ขุนพลสีกากีมองไฟใต้...เมื่อชาวบ้านยังไม่ไว้ใจ - พูดคุยโต๊ะใหญ่ไม่การันตีสันติสุข
หลังการเข้ารับตำแหน่งของ ผบ.ตร. คนใหม่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา การวางแผนรับมือการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้ง
แม้จะไม่เปลี่ยนแปลงขนาดพลิกฝ่ามือ แต่การวางตัวนายตำรวจนักสืบรุ่นใหญ่อย่าง พล.ต.ท.เฉลิมพันธุ์ อจลบุญ ลงไปเป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) และให้ พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ลูกน้องมือขวาที่กำลังเป็นนักสืบดวงรุ่ง ไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา (ผบก.ภ.จว.ยะลา) ก็ชี้ให้เห็นว่าตำรวจให้ความสำคัญกับงานสืบสวนและหาข่าวในพื้นที่
นั่นทำให้ตำรวจหน้าใหม่สายเลือดมุสลิมจำนวน 100 นายถูกส่งลงในพื้นที่สีแดง โดยมีจุดมุ่งหมายคือการดึงมวลชนมาร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐให้ได้มากที่สุด เน้นการรักษาความปลอดภัยไปที่ 7 หัวเมืองหลักในจังหวัดชายแดนใต้
พล.ต.ท.เฉลิมพันธุ์ บอกให้รู้ว่า เขาได้สมัครใจลงไปทำงานในพื้นที่ ทั้งที่ไม่เคยทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อนเลย แต่ในที่สุด พล.ต.อ.จักรทิพย์ ก็ตัดสินใจส่งให้ลงไปทำหน้าที่ โดยเน้นการสืบสวนหาข่าวและสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านมากขึ้น เนื่องจากต้องยอมรับว่าตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่หลัง 4 มกราคม 2547 ชาวบ้านไม่เชื่อมั่นในตัวทหารและตำรวจ และปัจจุบันก็ไม่ได้ดีขึ้นเลย การข่าวในพื้นที่ยังคงล้มเหลว ไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านที่เป็นรากหญ้า ยกเว้นผู้นำศาสนาบางพื้นที่ที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นในเรื่องของการให้ข้อมูลข่าวสารกับเจ้าหน้าที่รัฐ
ในขณะที่ตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ แม้ว่าจะมีระเบียบวินัยสูง เชื่อฟังคำสั่งดี ตั้งใจทำงาน แต่สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) ในสามจังหวัด ยังมีที่พักที่ไม่สมบูรณ์แบบ โรงพักยังสร้างไม่เสร็จก็ยังมีอีก 11-12 แห่ง เช่น โรงพักท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา ยังไม่มีที่นอน ต้องไปผูกเปลนอนใต้ต้นไม้ ซึ่งนอกจากจะอันตรายแล้ว ยังเกี่ยวกับขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ตอนนี้กำลังแก้ไขในเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ ผบ.ตร.ที่ให้ดูแลตำรวจ เพราะเป็นพื้นที่พิเศษ
อีกสิ่งที่สำคัญคือ ต้องแสวงหาความร่วมมือประชาชนให้มากกว่านี้ ที่ผ่านมาประชาชนไม่ค่อยให้ความร่วมมือเพราะไม่มั่นใจในตัวเจ้าหน้าที่รัฐ
“ต้องยอมรับว่ากฎหมายต่างๆ ที่รัฐบาลส่งมาให้ใช้ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) แล้วก็ พ.ร.ก.อะไรต่างๆ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) เหล่านี้มันไม่เป็นที่ยอมรับ กฎอัยการศึกก็ยังใช้อยู่ แต่ว่าจะไม่ยอมรับ เช่น การมอบตัวเพื่อจะเข้าโครงการอบรมตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง เขาไม่ยอมรับ เขาไม่เอาหมาย พ.ร.ก. ทั้งที่ศาลเขาก็พิจารณาจากหลักฐานเยอะกว่าเขาจะออกหมาย พ.ร.ก.ให้ แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน” พล.ต.ท.เฉลิมพันธุ์ ระบุถึงปัญหา
ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหา ผบช.ศชต.บอกว่า ตำรวจจะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาไปที่คนรุ่นใหม่หรือเด็กในวัยเรียน เพราะจากการสำรวจพบว่าเด็กหรือคนรุ่นใหม่ไปเข้าเรียนต่ออะไรในเมืองไม่ค่อยได้ เนื่องจากจบจากโรงเรียนปอเนาะ จึงไม่มีวุฒิการศึกษาสายสามัญที่จะไปเข้ามหาวิทยาลัย ทาง ศชต.จึงได้ร่วมกับกองบัญชาการศึกษา (บช.ศ.) รับนักเรียนจากโรงเรียนปอเนอะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ ที่ผ่านมารับมาแล้วจำนวน 100 คน ทั้งหมดจะเรียนรวมกับนักเรียนที่สอบเข้าตามระบบอีก 900 คน รวมเป็น 1,000 คน ใช้เวลาเรียน 1 ปี ซึ่งทั้งหมดได้จบการศึกษาแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยในส่วนของตำรวจที่เป็นมุสลิมที่มาจากโรงเรียนปอเนอะจำนวน 100 คนนั้น ได้ให้กระจายไปอยู่ตามโรงพักต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นไปที่จังหวัดที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่เป็นหลัก
“ตำรวจจากโรงเรียนปอเนอะนั้นจะช่วยในเรื่องของการสื่อสารภาษามลายูท้องถิ่น และสามารถเข้ากับชาวบ้านได้ เชื่อว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่จะดึงชาวบ้านให้เข้ามามีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ เพราะพูดภาษาและมีวัฒนธรรมเดียวกัน ก็ดีกว่าปล่อยให้เรียนในปอเนอะแล้วไม่มีงานทำ เสี่ยงต่อการถูกชักจูงไปร่วมกับกลุ่มก่อความไม้สงบได้ง่าย” พล.ต.ท.เฉลิมพันธุ์ กล่าว และว่า กำลังร่วมมือกับ บช.ศ.เพื่ออบรมตำรวจรุ่นที่สอง โดยจะให้โอกาสให้กับเด็กนักเรียนที่มาจากโรงเรียนปอเนอะเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นจากความร่วมมือของชาวบ้าน
พล.ต.ท.เฉลิมพันธุ์ กล่าวด้วยว่า กำลังอยู่ระหว่างเพิ่มโครงการให้นักเรียนอาชีวะจากในพื้นที่สามจังหวัด และพื้นที่อื่นทั่วประเทศที่เรียนเกี่ยวกับช่างแขนงต่างๆให้เข้ามาเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจในพื้นที่ ศชต. โดยใช้เวลาฝึกอบรมเป็นตำรวจเป็นเวลา 1 ปีเช่นเดียวกับการอบรมนายสิบตำรวจทั่วไป เพราะในพื้นที่สามจังหวัดยังขาดช่างเฉพาะทางที่มีความรู้อีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นช่างยนต์ ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า หรือช่างคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ลงมาบรรจุเป็นตำรวจโรงพักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน่วยสนับสนุนการทำงานของฝ่ายปราบปราม ขณะนี้กำลังหารือกับ บช.ศ. คาดว่าจะนำเสนอ ผบ.ตร.ได้ในเร็วๆ นี้
พล.ต.ท.เฉลิมพันธุ์ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี และ ผบ.ตร.ได้เน้นย้ำให้รักษาความปลอดภัย 7 หัวเมืองหลัก โดยไม่ให้มีเหตุร้ายหรือเหตุระเบิดเกิดขึ้น เพราะเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ ประกอบด้วย เทศบาลนครยะลา, เทศบาลเมืองปัตตานี, เทศบาลเมืองนราธิวาส, เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส, เทศบาลเมืองเบตง จ.ยะลา, เทศบาลเมืองตากใบ จ.นราธิวาส และเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งทั้งหมดเป็นเขตชั้นในของแต่ละจังหวัด ปกติมีการตรวจตราที่เข้มงวดและมีความหนาแน่นของประชากรสูง หากเกิดเหตุจะทำให้เกิดความเสียหายมากเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ เพราะจะกระทบกับการท่องเที่ยวด้วย
ในส่วนของการหาข่าวเกี่ยวกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น พล.ต.ท.เฉลิมพันธุ์ กล่าวว่า จากข้อมูลการข่าวพบว่ากลุ่มก่อความไม่สงบยังคงมีการลักลอบฝึกอาวุธทั้งในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และเทือกเขาบูโด ในเขต อ.บันนังสตา อ.กรงปินัง อ.รามัน จ.ยะลา และ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส มีการเปิดโรงเรียนเป็นค่ายฝึกอาวุธ แต่ยากที่กำลังตำรวจ ทหารจะเข้าไปตรวจสอบ เพราะเป็นป่าดิบชื้น และกลุ่มพวกนี้มีการเคลื่อนย้ายพื้นที่ตลอดเวลา ตำรวจจึงเน้นไปที่การหาข่าวทางลับ และการเข้าถึงชาวบ้านให้มากที่สุด เพื่อป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ส่วนเรื่องการพูดคุยเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่นั้น ผบช.ศชต.มองว่า ยังไม่ใช่สัญญาณที่จะบอกว่าจะเกิดความสงบได้ในพื้นที่ โดยเฉพาะในตอนนี้เรายังไม่รู้ถึงเส้นทางการสนับสนุนทางการเงินที่แท้จริงที่ส่งให้กับขบวนการ อย่างไรก็ตาม อยากให้การแก้ปัญหาคิดนอกกรอบบ้าง ไม่ควรคิดกันแต่ในกรอบ เช่น การผลักดันให้ปัตตานีเป็นมรดกโลกในเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมแบบมุสลิมโบราณตามวิถีชาวบ้าน แต่เรื่องพวกนี้ก็ไม่เคยถูกผลักดันหรือนำเสนอ การแก้ปัญหาจึงต้องคุยกันก่อนให้ตกผลึก ตราบใดที่ยังไม่ตกผลึก ใครก็แก้ปัญหาไม่ได้ และจะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นต่อไป
ด้าน พล.ต.ต.อิทธิพล กล่าวในแนวทางเดียวกันว่า ได้กำหนดนโยบายให้เรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมา ให้มีความศรัทธาในตำรวจอีกครั้งหนึ่ง
“ผมเชื่อว่าตอนนี้แทบจะไม่เหลือแล้ว ผมจะเรียกความศรัทธาคืนมา จะทำอย่างไร เราต้องเดินเข้าถึงชาวบ้านและพัฒนา เราถึงจะเข้าใจเขาได้ ตำรวจต้องไปทำความรู้จัก ไปคุยกัน และผมก็ไปมาแล้ว”
เขากล่าวต่อว่า ช่วงสัปดาห์แรกของการทำงาน ได้เชิญเจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และผู้บริหารโรงเรียนของรัฐในเขตเทศบาลนครยะลามาประชุมร่วมกับตำรวจ โดยมาประชุมกันประมาณ 50 คน เพราะมองว่าตำรวจต้องเริ่มรู้ปัญหาตั้งแต่โรงเรียนก่อน เนื่องจากครูเป็นเป้าหมายอ่อนแอ จึงลูกเลือกเป็นเป้าหมายในการก่อเหตุ ไม่สามารถตอบโต้ได้ หลังจากนี้จะนัดพูดคุยกับเจ้าอาวาสวัดและผู้นำศาสนาในมัสยิดทั้งหมดที่เป็นเสาหลักของแก้ปัญหา และเป็นต้นทางที่จะทำให้ตำรวจเข้าถึงประชาชนได้
ในส่วนของการปรับแผนเพื่อรองรับเหตุรุนแรงในเขตเทศบาลซึ่งเป็นพื้นที่เฝ้าระวังนั้น พล.ต.ต.อิทธิพล บอกว่า ได้สั่งการให้ป้องกันในพื้นที่ ตั้งจุดตรวจจุดสกัด เมื่อเกิดเหตุต้องป้องกันให้คนนอกเข้าไม่ได้ คนในก็ออกไม่ได้ จากนั้นให้รถสายตรวจวิ่งให้ประชาชนรู้สึกว่าตำรวจไม่ได้หดหัวอยู่แต่ในที่ตั้ง ต่อไปนี้จะต้องจัดสายตรวจในลักษณะนี้ และบอกให้ประชาชนเข้าบ้านเพื่อกรองพื้นที่หาคนร้าย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการนำตัวผู้ต้องสงสัยไปซักถามนั้น ก็ต้องทำอย่างรอบคอบ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเอาตัวบุคคลไปซักถามเป็นเวลา 7 วันตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากบุคคลผู้นั้นไม่ผิดจริง ก็จะสร้างความโกรธแค้นให้กับชาวบ้าน กลายเป็นเรื่องความไม่เข้าใจกัน ดังนั้นการนำคนมาซักถาม ต้องทำด้วยความรอบคอบและควรรัดกุมมากกว่านี้
“ต้องยอมรับว่าคนบางคนเขาโดนแบบนี้จริงๆ เราก็ต้องไปดูว่าเขาโดนเพราะอะไร คนบางคนไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ซาอุฯ ก็โดนใบแดง โดนเรียกตัวมาซักถามจนเกือบจะตกเครื่อง ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เรื่องพวกนี้ต้องเอาประวัติมาพูดคุยกันใหม่ทั้งหมด ถึงจะแก้ปัญหาความห่างเหินระหว่างรัฐกับชาวบ้านได้” เขากล่าวทิ้งท้าย
ถือเป็นแนวทางที่หากปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ย่อมหมายถึงจุดเริ่มต้นของสันติสุขที่ทุกคนใฝ่หาอย่างแท้จริง!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) พล.ต.ท.เฉลิมพันธุ์ (ขวา) พล.ต.ต.อิทธิพล
* หมายเหตุ : วัสยศ งามขำ เป็นผู้สื่อข่าวสายตำรวจ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และอดีตผู้สื่อข่าวยุคก่อตั้งของศูนย์ข่าวอิศรา