จ่อครบ12ปีไฟใต้ โรงเรียนถูกเผา325แห่ง!
ใกล้สิ้นปี 2558 แล้ว สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังดำเนินมาครบ 12 ปี นับจากวันที่ 4 ม.ค.2547
เหตุรุนแรงประเภทหนึ่งที่เกิดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 47 จนถึงปัจจุบัน คือ เหตุเผาโรงเรียน แม้ระยะหลังเหตุการณ์ลักษณะนี้จะลดน้อยลงไปบ้าง แต่ก็ยังมีปรากฏอยู่ประปราย
จากสถิติที่เก็บรวบรวมโดยกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับฝ่ายความมั่นคง พบว่า การก่อเหตุวางเพลิงเผาโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ จ.สงขลา ตั้งแต่ปี 2547 ถึงสิ้นเดือน ก.ค.2558 เกิดขึ้นทั้งสิ้น 325 โรงเรียน เป็นคดีความมั่นคง จำนวน 314 โรงเรียน ที่เหลือเป็นคดีอาชญากรรมทั่วไปจำนวน 11 โรงเรียน
ในส่วนของการวางเพลิงเผาโรงเรียนที่เจ้าหน้าที่รับเป็นคดีความมั่นคง จำนวน 314 โรงเรียนนั้น แยกเป็นจังหวัด จ.ยะลา 81 โรงเรียน จ.ปัตตานี 133 โรงเรียน จ.นราธิวาส 83 โรงเรียน และ จ.สงขลา 17 โรงเรียน
เหตุลอบวางเพลิงเผาโรงเรียน รวมแล้ว 325 แห่งนั้น นับว่าเป็นจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 ของโรงเรียนรัฐทั้งหมดในพื้นที่ (โรงเรียนของรัฐมักตกเป็นเป้าหมายของการเผาโรงเรียน) เพราะข้อมูลที่ศูนย์ข่าวอิศราเคยรวบรวมเอาไว้ ในพื้นที่ชายแดนใต้มีโรงเรียนของรัฐ หรือโรงเรียนสายสามัญในระดับประถมศึกษา ทั้งสิ้น 876 แห่ง ระดับชั้นมัธยมศึกษาอีก 56 แห่ง รวมเป็น 932 แห่ง
ขณะที่เหตุลอบวางเพลิงทุกประเภทจากสถิติที่รวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต.ตั้งแต่เดือน ม.ค.2557นับถึงวันที่ 20 พ.ย.2558 รวมทั้งสิ้น 1,647 ครั้ง
เหตุลอบวางเพลิงเผาโรงเรียนในห้วง 2 ปีหลังมานี้ ที่เป็นข่าวใหญ่ที่สุด และมีจำนวนโรงเรียนถูกเผามากที่สุด คือเหตุเผาโรงเรียนพร้อมกัน 6 แห่งใน อ.ทุ่งยางแดง และ อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2557 ได้แก่ โรงเรียนบ้านน้ำดำ, โรงเรียนบ้านปากู, โรงเรียนบ้านเขาดิน, โรงเรียนบ้านมะนังยง, โรงเรียนบ้านตือเบาะ และโรงเรียนบ้านกาเสาะ
เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่นโยบายใหม่ของภาครัฐและฝ่ายความมั่นคง คือ "ทุ่งยางแดงโมเดล" โดยใช้กองกำลังประจำถิ่น จับมือกับภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ร่วมกันดูแลพื้นที่โรงเรียน ซึ่งผลการดำเนินการพบว่าประสบความสำเร็จด้วยดี นับจากนั้นแทบไม่มีโรงเรียนถูกเผา
เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2558 พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ลงพื้นที่เพื่อมอบอาคารเรียนทดแทนให้กับโรงเรียนที่ถูกลอบวางเพลิงทั้ง 6 แห่ง ซึ่งจัดสร้างโดยกองพลทหารราบที่ 15 และกองพันทหารช่างที่ 15 ใช้งบประมาณการก่อสร้างจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกองทัพบก รวม 43,848,927 บาท ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้มีสถานศึกษาและสถานที่สำหรับเล่าเรียน
เม็ดเงินงบประมาณที่ต้องจ่ายให้กับการซ่อมสร้างอาคารเรียนที่ถูกเผาเพียง 6 แห่ง จำนวนถึง 43.8 ล้านบาท คงพอคำนวณได้ถึงต้นทุนที่ทุกฝ่ายต้องสูญเสียไปกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการวางเพลิงเผาโรงเรียนกว่า 300 แห่งตลอดเกือบ 12 ปีที่ผ่านมา
นี่ยังไม่นับความสูญเสียในแง่โอกาสทางการศึกษาของเด็กๆ และเยาวชนพื้นที่ ซึ่งมิอาจประเมินค่าได้!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ป้ายหน้าโรงเรียนบ้านเกาะตา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งถูกวางเพลิงเผาเมื่อเดือน ก.พ.2556
อ่านประกอบ : การศึกษาชายแดนใต้วิกฤติ จบ ป.3 อ่านไม่ออก33% นร.นับแสนไม่ได้ต่ออุดมศึกษา