จับทิศธุรกิจฮาลาลไทยในเวที AEC
"...ผมเชื่อว่าเมื่ออาเซียนเปิดขึ้น เราอาจจะช็อคในช่วงแรก เพราะว่าไทยเรายังไม่มีพวกโครงสร้าง (infrastracture) ที่จะเข้ามาดูเเลเรื่องนี้อย่างจริงจัง...... บริบทของเมืองไทย ที่มีภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางของภูมิภาค หากไม่ปรับตัวตรงนี้ เท่ากับเราก้าวช้ากว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ แน่นอนโอกาสในการปรับปรุงตอนนี้เรายังมี แต่ถ้าจะผงาดเป็นที่หนึ่งต้องเริ่มวันนี้...."
เป็นประจำในช่วงปลายปี ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลายคนถือโอกาสนี้พักผ่อนจากการงานหนักตลอดปี แต่ปลายปีไม่เหมือนหลายๆ ที่ผ่านมา เพราะยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่โลกบันทึกลงไปในประวัติศาสตร์ นั่นคือการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ( (ASEAN Community) ได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว และดูเหมือนหลายๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้ความสนใจและจับตาดูการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่น้อยเลยทีเดียว
เมื่อตลาดของอาเซียนกลายเป็นตลาดเดียวกัน ในนาม One Market ซึ่งมีผู้คนกว่า 600 ล้านคนจาก 10 ประเทศอาเซียน กำลังซื้อที่มากขึ้น การแข่งขันก็สูงขึ้น ดูเหมือนภาคธุรกิจดูจะเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีความกระตือรือร้น และพยาายมปรับตัวเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มาโดยตลอด
ซึ่งหากมองดูที่ตัวเลขของประชากร พบว่า ประชากรกลุ่มใหญ่กว่า 300 ล้านในอาเซียนนั้น นับถือศาสนาอิสลาม แน่นอนว่าธุรกิจที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมากนั่นคือ ธุรกิจฮาลาล
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน สำนักข่าวอิศรา มีโอกาสพูดคุยกับ "มารุต เมฆลอย" รองนายกสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม (TMTA) ถึงทิศทางธุรกิจฮาลาลในเมืองไทย มาดูกันว่าปัจจุบันธุรกิจฮาลาลไทยกำลังเดินทางไปสู่จุดใด ไทยมีความพร้อมมากน้อยเพียงใดต่อรูปแบบธุรกิจประเภทนี้ แต่ก่อนอื่นที่เราจะพูดถึงบริบทความพร้อมของไทย เราคงต้องเริ่มกับข้อสงสัยอันดับต้นๆ ของชาวไทยนั่นคือ
อะไรคือฮาลาล และฮาลาลคืออะไร
ฮาลาล ตามความหมายทางภาษา หมายถึง อนุมัติ ตามหลักสาสนาอิสลามแล้ว ฮาลาลคือ สิ่งที่อนุมัติให้มุสลิมสามารถกระทำได้
"แน่นอนเมื่อพูดถึงฮาลาลหลายคนคงนึกถึง อาหารฮาลาล ซึ่งหลายคนรวมถึงมุสลิมบางคน ก็คิดว่าฮาลาลครอบคลุมเฉพาะแค่นั้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ฮาลาลนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องอาหารเท่านั้น อาหารฮาลาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง" มารุตกล่าว
ฮาลาลไม่ใช่แค่เรื่องของอาหาร
ในเมื่อฮาลาลไม่ได้มีแค่เรื่องอาหารแล้วฮาลาลยังมีเรื่องอะไรอีกบ้าง มารุต อธิบายให้ฟังว่า "ฮาลาล" ในตัวบทจริงๆ คือการอนุมัติให้ทำได้ ซึ่งมุสลิมทั่วโลกต้องยึดถือปฎิบัติในสิ่งนี้ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่อาหารฮาลาลอย่างเดียว เพราะรวมไปถึงรูปแบบการใช้ชีวิตทั้งหมดด้วย อาทิ การทำธุรกิจ การทำงาน ประกอบอาชีพ ซึ่งแน่นอนฮาลาลตรงข้ามกับคำว่า ฮารอม ที่แปลว่าต้องห้าม คือห้ามทำ หากทำแล้วจะเป็นบาป"
อาเซียนกับธุรกิจฮาลาล
"ปัจจุบันเฉพาะเมืองไทยเราจะมีประชากรมุสลิมเพียงแค่ 6-7ล้านคน แต่เมื่ออาเซียนเปิดเราจะมีประชากรที่เป็นคนนับถือศาสนาอิสลามมากถึง 300 ล้านคน ตรงนี้แหละที่สำคัญ เราจะพัฒนาศักยภาพของธุรกิจเราอย่างไรต่อไป เพื่อรองรับกลุ่มคนเหล่านี้" มารุต กล่าว ก่อนจะอธิบายเสริมว่า เมื่อประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม มองในเชิงตลาดใหญ่อย่างอาเซียน ที่เราเรียกว่า one market ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการบริการต่าง สินค้าต่างๆ แนวโน้มที่จะเปลี่ยนไป
จากเมื่อก่อน ผู้ประกอบการไม่ได้สนใจกับตลาดฮาลาลมากนัก จะมีตราฮาลาลก็ได้ ไม่มีก็ได้ แต่จากนี้ไปจะไม่เหมือนเดิม เพราะเมื่อไรก็ตามที่ผลิตภัณฑ์ของคุณไม่มีตราฮาลาลคุณจะพลาดโอกาสจากคน 300ล้านคนไปแล้ว
รวมไปถึงหากมีแล้ว แต่มาตรฐานคุณไม่ดี โอกาสในการกลับมาก็ยากมากขึ้นเพราะอย่าลืมว่ายุคนี้คู่แข่งทางธุรกิจไม่ได้มีเพียงหนึ่งหรือสอง แต่มีเป็นร้อย
ฉะนั้นสิ่งนี้จึงเป็นทั้งโอกาสและเป็นทั้งความท้าทาย โดยเฉพาะกับบริบทของเมืองไทย ที่มีภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางของภูมิภาค หากเราไม่ปรับตัวตรงนี้ เท่ากับเราก้าวช้ากว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ แน่นอนโอกาสในการปรับปรุงตอนนี้เรายังมี แต่ถ้าจะผงาดเป็นที่หนึ่งต้องเริ่มวันนี้
วันนี้ไทยพร้อมแค่ไหน
ถ้าจะพูดว่าตอนนี้เราพร้อมแค่ไหน ในมุมของอุตสาหกรรมอาหาร แน่นอนเรามีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น บราซิล ที่มีกำลังในการผลิตอาหารฮาลาลป้อนคนทั้งโลก หรือตลาดใหญ่อย่างอินโดนีเซียเองที่มีต้นทุนในผลิตที่ถูกกว่าทั้งตัวแรงงานและที่ตั้ง รวมไปถึงอีกหลายๆ ประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม ฉะนั้นอย่าลืมว่า การผลิตสินค้าฮาลาลนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนมุสลิม แต่ทุกคนสามารถทำได้ เพียงแต่ทำในหลักการตามบัญญัติของอิสลาม
ยกตัวอย่างเช่น มีร้านอาหารแห่งหนึ่ง เดิมที่เจ้าของร้านไม่ใช่คนมุสลิม แต่เมื่อเขาเล็งเห็นว่าต่อไปจะมีลูกค้าที่เป็นมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ รวมไปถึงกลุ่มคนมุสลิมที่ย้ายเข้ามาทำงานในไทย เข้ามามากขึ้น ก็มีการปรับปรุงการทำงานของร้านให้เป็นฮาลาลมากขึ้น มีการแยกห้องครัวในการปรุงอาหาร ถือว่านี้คือหนึ่งในวิวัฒนการอย่างหนึ่ง
"ผมเชื่อว่าเมื่ออาเซียนเปิดขึ้น เราอาจจะช็อคในช่วงแรก เพราะว่าไทยเรายังไม่มีพวกโครงสร้าง (infrastracture) ที่จะเข้ามาดูเเลเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่เชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เราจะเริ่มปรับตัวได้มากขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ก็สังเกตได้ว่าทางภาครัฐค่อนข้างให้ความสำคัญในเรื่องนี้พอสมควร แต่หากจะนับตอนนี้ ผมเชื่อว่า เรายังไม่พร้อม คิดว่าไทยยังต้องการบุคลากรที่มีความเข้าใจจุดนี้เข้าใจช่วยอีกมาก" รองนายกสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม กล่าว
ธุรกิจอาหารฮาลาลของไทย
ในส่วนของประเทศไทยค่อนข้างมีความชัดเจนในเรื่องของ ธุรกิจอาหารฮาลาล เพราะปัจจุบัน เราส่งออกอาหารฮาลาลเป็นอันดับที่ 5 ของโลกมีมูลค่าการส่งออกประมาณปีละกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมทั้งยังมีสถาบันวิจัยที่ทำงานในเรื่องนี้ที่ทันสมัย เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลไทยพยายามสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ รวมไปถึงร้านค้า โรงแรมให้มีการบริการอาหารฮาลาลมากขึ้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วงการอาหารฮาลาล โดยส่วนตัว มารุตมองว่า ยังต้องปรับปรุงอีกหลายๆ อย่าง อย่างการทำความเข้าใจในกลุ่มคนมุสลิมเอง เช่น การขอตราฮาลาล หรือการเข้ามาตรวจสอบร้านอาหาร เพราะหากมองในเชิงพาณิชย์ เมื่ออาเซียนเปิดแล้ว การสร้างความน่าเชื่อถือในส่วนตรงนี้จะสำคัญมาก ไม่ใช่แค่ว่าฉันเป็นมุสลิม ร้านฉันกินได้ หรือร้านอื่นๆ จะบอกว่า ไม่มีเนื้อหมู จะอ้างลอยๆไม่ได้ ตรงนี้อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาตรวจสอบและดูเเลเข้มงวด สร้างมาตรฐานที่ดีขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจแก่กลุ่มคนที่จะเข้ามาทั้งนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม หรือกลุ่มนักธุรกิจต่างๆ เป็นต้น
เพราะอย่าลืมว่า แม้ว่าเราจะส่งออกอาหารฮาลาลมากเป็นอันดับต้นๆ แต่ร้านอาหารฮาลาลในประเทศค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในตัวเมืองอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งเรื่องจะส่งผลต่อกลุ่มผู้มาเยือนทั้งขาจรและแรงงานที่ต้องมาประจำ ดังนั้น อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในไทยยังถือว่ามีโอกาสโตได้อีก
เราจะดูเเลมาตรฐานฮาลาลอย่างไร
แน่นอนว่า เมื่ออาเซียนกลายเป็นตลาดเดียวกันทั้งหมด นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการต่างๆ ที่เริ่มเล็งเห็นตรงนี้ ก็จะเริ่มพัฒนาสินค้าตนเองเพื่อรองรับกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งในเรื่องการดูเเลมาตรฐานฮาลาล ปัจจุบันไทยมีคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ดูเเลตรงนี้
ซึ่งทางด้าน รองนายกสมาคมฯ มองว่าตรงจุดนี้อาจจะต้องมีการพัฒนา ยกระดับให้รองรับกับความต้องการของผู้ประกอบการที่มากขึ้นเช่นกัน และจะทำอย่างไรให้ตราฮาลาลนั้นสะท้อนถึงมาตรฐานจริงๆ เพราะอย่าลืมว่า หากให้ไปแล้ว แต่ขาดการควบคุม ผลเสียที่จะเกิดคือตัวคณะกรรมการเอง
"ผมเชื่อว่าในปี2559 เราจะเห็นธุรกิจที่เป็นธุรกิจฮาลาลเติบโตมากขึ้นอย่างแน่นอน ถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ที่หากใครไม่เปลี่ยนก็จะอยู่ยากในสนามนี้" เขากล่าวอย่างมั่นใจ
เห็นได้เลย คำว่า"ฮาลาล" เริ่มครอบคลุมทุกภาคส่วนมากขึ้น และที่สำคัญ สินค้าฮาลาลไม่ได้จำกัดเฉพาะคนมุสลิมเท่านั้น เพราะคนต่างศาสนิกก็สามารถเข้ามาใช้ เข้ามาบริโภคได้ ยกตัวอย่างตราฮาลาล ตามสินค้าบริโภคทั้งหลายก็คล้ายเป็นตัวยืนยันความปลอดภัยถูกหลักอนามัยด้วยในตัวของสินค้าเอง อย่าลืมว่าในบัญญัติขออิสลามส่งเสริมให้ทานในสิ่งที่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อชีวิตและการพิจารณาตราเครื่องหมายฮาลาลให้นั้น ต้องผ่านมาตฐานนี้อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าสิ้นค้าตัวนั้นทั้งปลอดภัยและถูกหลักการศาสนาอีกด้วย เมื่ความต้องการเปลี่ยน ภาคธุรกิจก็ย่อมต้องเปลี่ยน เป็นสัจจธรรม
ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
การที่แบรนด์ใหญ่ๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงธุรกิจ แปลว่า เขาเห็นถึงความต้องการของตลาดกลุ่มนี้ กรณีอย่างที่ ยูนิโค่ว (Uniqlo) หรือแม้กระทั่ง H&M ที่เชิญดีไซน์เนอร์มุสลิมร่วมออกแบบเสื้อผ้า ก็เพราะเขามองว่า มุสลิมก็ต้องการแต่งตัวที่ทันสมัย ในขณะเดียวกันยังถูกต้องตามหลักการอิสลามด้วย อย่างที่บอกว่า ฮาลาลครอบคลุมทุกอย่าง รวมไปถึงการแต่งกาย เราจะแต่งกายอย่างไร ให้ดูดีได้เเละยังถูกต้องตามหลักการ
"ผมมองว่าการที่แบรนด์ใหญ่ๆ ลงมาเล่นในสนามนี้ ถือเป็นกลยุทธ์ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง"
บริการฮาลาลคืออะไร
การบริการชื่อบอกเเล้วว่า ต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า อย่างเรื่องภาษาต้องปรับแน่ๆ จากเดิมที่ภาษาอังกฤษจะรู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ ต่อไปจากวันนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ที่สำคัญการรู้มากกว่าหนึ่งภาษาก็ยังเป็นโอกาส เพิ่มมากขึ้น อย่างภาาษจีน ภาษามาลายู ที่ต้องรู้มากขึ้น อย่างน้อยสามารถที่จะสื่อสารกับลูกค้าได้ รวมไปถึงการเข้าถึงบริการในด้านอื่นนอกจากการสื่อสารเเล้ว
มารุต อธิบายอีกว่า "เอาง่ายๆ เลยอย่างเรื่องที่ละหมาด แน่นอนมุสลิมทุกคนจำเป็นต้องละหมาดทุกวัน วันละ 5 เวลา ฉะนั้นสถานที่สำคัญอย่างๆ สนามบิน สถานีรถไฟ สถานีขนส่งหรือแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ต่างต้องมีห้องละหมาดมารองรับ"
ตรงจุดนี้พบว่าในช่วง5-6ปีที่ผ่านมาในกรุงเทพฯ หรือตามหัวเมืองใหญ่จะเริ่มมีการใส่ใจดูเเลมากขึ้น ร่วมไปถึงโรงแรมต่างๆ ที่เริ่มปรับตัวเพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะนี้จะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของชาวมุสลิมในการเข้าใปใช้บริการ หากธุรกิจสร้างตรงนี้มารองรับ เท่ากับว่าเป็นการสร้างความมั่นใจแก่พวกเขาด้วยเช่นกัน เรียกว่า ใจซื้อใจเลยก็ว่าได้
ธุรกิจการแพทย์กับชาวตะวันออกกลาง
เมื่อสัก 5 ปีก่อน เมืองไทยถือว่าเป็นที่รู้จักในนาม medical tourisum ในหมู่ชาวตะวันออกกลางเป็นอย่างมาก ชาวอาหรับส่วนใหญ่ นอกจากจะมาท่องเที่ยวแล้ว ยังมารักษาตัวที่เมืองไทย เพราะค่ารักษาที่บ้านเราถูกว่ามาก เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่ค่อนข้างสูงของไทย รวมไปถึงการบริการ การดูเเล อัธยาศัยของคนไทยเอง ทำให้ไทยเป็นที่นิยมของชาวอาหรับเป็นอย่างมาก
แน่นอนเมื่อธุรกิจตรงนี้ค่อนข้างเฟื่องฟู ก็ย่อมต้องมีคู่แข่งที่จะเข้ามาในสนามแห่งนี้ อย่างประเทศใกล้เคียง อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่เริ่มพัฒนาในส่วนนี้มากขึ้น และที่สำคัญกลุ่มประเทศเหล่านี้ก้เป็นมุสลิม หมอเองสามารถพูดภาษาอาหรับได้ ฉะนั้นสิ่งนี้จะกลายโอกาสในการเป็นตัวเลือกจึงสูงมาก แต่อย่างไรก็ตาม หากไทยยังต้องการการเติบโตในธุรกิจนี้ได้อีกนั้น การพัฒนาทางภาษาค่อนข้างสำคัญ เพราะอย่าลืมว่าตอนนี้หมอไทย หรือโรงพยาบาลต่างๆ ที่ให้บริการด้านนี้ต่างได้รับอนิสงค์การการแปลภาษาโดยล่ามที่เป็นอดีตนักศึกษาในตะวันออกกลางที่สามารถสื่อสารภาษาอาหรับได้
เรื่องนี้ นายกสมาคมฯ กล่าวว่า จะดีมาก หากหมอไทยจะสามารถสื่อสารตรงได้ดีมากขึ้น ก็จะยิ่งช่วยให้ธุรกิจตรงนี้เติบโตต่อไป พร้อมเห็นใจหมอเพราะแค่ต้องเรียนแพทย์ เรียนเฉพาะต่างๆ ก็หมดเวลาที่จะมาเรียนภาษาที่สามเเล้ว
ขอบคุรภาพประกอบหัวเรืองจากhttp://www.aseanthai.net/