Friends of The River เดินหน้าสร้างชุมชนต้นแบบในพท.ริมน้ำเจ้าพระยา
ปี 2559 Friends of The River เตรียมลงพื้นที่ชุมชนให้ความรู้ พร้อมสร้างชุมชนต้นแบบ ทำกระบวนการมีส่วนร่วม ตรงใจตรงประเด็นเรื่องการพัฒนาทางเดินริมน้ำ ก่อนออกแบบเสนอกทม.อีกครั้ง ชี้กังวลทีโออาร์ส่งต่อภาคการศึกษา แต่ยึดเงื่อนไขเดิม ห่วงต้นเหตุปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข
นายยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก ตัวแทนจากกลุ่ม Friends of the River ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงการเดินหน้ารณรงค์คัดค้านโครงการริมน้ำเจ้าพระยาระยะทาง 14 กิโลเมตร ของกรุงเทพมหานคร ว่า เท่าที่ทราบข่าวหลังจากที่กทม.หาผู้ประมูลทีโออาร์ไม่ได้ ก็จะมีการส่งไปให้ภาคการศึกษารับลูกในการทำทีโออาร์ต่อ ซึ่งหากภาคการศึกษารับลูกแล้วทำโดยยึดทีโออาร์เดิมของกทม.ก็จะไม่เป็นการตอบโจทย์ของปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากทีโออาร์ฉบับเดิมเป็นร่างที่จำกัดการเข้าร่วมของภาคประชาชน และมีการดำเนินโครงการที่รวดเร็ว เร่งด่วน ดังนั้นหากเป็นแบบที่คิดไว้ การแก้ปัญหาก็จะยังไม่ตอบโจทย์ เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนตัวผู้เล่นของกทม.เท่านั้น
สำหรับกิจกรรมของกลุ่ม Friends of River ในปี 2559 นั้น นายยศพล กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2559 จะเตรียมลงพื้นที่ในชุมชน และสร้างชุมชนต้นแบบ 2 ชุมชน เนื่องจากส่วนหนึ่งคนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข่าวสารจากภาครัฐเท่าที่ควร โดยจะสร้างให้คนในชุมชนมีพลัง มีความรู้เรื่องการพัฒนาทางเดินริมน้ำเจ้าพระยา ทำให้เขามีทางเลือกและรู้ความต้องการของตัวเองว่าต้องการแบบไหน และเป็นการทำให้กทม.เห็นเป็นตัวอย่างว่า กระบวนการมีส่วนร่วมที่ตรงใจและตรงประเด็นกับคนในชุมชนเป็นอย่างไร โดยจะใช้เวลาลงพื้นที่ 3-4 เดือน และจะทำเป็นข้อเสนอเรื่องกระบวนการออกแบบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในการลงแต่ละพื้นที่จะมีกับประชุมร่วมกับคนในชุมชน 4 ครั้ง เป็นอย่างน้อย
ตัวแทนจากกลุ่ม Friends of The River กล่าวด้วยว่า ในช่วงหลังปีใหม่อยากจะชี้แจงให้กับภาคประชาชนได้รับทราบถึงความชัดเจนของภาครัฐต่อการแก้ไขทีโออาร์ก่อนจะให้ภาคการศึกษาทำ เพราะกลุ่ม Friends of The River ต้องทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง นอกจากนี้อยากให้มีการตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมเพื่อวางกรอบ และกำหนดโจทย์เอาข้อเสนอของภาคประชาชนมาร่วมหารือ เพื่อให้เกิดเป็นทีโออาร์ที่เห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย แล้วจึงค่อยประกาศหาคนมาทำต่อ
"สิ่งที่เราทำเราค้านคือเราค้านเพื่อร่วมหาทางออกไม่ใช่ขัดขวาง แต่กทม.เองไม่อยากเอาเรื่องกลับไปทำใหม่ เพราะกลัวคนเข้าใจว่า ทีโออาร์ที่กทม.ทำนั้นมีข้อผิดพลาดจนต้องมีการแก้ไข ดังนั้นจึงเห็นว่า กทม.เอาทีโออาร์ฉบับเดิมที่มีปัญหาเดินหน้าโครงการนี้ต่อ"
ในส่วนการติดต่อกับภาคการศึกษานั้น นายยศพล กล่าวว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีการติดต่อไปหลายที่ ไม่ว่าจะเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็ยื่นข้อเสนอว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนทีโออาร์ตามที่ภาควิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมได้เรียกร้องตั้งแต่แรก
“ณ วันนี้ เรายังไม่รู้ว่ากทม.เองยอมรับเงื่อนไขมากน้อยแค่ไหน รู้แค่ว่าล่าสุดจะเดินหน้าต่อ ทำให้มีความกังวลว่า ถ้ามหาวิทยาลัยหลัก ๆ ไม่รับ เขาอาจจะหันไปทางมหาวิทยาลัยราชภัฏแทน ซึ่งไม่อยากให้เกิดการรับภายใต้เงื่อนไขทีโออาร์เดิม เพราะสิ่งที่กังวลอีกเรื่อง คือกลัวบริษัทที่ปรึกษาทางวิศวกรรมเดิมที่เคยมีชื่ออาจจะมาอยู่เป็นหนึ่งในทีมงานของภาคการศึกษาด้วย และปัญหาก็จะไม่ได้ถูกแก้ไขที่ต้นเหตุ”
นายยศพล กล่าวด้วยว่า แม้ล่าสุด พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะออกมาพูดถึงงบประมาณในการสร้างโครงการริมน้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 14 ก.ม. ว่าอาจจะใช้เงิบไม่ถึง 1.4 หมื่นล้านบาทนั้น แต่เราก็ยังไม่ไว้วางใจ เพราะตัวเลขไม่มีที่มาที่ไป และเห็นว่า งบนี้จะถูกต้องก็ต่อเมื่อมีการทำการศึกษาให้ชัดเจน แล้วจึงมากำหนดงบประมาณ แบบนี้ถึงจะสมเหตุสมผล อย่างไรก็ตามการออกมาให้ข้อมูลว่าอาจจะใช้งบน้อยลงถือเป็นท่าทีที่ดีขึ้น ว่าจะมีการตั้งต้นกลับมาทำการศึกษาใหม่