วิเคราะห์คำพิพากษาคดีเกาะเต่า เทียบข้อต่อสู้จำเลย-เหตุผลศาล
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่คำพิพากษาคดีฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านทางออนไลน์โดยศูนย์ประชาสัมพันธ์ศาลยุติธรรม
จะว่าไปแล้วตามธรรมเนียมของศาล คดีในศาลชั้นต้นโดยมากมักไม่ค่อยมีการเปิดเผยคำพิพากษาฉบับเต็มต่อสาธารณะ จะมีเฉพาะคู่ความเท่านั้นที่คัดคำพิพากษาได้ เพื่อประโยชน์ในการยื่นอุทธรณ์-ฎีกา
แต่สำหรับคดีเกาะเต่า มีทั้งคำพิพากษาฉบับย่อ ออกมาเป็นจดหมายข่าวของศาลจังหวัดเกาะสมุย และคำพิพากษาฉบับเต็มตามออกมา สะท้อนว่าคดีนี้ศาลเองก็รู้ดีว่ามีความอ่อนไหวและถูกตั้งคำถามมากมายขนาดไหน
การชุมนุมของชาวเมียนมาทั้งในประเทศของตนเองและในประเทศไทย จนกำลังบานปลายกลายเป็นประเด็นทางการเมือง คงเป็นคำตอบที่ดี
ทั้งนี้ เมื่อเอกซเรย์เนื้อหาในคำพิพากษาหลายตอน เป็นเหตุผลที่ศาลใช้ในการพิพากษาประหารชีวิตสองจำเลยชาวเมียนมา ซึ่งก็คือประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังตั้งคำถามจนนำมาสู่การชุมนุมประท้วงกันอยู่ในขณะนี้นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้จึงขอสรุปประเด็นจากคำพิพากษาความยาว 63 หน้า ซึ่งเป็นข้อต่อสู้ของจำเลย และกลายเป็นข้อสงสัยถึงความโปร่งใสในการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นสอบสวน เปรียบเทียบกับเหตุผลของศาลที่ได้จากคำให้การของพยานและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อให้สังคมได้รับรู้เหตุผลและที่มาที่ไปของคำพิพากษาคดีนี้
ประเด็นแรก กรณีตำรวจใช้ล่ามแปลภาษาที่ไม่เชี่ยวชาญภาษาพม่า และยังมีชาติพันธุ์เป็นปรปักษ์กับจำเลย
ประเด็นนี้ ศาลพิจารณาหลักฐานจากวีดีโอที่บันทึกไว้ระหว่างการสอบปากคำในชั้นตำรวจ และคำให้การของจำเลยเองหลายๆ ครั้ง พบว่าจำเลยกับล่าม 2 คนที่ใช้ในการแปลภาษา ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการสื่อสารระหว่างกัน และไม่ได้มีท่าทีขัดแย้ง หรือบังคับให้จำเลยรับสารภาพตามที่จำเลยอ้าง ขณะที่ภาษาที่ใช้ในการซักถาม ก็เป็นภาษาพม่ากลาง ซึ่งจำเลยก็ยอมรับเองว่าเป็นภาษาที่ตนเองใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ข้อต่อสู้นี้ตกไป
ประเด็นที่สอง กรณีผลตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม หรือ DNA บางตำแหน่งไม่ตรงกับ DNA ของจำเลย
ประเด็นนี้ ศาลชี้ว่าแม้ค่าของ DNA บางตำแหน่งไม่ตรงกับจำเลยก็จริง แต่ก็เฉพาะ DNA ที่พบบนร่างกายส่วนอื่นของนักท่องเที่ยวหญิงชาวอังกฤษ แต่ DNA ของน้ำคัดหลั่งที่พบในช่องคลอดและทวารหนักของผู้ตาย ตำแหน่งของ DNA รวม 16 ตำแหน่งที่เป็นสิ่งยืนยันอัตลักษณ์บุคคลนั้น ปรากฏว่าตรงกับจำเลยทั้ง 2 คนครบทั้ง 16 ตำแหน่ง อันเป็นมาตรฐานการยืนยันอัตลักษณ์บุคคลที่หน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยอมรับกันในทางสากล
ส่วนค่าของ DNA ที่ไม่ตรงกันบางตำแหน่งนั้น ศาลอ้างอิงคำให้การของ พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดย พญ.คุณหญิง พรทิพย์ นั้น เบิกความในฐานะพยานของฝ่ายจำเลย
ประเด็นที่สาม กรณีไม่พบ DNA ของจำเลยบนด้ามจอบที่คนร้ายใช้เป็นอาวุธสังหารสองนักท่องเที่ยว
ประเด็นนี้ ศาลอ้างเหตุผลจากคำให้การของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ และแพทย์จากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ว่ามีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้ไม่สามารถตรวจพบ DNA ของจำเลยบนด้ามจอบ เช่น ลักษณะฝ่ามืออาจแห้งหรือชื้น หรืออาจมีการนำจอบไปชำระล้างก่อนส่งตรวจ เป็นต้น
นอกจากนั้น ศาลยังใช้เหตุผลเชื่อมโยงจุดเกิดเหตุข่มขืนและฆ่าผู้ตาย กับจุดที่จำเลยนั่งอยู่ก่อนก่อเหตุ ซึ่งห่างกันประมาณ 60 เมตร และพบก้นบุหรี่บริเวณดังกล่าว เมื่อตรวจ DNA จากก้นบุหรี่ ก็พบ DNA ตรงกับของจำเลย ขณะที่จอบก็ถูกคนงานวางทิ้งไว้บริเวณนั้นอยู่แล้ว ฉะนั้นเมื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ก่อเหตุข่มขืนผู้ตาย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวสาวชาวอังกฤษ จึงมีความเป็นไปได้ตามหลักเหตุผลว่า จำเลยใช้จอบที่วางอยู่ใกล้ๆ ตัวเป็นอาวุธในการสังหารนักท่องเที่ยวหนุ่ม ก่อนลงมือข่มขืนนักท่องเที่ยวสาว แล้วจึงใช้จอบอันเดิมเป็นอาวุธในการฆ่าเหยื่อเพื่อปกปิดความผิด
ประเด็นที่สี่ กรณีจำเลยอ้างว่าถูกซ้อมทรมานในชั้นสอบสวน
ประเด็นนี้ ศาลมองว่าจำเลยไม่มีหลักฐานมานำสืบให้ชัดเจน มีเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ประกอบกับพฤติการณ์ของตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวนในคดี ก็ไม่ได้มีลักษณะของการพยายามยัดเยียดความผิดให้จำเลย เช่น ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อหาฆาตกรรมกับจำเลยทันทีหลังจับกุม ต่อเมื่อผลตรวจ DNA ปรากฏออกมาชัดเจนแล้ว จึงแจ้งข้อหา นอกจากนั้นตำรวจยังไม่ได้แจ้งข้อหากับ นายเมา เมา เพื่อนของจำเลย ที่นั่งอยู่ด้วยกันตรงจุดที่พบก้นบุหรี่ เนื่องจากในทางการสอบสวนไม่พบว่านายเมา เมา เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมและข่มขืน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ศาลจึงเชื่อว่าพนักงานสอบสวนปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้จงใจปรักปรำจำเลยโดยไม่สนใจพยานหลักฐาน
ประเด็นที่ห้า กรณีมีการนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ซึ่ง นายแอนดี้ ฮอลล์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติ อ้างว่านำไปให้ผู้เชี่ยวชาญที่ประเทศอังกฤษตรวจสอบ และยืนยันว่าบุคคลในภาพมีลักษณะไม่ตรงกับจำเลย
ประเด็นนี้ ศาลมองว่าเอกสารรายงานที่ นายแอนดี้ ฮอลล์ นำเสนอต่อศาล ไม่ใช่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญโดยตรง แต่เป็นลักษณะที่มีคนอื่นเขียน แล้วอ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาอีกที จึงเป็นได้แต่เพียงพยานบอกเล่าซึ่งมีน้ำหนักน้อย ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญตามอ้างก็ไม่มาเบิกความต่อศาลเพื่อให้โจทก์ได้ซักถามประเด็นต่างๆ ด้วย ทำให้ศาลต้องรับฟังพยานหลักฐานอย่างระมัดระวัง
ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นสำคัญๆ ที่มีการสืบพยานหักล้างกัน และเหตุผลที่ศาลให้น้ำหนัก จนนำมาสู่คำพิพากษาที่กำลังร้อนฉ่าอยู่ในปัจจุบัน!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เอกสารคำพิพากษาคดีเกาะเต่าที่มีการแผยแพร่
ที่มา : ลิงค์คำพิพากษา http://news.coj.go.th/document/28122015105131kao%20tao.pdf