อดีตสปช.ชี้ไร้ทางออกขัดแย้งปัญหาสิ่งแวดล้อมหากรบ.ไม่ฟังเสียงปชช.
อดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ ชี้ปี 2559 หากรัฐเดินหน้าแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยไม่ฟังเสียงประชาชนแบบปี 2558 เจอทางตันแน่ แนะทางออกต้องตั้งคณะกรรมการฟังภาคประชาชนจากข้อเท็จจริง พร้อมสังเคราะห์ก่อนนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบาย
ตลอดช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีการจัดการด้วยนโยบายจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า หรือการออกกฎหมายประมงฉบับใหม่เพื่อใช้เป็นยาแรงในการแก้ปัญหาประมงที่สะสมมาอย่างยาวนาน หากมองภาพรวมอาจจะเห็นว่า สภาพแวดล้อมนั้นดีขึ้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการจัดการปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบกับชาวบ้านด้วยเช่นกัน
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลว่า หากมองภาพรวมในระดับประเทศจะมีอยู่ 4 เรื่องที่ส่งผลกระทบกับประชาชน
1.เรื่องการจัดการป่าไม้และที่ดิน
2. ปัญหาการจัดการน้ำ
3.การแก้ปัญหาประมงพื้นบ้าน
และ 4.คือเรื่องเหมืองทองที่จังหวัดพิจิตรและจังหวัดเลย
สำหรับการจัดการเรื่องป่าไม้และที่ดินนั้น นายหาญณรงค์ กล่าวว่า ในกรณีการทวงคืนผืนป่าจะเห็นว่าไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและแนวทางการดำเนินการ เมื่อทำไประยะหนึ่งพบว่าไม่ตรงเป้าหมาย รัฐบาลมุ่งหวังอยากให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น แต่การดำเนินนโยบายกับไปกระทบชาวบ้านรายเล็กรายน้อย ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือการตัดต้นยางพาราของรัฐบาล ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้รู้ว่า ภาวการณ์ที่เกิดขึ้นรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐตัดสินใจโดยไม่ได้ดูเรื่องข้อเท็จจริงที่มากพอ
นายหาญณรงค์ กล่าวว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วสิ่งที่ควรจะทำคือการปรับนโยบาย แต่รัฐก็ยังใช้วิธีผลักดันการทวงคืนผืนป่าเพื่อเพิ่มป่าอนุรักษ์ แทนแนวทางการจัดการพื้นที่ป่าโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การออกโฉนดชุมชน ธนาคารต้นไม้ ธนาคารที่ดิน สิ่งเหล่านี้รัฐบาลไม่ได้ทำ ดังนั้นการทวงคืนผืนป่าจึงเป็นนโยบายการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สร้างความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชน
ส่วนกรณีการบริหารจัดการน้ำที่เคยมีบทเรียนมาตั้งแต่ 2554-2555 นายหาญณรงค์ กล่าวว่า เมื่อมาถึงรัฐบาลชุดนี้ ท้ายที่สุดการบริหารจัดการน้ำก็ไม่ได้ถูกปรับปรุง ยังคงมีการตั้งงบประมาณการจัดการน้ำแบบเดิม ๆ ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขในรูปแบบใหม่ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่เคยมีโครงการขนาดใหญ่ๆ ต่างๆ เช่น การก่อสร้างเขื่อนมีความรู้สึกกังวลเช่นเดิม เนื่องจากรัฐเข้าใจว่าการมีโครงการเหล่านี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อน ขุดลอกแหล่งน้ำ เป็นโครงการที่ทำให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี ในความเป็นจริงไม่ใช่ มิหนำซ้ำยังกระทบกับชาวบ้านมากขึ้นด้วย
"ขณะที่ประมงพื้นบ้านก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายที่ยังไม่นิ่งพอในการนำมาสู่วิธีการปฏิบัติ โดยเฉพาะการออกกฎหมายประมงฉบับใหม่"
สำหรับความคาดหวังในเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมปี 2559 นั้น อดีตสปช. กล่าวว่า ยังมองไม่เห็นทางออก เนื่องจากแนวทางการบริหารพูดกลับไปกลับมา แนวทางที่ชาวบ้านเสนอไม่ได้รับการพิจารณา พิจารณาเฉพาะในส่วนระดับนโยบาย ซึ่งมีความขัดแย้งกับชาวบ้านมาโดยตลอด ดังนั้นจึงยังไม่มีความมั่นใจว่ารัฐบาลจะเดินหน้าจัดการปัญหาได้หรือไม่ โดยเฉพาะกรณีของเหมืองทอง
“ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหาเหมืองทองและประชุมร่วมกันมาตลอด 20 ปี สิ่งที่พบคือคณะกรรมการไม่มีจุดยื่นในการทำรายงานการประชุม การทำงานเหมือนเป็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อซื้อเวลาในการแก้ปัญหาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งๆที่เป็นปัญหาที่รุนแรง ”
นายหาญณรงค์ กล่าวถึงความคาดหวังในปี 2559 ทางออกที่คาดหวังกับรัฐบาลถึงแนวทางในการดำเนินการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ ต้องการให้มีคณะทำงานที่มารับฟังภาคประชาชนเพื่อให้เกิดความคิดที่ตกผลึกแล้วจึงค่อยขับเคลื่อนไปในระดับนโยบายพร้อมยอมรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของกรณีเหมืองทองที่มีการฟ้องร้องเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องเด็ก หรือชาวบ้าน นั่นไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่ยิ่งเป็นการสร้างปัญหาให้มากขึ้น ดังนั้นหน่วยงานที่ทำนโยบายจะต้องเปิดกว้างรับฟังเสียงจากประชาชนแล้วนำไปสู่การสังเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ หากยังคงยืนยันจะดำเนินการแบบปี 2558 เชื่อว่าเป็นทางตันจนไม่สามารถหาทางออกของปัญหาได้