- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- การศึกษาชายแดนใต้วิกฤติ จบ ป.3 อ่านไม่ออก33% นร.นับแสนไม่ได้ต่ออุดมศึกษา
การศึกษาชายแดนใต้วิกฤติ จบ ป.3 อ่านไม่ออก33% นร.นับแสนไม่ได้ต่ออุดมศึกษา
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งวงถกวิกฤติการศึกษาชายแดนใต้ พบปัญหานักเรียนตกหล่น-หายจากระบบเพียบ เผยตัวเลขเด็กมัธยม 2 แสน แต่ต่ออุดมศึกษาแค่ 3 หมื่น ว่างงานพุ่งหวั่นเข้าวงจรป่วนใต้-ค้ายา ขณะที่ผลสัมฤทธิ์การศึกษาต่ำ จบ ป.3 อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ คะแนนโอเน็ต ม.6 รูดทุกวิชา ด้านผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่รวมตัวยื่นข้อเรียกร้องรัฐร่วมพัฒนาระบบการเรียนการสอน ดูแลสวัสดิการครู มุ่งสู่อาเซียน
ระบบการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อยู่ในภาวะวิกฤติมาโดยตลอด ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ 1 ทศวรรษ โดยเฉพาะในแง่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่อยู่ในลำดับรั้งท้ายของประเทศ มีอัตราการออกกลางคันและตกหล่นของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานค่อนข้างสูง ขณะที่มีอัตราการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
ประกอบกับระบบการศึกษาในพื้นที่นี้มีความแตกต่างจากภูมิภาคอื่นของประเทศ อันสืบเนื่องมาจากความแตกต่างทางด้านศาสนา ภาษา และวิถีวัฒนธรรม โดยเฉพาะการมีสถาบันการศึกษาตามวิถีอิสลาม ซึ่งประชาชนในพื้นที่นิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียน ทว่าสถาบันการศึกษาเหล่านี้ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากกลับไม่มีความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร อาการสถานที่ และงบประมาณ
ในการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่เมื่อวันพุธที่ 7 พ.ย.2555 ได้มีการนำข้อมูลตัวเลขที่เป็นข้อห่วงใยของหลายฝ่ายมาหารือร่วมกันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาโดยด่วน
นักเรียนนับแสนไม่ได้ต่ออุดมศึกษา
สำหรับระบบการศึกษาเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และข้อมูลจำนวนนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น มีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้
ระดับก่อนประถมศึกษา (อายุ 3-5 ปี) มีสถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบ คือ ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ประจำมัสยิด, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก, ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด และโรงเรียนของรัฐและเอกชน
ระดับประถมศึกษา (อายุ 6-11 ปี) มีสถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบคือ โรงเรียนของรัฐ 876 แห่ง นักเรียน 222,186 คน, โรงเรียนเอกชน 59 แห่ง นักเรียน 31,346 คน รวมโรงเรียนของรัฐและเอกชนในระดับประถมศึกษามีทั้งสิ้น 935 แห่ง นักเรียน 253,532 คน
นอกจากนั้นยังมีศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด หรือตาดีกา จำนวน 1,666 แห่ง นักเรียน 176,395 คน (ในจำนวนนี้ซ้อนทับกับเด็กที่เรียนในระบบโรงเรียนตามปกติด้วย เพราะตาดีกาสอนตอนเย็นและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์) กับสถาบันปอเนาะ จำนวน 375 แห่ง นักเรียน 34,394 คน
ระดับมัธยมศึกษา (12-18 ปี) มีสถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบ คือ โรงเรียนของรัฐ (สายสามัญ) จำนวน 56 แห่ง นักเรียน 31,346 คน, โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สอนทั้งศาสนาควบคู่สามัญ จำนวน 158 แห่ง นักเรียน 129,784 คน และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สอนศาสนาอย่างเดียว จำนวน 44 แห่ง นักเรียน 3,700 คน
ทั้งนี้เด็กที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาแล้ว มีบางส่วนที่เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน สถาบันอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงวิทยาลัยชุมชน ซึ่งกลุ่มนี้มีนักศึกษารวมทั้งสิ้นเพียง 36,541 คน จากนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่มีอยู่ถึง 164,830 คน (ไม่รวม ปวช.)
ไปนอก 1.1 หมื่น-ออกกลางคันกว่า 3 พัน
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พบว่า เด็กที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาแล้ว มีบางส่วนเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ จำนวน 9,000 ถึง 11,000 คน และยังมีบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาภาคปกติ แต่ไปศึกษาในระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จำนวน 38,766 คน
เมื่อพิจารณาตัวเลขในภาพรวมของแต่ละช่วงชั้น พบว่า ในระดับประถมศึกษา มีนักเรียนศึกษาอยู่ในระบบทั้งสิ้น 253,532 คน ระดับมัธยมศึกษา และ ปวช. จำนวน 209,017 คน แต่มีผู้ที่มีโอกาสศึกษาต่อใน ระดับปริญญาตรีและ ปวส. เพียง 36,541 คน โดยที่มีนักเรียนจำนวนประมาณ 9,000-11,000 คน ที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน เยเมน คูเวต เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อนำตัวเลขนักเรียนที่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี และ ปวส. มารวมกับนักเรียนที่เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ แล้วหักลบกับจำนวนนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา จะพบว่ามีเด็กนักเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามากถึง 161,476 คน (ตัวเลขภาพรวมทั้งระบบ ไม่ได้คิดแยกรายปี)
นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาตัวเลขอัตราการออกกลางคันและตกหล่นของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รวม จ.สตูล และสงขลา) มียอดรวมของเด็กในกลุ่มนี้ร้อยละ 1.43 คิดเป็นตัวเลขกลมๆ ราว 3,000 คน
ป.3 อ่านไม่ออก33%-โอเน็ตม.6ต่ำทุกวิชา
ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาผลสัมฤทธิ์ทาง การศึกษา ยังพบว่า เด็กที่จบช่วงชั้นที่ 1 หรือระดับประถมศึกษาปีที่ 3 ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ คิดเป็นร้อยละ 33.72 (เฉลี่ยทั้ง 3 จังหวัด)
ส่วนคะแนนสอบโอเน็ต (การสอบวัดผลทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ใน 5 วิชาหลัก ปีการศึกษา 2554 พบว่านักเรียนจากโรงเรียนทั้งของรัฐและเอกชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของทั้งประเทศทุกวิชา ได้แก่
ภาษาไทย ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 41.88 โรงเรียนรัฐที่ชายแดนใต้ได้ 40.12 โรงเรียนเอกชน 33.44
คณิตศาสตร์ ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 22.73 โรงเรียนรัฐที่ชายแดนใต้ได้ 20.98 โรงเรียนเอกชน 17.15
วิทยาศาสตร์ ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 27.90 โรงเรียนรัฐที่ชายแดนใต้ได้ 26.71 โรงเรียนเอกชน 23.70
สังคม ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 33.39 โรงเรียนรัฐที่ชายแดนใต้ได้ 32.76 โรงเรียนเอกชน 29.82
ภาษาอังกฤษ ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 21.80 โรงเรียนรัฐที่ชายแดนใต้ได้ 20.11 โรงเรียนเอกชน 16.92
ว่างงานพุ่งหวั่นเข้ากลุ่มป่วนใต้-ค้ายา
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะมีเด็กหายไปจากระบบการศึกษาจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับแล้ว แต่ไม่ได้ศึกษาต่อ ส่งผลให้ตัวเลขการว่างงานในพื้นที่ ค่อนข้างสูง แต่แรงงานบางสาขากลับขาดแคลน เช่น ช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง ช่างเคาะพ่นสีรถยนต์ ช่างเครื่องเย็น เป็นต้น
ข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงระบุว่า เยาวชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจถูกชักจูงจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีให้เข้าสู่ขบวนการก่อความไม่สงบ หรือร่วมอยู่ในวงจรธุรกิจมืดต่างๆ โดยเฉพาะขบวนการค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน และสินค้าเถื่อน
นายอับดุลอาซิส ยานยา ประธานสมาคมสถาบันปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สาเหตุที่เด็กหายไปจากระบบการศึกษาจำนวนมาก เพราะพ่อแม่ไม่มีความรู้ หรือไม่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะส่งเสียให้เรียนต่อ เด็กส่วนใหญ่จบ ม.3 หรือ ม.6 แล้ว ครอบครัวก็จะส่งไปทำงานที่มาเลเซีย ขณะที่เด็กอีกจำนวนหนึ่งก็ว่างงานอยู่บ้าน ไม่ได้ทำอะไร ทุกวันนี้ยาเสพติดระบาดอย่างหนัก ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งติดยาและออกจากระบบโรงเรียนเองก็มี พ่อแม่ก็ไม่สามารถบังคับได้
ขณะที่ นางอังคณา หนูคง ผู้อำนวยการโรงเรียนจ้องฮั้ว โรงเรียนเอกชนใน อ.เมือง จ.ปัตตานี กล่าวว่า เด็กในพื้นที่จำนวนมากเลือกที่จะอยู่บ้านมากกว่าเข้าสู่ระบบโรงเรียน เพราะผู้ปกครองจำนวนหนึ่งไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการศึกษาเท่าที่ควร นอกจากนั้นปัญหาความไม่สงบยังทำให้โรงเรียนขาดแคลนบุคลากร และส่งผลกับสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนอย่างมาก
ประกอบกับภาครัฐก็เปิดรับข้าราชการหรือพนักงานราชการค่อนข้างบ่อย ทำให้ครูโรงเรียนเอกชนที่อยากมีรายได้มั่นคงพากันลาออกไปสมัครเป็นพนักงานราชการ ส่งผลให้โรงเรียนเอกชนขาดแคลนครู หรือต้องรับครูใหม่ตลอด เด็กก็ต้องปรับตัว ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาตกต่ำ
"ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ความเชื่อมั่นของผู้ปกครองต่อระบบโรงเรียนเอกชนก็จะลดลง ยิ่งส่งผลให้ปัญหารุนแรงหนักขึ้น" นางอังคณา ระบุ
เปิดข้อเรียกร้องปอเนาะ-ตาดีกา-เอกชน
สำหรับแนวทางการพัฒนาสถาบันการศึกษาเอกชนในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น เมื่อวันพุธที่ 7 พ.ย.2555 นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ศธ. พร้อมด้วย นายสมชาย เสียงหลาย ปลัด วธ. ได้เดินทางไปร่วมประชุมและมอบนโยบายการขับเคลื่อนสถาบันการศึกษาเอกชน สถาบันปอเนาะ และศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างสังคมสันติสุข ที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมีโต๊ะครู อุสตาซ ผู้บริหารสถาบันการศึกษาเอกชน สถาบันปอเนาะ และตาดีกา เข้าร่วมประชุมกว่า 1 พันคน
ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ได้รวบรวมสภาพปัญหาและโครงการที่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ อันเป็นผลจากการประชุมระดมความเห็นกันมาแล้วหลายครั้งโดยมี ศอ.บต.เป็นองค์กรประสานงาน โดยสามารถสรุปข้อเรียกร้องที่เสนอให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ดังนี้
สถาบันการศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุน 9 ข้อ คือ 1.โครงการให้การอุดหนุนแก่ครูผู้สอนอิสลามศึกษา 2.โครงการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือผู้อำนวยการและครู 3.โครงการพัฒนายกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในรายวิชาหลัก วิทย์ คณิต ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ 4.โครงการนิเทศก์ ประเมินผลการพัฒนาการศึกษา
5.โครงการพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ 6.โครงการติวเข้มยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและพัฒนาเยาวชนสู่ความเป็นเลิศ 7.โครงการค่ายเสริมสร้างปัญญาพัฒนาสู่อาเซียน 8.โครงการมหกรรมวิชาการดอกดาหลาบานจากปลายด้ามขวานชายแดนใต้ และ 9.โครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาการศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนสถาบันปอเนาะ ขอให้รัฐบาลสนับสนุน 3 ข้อ คือ 1.ปรับค่าตอบแทนโต๊ะครู จากเดือนละ 3 พันบาทเป็น 5 พัน และผู้ช่วยโต๊ะครูจากเดือนละ 2 พันบาทเป็น 3 พันบาท 2.ปรับแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์และความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ 3.ปรับแก้ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ โดยไม่ต้องจำกัดว่าผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนต้องมีสัญชาติไทย ทั้งนี้เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน
ขณะที่โรงเรียนตาดีกา ขอให้รัฐบาลสนับสนุน 6 ข้อ คือ 1.โครงการปรับปรุงแก้ไขระเบียบขอจดทะเบียนตาดีกา 2.โครงการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน 3.โครงการพัฒนาหลักสูตรอิสลามให้เป็นเอกภาพ 4.จัดตั้งกองทุนสวัสดิการผู้บริหารและผู้สอน 5.พัฒนาผู้สอนในตาดีกา และ 6.อุดหนุนด้านกายภาพ
ศธ.รับข้อเสนอ-ขึ้นค่าตอบแทน"ขั้นบันได"
นางพนิตา กล่าวภายหลังรับข้อเรียกร้องจากกลุ่มผู้บริหารสถาบันการศึกษาในพื้นที่ว่า สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาคุณภาพ การศึกษาของ ศธ. โดยข้อเรียกร้องบางข้อ บางโครงการ มีอยู่แล้วในงบประมาณปี 2556 ก็จะกลับไปพิจารณา หากงบไม่พอก็จะขอเพิ่มเติมใหม่ ส่วนโครงการบางโครงการที่ยังไม่มีในแผนงานปี 2556 ก็จะนำไปใส่ไว้ในแผนงานปี 2557 ส่วนค่าตอบแทนโต๊ะครูและผู้ช่วยโต๊ะครูของสถาบันปอเนาะนั้น อยากขอให้ขึ้นเป็นขั้นบันไดมากกว่า
นางพนิตา กล่าวต่อว่า ก่อนเดินทางลงพื้นที่ ได้เข้าหารือกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยนายกฯได้ฝากข้อห่วงใยมา 4 ข้อโดยขอให้ทั้ง ศธ. และ วธ.ช่วยกันดำเนินการแก้ไขปัญหา ได้แก่
1.ดูแลปัญหายาเสพติด อบายมุขในหมู่เยาวชน เด็กติดเกม และการตั้งครรภ์ในวัยเรียน
2.พิจารณาเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น เปิดพื้นที่ให้ผู้รู้ คนเฒ่าคนแก่ได้สอนลูกหลาน
3.เรื่องกองทุนพัฒนาสตรี เปิดให้เด็กอายุ 15 ปีเข้าเป็นสมาชิก เพื่อให้สามารถมีทุนไปหาความรู้หรือประกอบอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง
และ 4.บรรจุเรื่องบทบาทหน้าที่ของชายและหญิงเข้าในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน
ทุ่ม 300 ล้านพัฒนาการศึกษาชายแดนใต้
นางพนิตา กล่าวอีกว่า สำหรับงบพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา มีอยู่แล้ว 12 ล้านบาท รวมถึงงบการจัดตั้งศูนย์พัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อยกระดับการศึกษาอีก 1,180 ล้านบาทด้วย โดยงบประมาณในส่วนนี้พร้อมดำเนินการได้เลย
จากการตรวจสอบเอกสารงบประมาณของ ศธ.ยังพบว่ามีการจัดงบประมาณของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2556 ดังนี้
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 20 โครงการ งบประมาณ 196.293 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา เอกชน (สช.) 7 โครงการ งบประมาณ 43.9 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) 7 โครงการ งบประมาณ 36.202 ล้านบาท รวมเฉพาะปีงบประมาณ 2556 จำนวน 34 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 276.395 ล้านบาท โดยโครงการที่สำคัญ เช่น โรงเรียนประถมมัธยมศึกษาคุณภาพระดับอำเภอ, พัฒนาการเรียนรู้แบบสองภาษาไทย-มลายู, พัฒนาเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษ เป็นต้น
ส่วนในปีงบประมาณ 2557 ได้วางกรอบงบเพื่อรองรับยุทธศาสตร์การพัมนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้เอาไว้ดังนี้ สพฐ. จำนวน 20 โครงการ งบประมาณ 404.25 ล้านบาท สช. จำนวน 7 โครงการ งบประมาณ 61.1 ล้านบาท และสกอ.จำนวน 10 โครงการ งบประมาณ 163.5 ล้านบาท รวมทั้งหมด 37 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 628.85 ล้านบาท
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กราฟฟิกแสดงตัวเลขนักเรียนที่หายไปจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในพื้นที่
ชายแดนใต้
2-4 บรรยากาศการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารสถานศึกษา ทั้งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ตาดีกา และสถาบันปอเนาะ กับผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว อ.เมืองปัตตานี (ภาพทั้งหมดโดย นาซือเราะ เจะฮะ)
ขอบคุณ : ฝ่ายศิลป์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เอื้อเฟื้อภาพกราฟฟิก
หมายเหตุ : บางส่วนของรายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 8 พ.ย.2555