กรณี 'เกาะเต่า' เรียนรู้ 'ความเปราะบาง' ที่ต้องรับมือ
"...ในเมื่อเรายกประเทศหนีหายจากกันไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยเฉพาะด้านแรงงานที่มีประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆหลายล้านคนเข้ามาอยู่ร่วมกับเรา..."
พรรคพวกในพม่าที่อยู่ใกล้ชิดศูนย์กลางอำนาจพรรคเอ็นแอลดีบอกว่า เอ็นแอลดีเองก็กำลังปวดหัวตึ๊บเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงของคนพม่ากลุ่มหนึ่งกรณีคำตัดสินคดีเกาะเต่า
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการผ่องถ่ายอำนาจในคณะผู้ปกครองประเทศพม่า สิ่งที่เอ็นแอลดีต้องการมากที่สุดคือ “ความนิ่ง”
ดังนั้นกรณีเกิดการประท้วงครั้งนี้ จึงไม่เป็นผลดีกับพวกเขานัก
แม้ก่อนหน้านี้มีสมาชิกบางส่วนออกมาเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับผู้ประท้วง แต่ตอนหลังก็ค่อยๆถอยฉาก ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงต้องเดินขบวนไปหน้าบ้านอองซานซูจี
“คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดจากกรณีที่เกิดขึ้นคือฝ่ายทหารพม่า เพราะเมื่อไม่กี่วันก่อนเกิดเหตุการณ์เหมืองหยกถล่มที่รัฐคะฉิ่น ซึ่งนักข่าวกำลังขุดคุ้ยกรณีมีผู้นำทางทหารหลายคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแห่งนี้ และอีกประเด็นที่มีการพูดกันมากคือกรณีที่นักศึกษาจำนวนหนึ่งถูกคุมขังหลังจากออกมาเดินขบวนคัดค้านการออกกฎหมายด้านศึกษา พอเกิดข่าวกรณีเกาะเต่า ทำให้เรื่องราวทั้งสองถูกกลบกลืนไป”
เขาวิเคราะห์ไว้น่าสนใจ เป็นเหตุผลที่ผมเองก็คล้อยตามอยู่พอสมควร
สิ่งที่พรรคพวกในพม่าวิเคราะห์มีหลายประเด็นที่ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงที่ผมไปเดินเมียงๆมองๆแถวด่านแม่สายเมื่อวันก่อน
การเดินขบวนประท้วงของคนกลุ่มหนึ่งที่ท่าขี้เหล็กเมื่อวันก่อน ซึ่งน่าจะสรุปได้ว่าเป็นชาวพม่าที่ย้ายมาอยู่ท่าขี้เหล็ก(เพื่อนชาวไทใหญ่ว่างั้น) น่าจะได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลพม่า เพราะมีการอำนวยความสะดวกกันด้วยดีโดยในพื้นที่ชายแดนเช่นนี้ หากไม่ได้รับไฟเขียวจากผู้บริหารรัฐท้องถิ่นหรือรัฐบาลกลาง คงไม่มีใครกล้าทำ
ระยะหลังรัฐบาลพม่ามีนโยบาย “ขนคน”ที่เป็นคนพม่าแท้ๆให้เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองชายแดนโดยเฉพาะพื้นที่รัฐต่างๆของกลุ่มชาติพันธุ์
ผมเชื่อว่าลำพังคนไทใหญ่(ท่าขี้เหล็กอยู่ในเขตรัฐฉาน) เขาคงไม่ประท้วงรัฐไทยในลักษณะนี้แน่เพราะดูตื้นเขินมากในข้อเรียกร้อง เช่น การยื่นคำขาดใน 15 วัน ที่สำคัญคือชาวไทใหญ่ยังถูกทหารพม่ายิงถล่มอย่างหนักทางตอนเหนือ จนประชาชนต้องทุกข์ยากแสนสาหัส มีหรือจู่ๆจะไปเออออกับคนพม่า
เราต้องไม่ลืมว่าในประเทศพม่ามีความซับซ้อนเรื่องชาติพันธุ์มาก แต่บางครั้งพอเราหยิบยกคำว่า“คนพม่า”แบบเหมารวม ทำให้มองอะไรผิดๆพลาดๆอยู่เรื่อยๆ เช่น บอกว่าชายคนนั้นเป็น “แรงงานพม่า” ทั้งๆที่เขาอาจเป็นคนไทใหญ่ คนกะเหรี่ยง คนมอญ ฯลฯ แม้ภาษาทางการอาจถูกต้อง แต่ในความรู้สึทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตแล้ว มันไม่ใช่
การชุมนุมประท้วงของคนพม่าที่ท่าขี้เหล็กของรัฐฉาน หรือที่ตรงข้ามด่านเจดีย์สามองค์ ในรัฐมอญ ทำให้ผมรู้สึกมึนๆงงๆตั้งแต่วันแรกๆ ยิ่งมีข่าวว่าพรรคเอ็นแอลดีเข้าไปผสมโรงด้วย ยิ่งมึนเข้าไปใหญ่ เพราะหาโจทย์ที่แท้จริงไม่เจอ แต่พอฝุ่นเริ่มหายตลบ ทำให้ภาพต่างๆค่อยๆชัดขึ้น
ผมคิดว่าแทนที่รัฐบาลไทย จะเอื้อมือเข้าไปผสมโรงให้เกิดความเกลียดชังเพิ่มขึ้น เหมือนที่บิ๊กบางคนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาให้ข่าวทำนองว่า “ปี 2558 มีคดีที่ชาวพม่าทำผิดข้อฆ่าคนตายในไทย 126 คดี ทำไมไม่ประท้วง” (http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx…) ก็น่าจะใช้โอกาสนี้เรียนรู้และทำความเข้าใจสถานการณ์ในพม่าจะดีกว่า
เพราะถือว่ากรณีนี้เป็น “หินลองทอง”ทางความรู้สึกได้ดีทีเดียว
ในเมื่อเรายกประเทศหนีหายจากกันไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยเฉพาะด้านแรงงานที่มีประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆหลายล้านคนเข้ามาอยู่ร่วมกับเรา
ขณะเดียวกันแทนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะออกมาตั้งคำถามกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยและออกมาชุมนุมประท้วง ก็น่าจะตั้งคำถามใหญ่ๆกับตัวเองดูบ้างว่า “ทำไมแรงงานข้ามชาติ”ถึงรู้สึกกับตำรวจไทยเช่นนี้ และ ตำรวจไทยเองรู้สึกหรือเห็นแรงงานข้ามชาติเหมือนมนุษย์ทั่วไปหรือไม่
สิทธิเสรีภาพในพม่ากำลังเบ่งบาน เพราะฉะนั้นหลายสิ่งอย่างอย่างที่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบและกดเก็บเอาไว้ ย่อมประทุออกมาให้เห็นเป็นระลอกๆ
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราควรเร่งปรับปรุงหรือบางเรื่องถึงขนาดต้องยกเครื่องกันเชียว เพื่อรับมือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในพม่า
มิฉะนั้นความรู้สึก “เปราะบาง”จะถูกนำมาหยิบยกเป็นเครื่องมมือทำร้ายกันได้
-----------
ขอบคุณภาพประท้วงเมื่อวันก่อน จากหนังสือพิมพ์พม่า 7DayDaily