ฝุ่นละอองไม่เกิน PM2.5 จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน คือ ภัยคุกคามสุขภาวะคนไทย
"... กฟผ. ไม่ควรจะด่วนสรุปว่ามลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้เป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพ(การเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร)!..."
กรณีการวิพากษ์รายงาน “ต้นทุนชีวิต: โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย” ในประเด็นผลกระทบสุขภาพจากถ่านหินผ่านสื่อต่าง ๆ และการที่ กฟผ. ยืนยันว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ. มีเทคโนโลยีทันสมัยและการควบคุมมลภาวะที่ดีกว่ามาตรฐานกฎหมาย รวมทั้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศทุกตัวอยู่ในเกณฑ์ดี จึงไม่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอย่างแน่นอน
กฟผ. ได้อ้างถึงเรื่องฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน แบบหลบเลี่ยงประเด็น โดยบอกว่า
"ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน(PM2.5) ซึ่งรายงานของ กรีนพีซระบุว่า หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพาจะทำให้เกิดมลภาวะแพร่กระจายข้ามจังหวัดหรือข้ามประเทศนั้น จากการที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ทั้ง 2 โครงการมีมาตรการควบคุม PM10 และ PM2.5 จากแหล่งผลิตตามมาตรฐานสากลโดยได้กำหนดไว้ในรายงาน EHIA ดังกล่าวมาแล้ว ประกอบกับการตรวจวัดค่าจริงในบรรยากาศรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินในปัจจุบันของ กฟผ. จึงมั่นใจได้ว่า โครงการทั้ง 2 จะไม่ทำให้เกิดมลภาวะแพร่กระจายตามแบบจำลองของกรีนพีซ...”
แท้ที่จริงแล้ว นอกจากฝุ่นละอองแขวนลอยรวม (Total Suspended Particulate Matters-TSP) ไม่มีที่ใดในรายงาน EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองที่อธิบายเรื่องการควบคุม PM2.5 และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจาก PM2.5 แม้แต่น้อย!
บทความนี้นำเสนอว่า ผลกระทบด้านสุขภาพจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่และมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ในอินเดีย การศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพของการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ระบุว่าร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนั้นเกี่ยวข้องฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่เป็นผลมาจากการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ การศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจาก PM2.5 ในแง่ของมลพิษที่กระจายในระยะทางไกลในสหรัฐอเมริกา การศึกษาการก่อตัวของ PM2.5 ขั้นทุติยภูมิอันเป็นสาเหตุของหมอดควันพิษในปักกิ่งของจีน ซึ่งมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีบทบาทสำคัญ การประเมินความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรกับมลพิษทางอากาศโดยวิทยาลัยสาธารณสุขศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งและกรีนพีซ เอเชียตะวันออก การศึกษาในไต้หวันกรณีการปล่อยมลพิษทางอากาศและ PM2.5 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลกและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า มลพิษทางอากาศสร้างความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด เส้นเลือดในสมองแตก โรคหัวใจและโรคทางเดินหายใจ และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของผู้คนในประเทศไทยและผู้คนนับล้านทั่วโลกทั้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษของแต่ละประเทศและและข้ามพรมแดน
รวมถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่า 3 ล้านรายต่อปี ดังนั้น ในปี 2553 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)ในบรรยากาศทั่วไปขึ้น การกำหนดค่ามาตรฐานดังกล่าวนี้เพื่อเพิ่มระดับการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยทั่วไป
การศึกษาโดยกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าจากการทบทวนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาทางด้านระบาดวิทยาทั้งในและต่างประเทศแสดงถึงความสัมพันธ์ของการได้รับ PM2.5 ในบรรยากาศกับผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย เช่น การตายก่อนเวลาอันควร การเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจและอาการระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน จะมีโอกาสเข้าสู่และค้างในระบบทางเดินหายใจส่วนปลายได้มากกว่าฝุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่าซึ่งการศึกษาทางระบาดวิทยาของประเทศไทยที่มีอยู่ก็พบผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพอนามัยในระดับใกล้เคียงกับที่พบในการศึกษาที่เมืองต่างๆ ทั่วโลก
กราฟแสดงการประมาณการปล่อยมลพิษทางอากาศ (หน่วยเป็นตันต่อปี) จากแหล่งกำเนิดมลพิษ
(ที่มา : รายงานพลังงานของประเทศไทย 2549-กระทรวงพลังงาน, รายงานโครงการติดตามและประเมินสถานการณ์การเผาในที่โล่งในพื้นที่การเกษตรของประเทศไทย 2548-กรมควบคุมมลพิษ, ระบบฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศและเสียงในประเทศไทย 2537-กรมควบคุมมลพิษ)
จากกราฟ แม้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นแหล่งกำเนิด PM2.5 เป็นลำดับรองจากการเผาในที่โล่งและการขนส่ง แต่การปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนต่อปีจากโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาแหล่งกำเนิดต่างๆ ซึ่งนำไปสู่เกิด PM2.5 จากกระบวนการทางเคมีในบรรยากาศที่มีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนเป็นสารตั้งต้น
รายงาน ต้นทุนชีวิต: โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย ใช้แบบจำลอง GEOS-Chem แสดงแบบแผนการกระจายตัวของมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเน้นศึกษาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ทั้งที่ปล่อยจากปล่อง(ปฐมภูมิ) และ PM2.5(ทุติยภูมิ) ที่เกิดจากกระบวนการทางเคมีในบรรยากาศที่มีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนเป็นสารตั้งต้น กลุ่มนักวิจัยมากกว่า 100 รายทั่วโลกนำแบบจำลอง GEOS-Chem ไปใช้อย่างแพร่หลายและดำเนินการภายใต้กลุ่มศึกษาแบบจำลองบรรยากาศของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด โดยมีศาสตราจารย์จาค็อปส์ผู้มีประสบการณ์สูงและเป็นที่ยอมรับในการสร้างแบบจำลององค์ประกอบบรรยากาศในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยประเมินจากการคาดการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพทั้งหมดจาก PM2.5 และใช้ฐานข้อมูลการศึกษาภาระโรคในระดับโลก (Global Burden of Disease)ที่ตีพิมพ์ในวารสารแลนเซ็ต(Lancet)ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก การประเมินผลกระทบพิจารณาถึงโครงสร้างอายุของประชากร อัตราการเสียชีวิตที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระดับมลพิษทางอากาศในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ แบบจำลอง GEOS-Chem จะคาดการณ์ระดับมลพิษทางอากาศทั้งหมดในแต่ละจุดพิกัดและสัดส่วนมลพิษที่เกิดจากการปล่อยมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผลลัพธ์ที่ได้จะแสดงขนาดผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศจากการคมนาคมขนส่งซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลกในปี พ.ศ. 2557 ก็ใช้ระเบียบวิธีนี้เช่นเดียวกัน รายละเอียดระเบียบวิธีการศึกษาดู ที่นี่
โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ แม้ว่าอุตสาหกรรมถ่านหินจะทุ่มเงินโฆษณาถ่านหินสะอาดและเทคโนโลยีการดักจับเพื่อลบล้างผลกระทบดังกล่าวและตัดตอนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเถ้าถ่านหิน แต่มลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินยังคงมีและไม่มีวันที่จะทำให้มลพิษเป็นศูนย์ได้ การศึกษาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก(PM2.5) จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน Manjung ที่ใช้เทคโนโลยี ultra super critical ในมาเลเซียและผลกระทบด้านสุขภาพ พบฝุ่นละอองที่ร่างกายรับเข้าไปจากการหายใจอย่าง PM2.5 ที่ปล่อยออกมีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนดโดย USEPA จากการวัดที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมและกรกฎาคม 2554 ในที่นี้ ต้องเข้าใจว่ามาเลเซียและทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยยังไม่มีค่ามาตรฐาน PM2.5 จากปลายปล่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ดังนั้น กฟผ. ไม่ควรจะด่วนสรุปว่ามลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้เป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพ(การเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร)!
จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญในการวางแผนการใช้พลังงานของประเทศที่ลดผลกระทบจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งผู้นำในประเทศแถบยุโรป อเมริกา จีนกำหนดมาตรการและนโยบายที่คุ้มครองสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงาน
ตัวเลขการประมาณอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำลังเดินเครื่องและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่รัฐบาลประกาศจะเดินหน้าทั้งหมดนั้นในรายงาน “ต้นทุนชีวิต: โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย” จึงเป็นสิ่งที่ผู้นำและผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายของประเทศไทยไม่ควรเพิกเฉยและต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะลุกขึ้นมาปกป้องประชาชนจากจากมลพิษทางอากาศของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เป็นภัยคุกคาม แทนที่จะคุ้มครองอุตสาหกรรมถ่านหิน รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่จะมีชีวิตอยู่ในอากาศสะอาดและสิ่งแวดล้อมที่ดี .