ.55 เพื่อซื้อกิจการโรงเรียนนานาชาติจาก บริษัท อัครพงษ์ชัย เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล (NPL) ที่ธนาคารพาณิชย์อื่น สัญญาซื้อขายมูลค่า 600 ล้านบาท เดิมเสนอวงเงินสินเชื่อ 400 ล้านบาท และให้ดำรงเงินฝากไว้สำรองจ่ายดอกเบี้ย 40 ล้านบาท แต่คณะกรรมการสินเชื่อระดับ 1ของธนาคารฯ มีความเห็นให้ปรับลดวงเงินเหลือ 360 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ย MLR (ร้อยละ 7.25%) อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดกรณี Worse Case พบว่าลูกหนี้มีกระแสเงินสดไม่เพียงพอชำระหนี้จนถึงสิ้นปีที่ 5 รวม 56.8 ล้านบาท ธนาคารได้กำหนดเงื่อนไขก่อนการเบิกเงินกู้ให้ลูกหนี้นำเงินมาฝากบัญชีออมทรัพย์ 60 ล้านบาท โดยได้รับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 เพื่อทยอยตัดชำระหนี้ดอกเบี้ยถึงกลางปี 2557 (ปลอดชำระหนี้เงินต้น 2 ปี) เพื่อป้องกันความเสี่ยงกรณีจำนวนนักเรียนไม่เป็นไปตามประมาณการ นอกจากนี้กำหนดให้เพิ่มทุนจดทะเบียนอีกไม่น้อยกว่า 209 ล้านบาท จากเดิม 1 ล้านบาท เป็น 210 ล้านบาท ด้วยเงินสดหรือทรัพย์สินของกิจการ โดยกำหนดให้ชำระเต็มมูลค่าตามกฎหมายรายงานผลการติดต่อกับลูกค้าเมื่อวันที่ 15 ก.พ.56 สรุปว่าปีการศึกษา 2555 ลูกหนี้มีนักเรียนจำนวน 102 คน ต่ำกว่าประมาณการ 104 คน เนื่องจากยังไม่ได้เปิดรับนักเรียนระดับเนอสเซอรี่ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงห้องเรียน เมื่อปรับปรุงเสร็จจะสามารถรับนักเรียนเพิ่มประมาณ 90 คน ในปีการศึกษา 2556 ณ วันที่ 30 เม.ย.56 ลูกหนี้มีเงินฝากออมทรัพย์คงเหลือ 30.79 ล้านบาท สามารถรองรับการชำระดอกเบี้ยได้อีกประมาณ 14 เดือน
ข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทย
การอนุมัติสินเชื่อโดยกำหนดเงื่อนไขลักษณะดังกล่าว พิจารณาเป็น 2 กรณี
1.การให้สินเชื่อที่มีเงินฝากค้ำประกัน กรณีธนาคารพาณิชย์ทั่วไปจะเรียกเก็บดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบวกร้อยละ 1-2 เท่านั้น แต่ในกรณีดังกล่าวธนาคารเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.25 ของยอดหนี้จำนวน 60 ล้านบาท ทำให้ลูกหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกร้อยละ 5.75% จึงอาจไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้
2.การให้ลูกหนี้นำเงินมาฝาก 60 ล้านบาท ก่อนเบิกเงินกู้ 1 วัน เพื่อทยอยตัดชำระดอกเบี้ย อาจเป็นการให้กู้ยืมเพื่อนำมาชำระหนี้และหลีกเลี่ยงการจัดชั้น NPL ในกรณีลูกหนี้ประสบปัญหาธุรกิจ แต่ยังมีเงินฝากคงเหลือรองรับการชำระหนี้ และทำให้การแก้ไขหนี้ล่าช้า
นอกจากนี้ ในการติดตามฐานะการดำเนินงานของลูกหนี้เมื่อพบว่ามีจำนวนนักเรียนต่ำกว่าประมาณการค่อนข้างมาก ธนาคารไม่ได้วิเคราะห์ประมาณการกระแสเงินสดเพื่อทบทวนความสามารถในการชำระหนี้
11.กรณีปล่อยสินเชื่อให้ บริษัท โรงพิมพ์ประสานมิตร จำกัด เมื่อ ธ.ค. 52 รวม 190 ล้านบาท ต่อมา เดือน ม.ค.54 (หรือประมาณ 1 ปี) ลูกหนี้รายนี้ก็เป็นนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) จำนวน 180 ล้านบาท ธปท.มีข้อสังเกต 2 ประการ
1.การให้สินเชื่อเพื่อลงทุนในที่ดินว่างเปล่าไม่ก่อให้เกิดรายได้ ธนาคารได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกนี้มาแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่ 29 ก.ค.53 หลังสุดวันที่ 23 ธ.ค.53 ลูกหนี้รายนี้เป็นหนี้ด้อยคุณภาพแล้วตั้งแต่เดือน ม.ค. 54 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินคดี
2.การกำหนดหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของผลิตภัณฑ์เนื่องจากลูกหนี้ นำเงินไปลงทุนซื้อทรัพย์สิน อาจพิจารณาได้ว่า ลูกหนี้ไม่ได้ประสบปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน ขณะเดียวกับปัจจุบันลูกหนี้รายนี้มีสถานะล้มลายไปเรียบร้อยแล้ว
12.กรณีการให้สินเชื่อ บริษัท เซาท์ซีรีสอร์ท จำกัด ยอดหนี้ 194.4 ล้านบาท ผู้ประกอบการโรงแรมใน จ.ภูเก็ต เดิมลูกหนี้รายนี้มีสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องโครงการสินเชื่อ SME Power เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว 5 ล้านบาท ต่อมาธนาคารอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพื่อชำระหนี้และไถ่ถอนหลักประกันจากสถาบันการเงินอื่นจำนวน 156 ล้านบาท และให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อสมทบเป็นค่าปรับปรุงอาคารโรงแรมที่ดำเนินการไปแล้ว 40% อีก 40 ล้านบาท โดยมีสัญญาว่าจ้าง ลงวันที่ 1 มิ.ย.53 มูลค่า 18.42 ล้านบาท ,7 ล้านบาท , 10 ล้านบาท และ 2 ล้านบาท ประกอบการพิจารณาอนุมัติ
ในการวิเคราะห์ลูกหนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังจากการปรับปรุงโรงแรมเพื่อยกระดับเป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว โดยมีอสังหาริมทรัพย์ราคาประเมิน 357.3 ล้านบาท จำนองเป็นประกันวงเงิน 202 ล้านบาท นอกจากนี้จำนวนห้องพักที่เปิดให้บริการมีจำนวน 152 ห้อง แต่ได้รับใบอนุญาตเพียง 100 ห้อง
ธปท.ได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็นการวิเคราะห์สินเชื่อ 2 ประการ
1.สัญญาจ้างปรับปรุงอาคารมูลค่า 18.42 ล้านบาทที่นำมาประกอบการพิจารณาอนุมัติวงเงิน เป็นสัญญาที่มีมูลค่าและรายละเอียดของงานก่อสร้างเท่ากันกับสัญญาที่ลูกหนี้เคยดำเนินการว่าจ้างไปแล้วเมื่อปี 2551 อาจพิจารณาได้ว่าเอกสารสัญญาประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวขาดความน่าเชื่อถือ
2.ลูกหนี้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมเพียง 100 ห้อง จากจำนวนห้องพักที่เปิดให้บริการรวม 152 ห้อง หากเกิดปัญหาถูกระงับการให้บริการห้องพักในส่วนที่ยังไม่ได้รับอนุญาต อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
13.กรณีการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ บริษัท สิริวัฒนาธัญกิจ จำกัด ผู้ประกอบการโรงสีข้าวใน จ.อุตรดิตถ์ ยอดหนี้ 466.4 ล้านบาท ธปท.ตั้งข้อสังเกตว่า
1.การอนุมัติสินเชื่อโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้และไถ่ถอนหลักประกันจากสถาบันการเงินอื่น และให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน อาจพิจารณาได้ว่าลูกหนี้ไม่มีปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน ซึ่งอาจไม่สอดคล้องตามวัตถุประสงค์เพื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน
2.การตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเพิ่มทุน ธนาคารตรวจสอบเพียงเอกสารการจดทะเบียนเพิ่มทุน ไม่มีการตรวจสอบว่ามีการชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนจริง หากไม่รวมการเพิ่มทุนดังกล่าว ประมาณการ D/E Ratio ( อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น) ปี 2553 จะเท่ากับ 6.59 เท่า สูงกว่าแนวทางการบริหารความเสี่ยงเครดิตสำหรับกลุ่มธุรกิจโรงสีที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3 เท่า
14.กรณีการประมูลขายลูกหนี้ NPL กลุ่มภาคตะวันออก จำนวน 30 ราย ยอดหนี้ 694 ล้าน ให้ บริษัท บริหาร สินทรัพย์ศรีสวัสดิ์ จำกัด วงเงิน 202 ล้านบาท ถูกร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยว่า อาจตกแต่งบัญชีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่
ทั้ง 14 กรณียังไม่มีความคืบหน้าว่าองคาพยพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ชูธงปราบคอร์รัปชั่น จะเข้ามาสะสางให้เกิดความโปร่งใส เป็นรูปธรรมได้อย่างไร?
ขอบคุณภาพประกอบจาก : dailynews.co.th
อ่านประกอบ:
ผ่าเบื้องหลัง ธพว.เปลี่ยน 3 รอบ‘กก.สอบ’ ปล่อยกู้195 ล. เจ้าหน้าที่ผิด-บิ๊กบอสรอด?
ธพว.เปลี่ยนตัว ‘กก.สอบ’ปมปล่อยกู้ บ.ไรซิงฯ 195 ล. -ชุดแรกฟันเรียบ 21 คน
ชงฟันบิ๊ก ธพว.-พวก 21 คนพันปล่อยกู้ บ.ส่งออกเสียหาย 300 ล.-‘ที่ดินตาบอด’ค้ำประกัน
เบื้องหลัง ธพว.เปลี่ยน 3 รอบ ‘กก.สอบ’ ปมปล่อยกู้โรงสีข้าวจงเจริญ 125 ล.
เปิดชื่อบอร์ด ธพว.10คนกรณีเงินกู้โรงสี NPL125 ล.-ปมใหม่Conflict of Interest?
หลักฐาน 3 ชิ้น!ใบเสร็จ‘ค่าไฟ’-คำสั่ง รมว.คลัง มัดปมเงินกู้โรงสี-ธพว.125 ล.
เจ้าของโรงสีข้าว‘ลูกหนี้’ NPL 125 ล. ธพว. อยู่คอนโดฯ 5 ล. กลางกรุงเทพฯ
ไขปริศนา!‘เงินปล่อยกู้’17 ล. โรงสีข้าวจงเจริญ ลูกหนี้ NPL 125 ล้าน ธพว.
เปิด‘โรงสีข้าวศรีสะเกษ’กู้ ธพว. 125 ล. หยุดกิจการก่อนรับเงิน ชนวนร้องสอบบิ๊ก
จริงหรือเพิ่มทุน 50 ล.ด้วยเงินสด? ไขปม ธพว.ปล่อยกู้ รร.ดัง จ.มุกดาหาร 102 ล.
เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้ NPL 694 ล. ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.
ไขปมข้อสังเกต ธปท. ‘โรงสีข้าว’จ.อุตรดิตถ์ กู้ ธพว.480 ล.-ชำระค่าหุ้น 60 ล.จริง?
‘เอกสาร’ขาดความน่าเชื่อถือ!กรณี ธพว. ปล่อยกู้ รร.ภูเก็ตนักธุรกิจใหญ่ 194 ล.
เปิดไส้ใน ธพว.ปล่อยกู้347.5 ล. ซื้อที่ดินโครงการปัญหา‘แก่งกระจาน’บ.นักธุรกิจดัง
ค้างจ่ายภาษีอื้อ!สรรพากรบี้ รร.เกาะพะงัน ลูกหนี้NPL ธพว. 199 ล. -สาวสึก‘ผู้ถือหุ้น’
ปล่อยกู้ซื้อที่ดินเปล่า‘โรงพิมพ์ประสานมิตร’ NPL ธพว. 180 ล. -ศาลสั่งล้มละลาย
ใช้เงินสด30.2 ล. เพิ่มทุนก่อนกู้! ปริศนา โรงสี จ.ชัยนาท ลูกหนี้ NPL ธพว.159 ล.
เพิ่มทุน50 ล.ด้วยเงินสด!ปริศนา โรงแรมเกาะพะงัน ลูกหนี้ NPL ธพว.199 ล.
แฟ้มลับ ธปท.กรณี ธพว.ปล่อยกู้ ร.ร. นานาชาติ ก่อนติดNPL อันดับหนึ่ง359 ล.
เปิดชื่อ20 ลูกหนี้ NPL รายใหญ่ ธพว.โรงสีอื้อ 6 แห่ง-ยอดรวม 2.7 หมื่นล้าน
ปิดตำนาน22 ปี“โรงพิมพ์ประสานมิตร”ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์-ขาดทุนสะสม 7 ล้าน