ปีหน้าสามจังหวัดใต้จะสงบแล้ว...
ช่วงนี้มีหลายคนพูดตรงกันว่าไฟใต้กำลังจะดับ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสงบและสันติสุขในปีหน้า
ไม่รู้แต่ละคนที่พูด นัดหมายกันมาก่อนหรือไม่ ถ้าไม่..ก็ถือเป็นความบังเอิญ และความมั่นใจที่แปลกดี
จะว่าไปคนแรกที่ออกมาพูดและสร้างกระแสนี้ คือ ท่านภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ทั้งจัดกิจกรรมและพูดออกรายการ คสช.ทางโทรทัศน์หลังเคารพธงชาติ
กระแสที่ท่านภาณุ ปูพรมมาระยะหนึ่ง ได้รับการตอกย้ำจากผู้กุมนโยบายระดับรัฐบาลอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านพูดเอาไว้ระหว่างการแถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาลและ คสช. เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา
พล.อ.ประวิตร พูดเอาไว้แบบนี้ "ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 47 ปีที่แล้วเรามีนโยบายต่างๆ ที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเราพบว่าปัญหาต่างๆ ลดลงถึงเกือบ 50% ผมได้ให้แนวทางแก่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ว่าปี 59 ถ้าเป็นไปได้ คนที่ไม่เข้าใจรัฐบาล ไม่เข้าใจในประวัติศาสตร์ ไม่เข้าใจในเรื่องศาสนา ถ้าจะกลับ สามารถกลับเข้ามาได้ โดยเราสามารถที่จะทำให้ในปี 59 อาจยุติในเรื่องของการสู้รบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ ซึ่งทางทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ศาล และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เขาจะร่วมมือกันเพื่อทำให้ได้"
ฟังจาก พล.อ.ประวิตร แล้ว ความมั่นใจของท่านที่ว่าไฟใต้จะสงบในปีหน้า ไม่ใช่เรื่องการเจรจา หรือพูดคุยสันติสุข แต่เป็นโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ซึ่งเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร นำคณะนายทหาร นายตำรวจเดินทางลงพื้นที่ ก็ได้ไปพบปะกับ "คนกลับบ้าน" หรือกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ยอมเข้าแสดงตัวกับรัฐเพื่อต่อสู้คดีหรือแสดงความบริสุทธิ์ใจ ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ด้วย
ตัวเลข "คนกลับบ้าน" ล่าสุดที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) รายงานไปยัง พล.อ.ประวิตร คือกว่า 3 พันคนแล้ว ทั้งๆ ที่ตัวเลขเมื่อปลายปี 2556 ยังไม่ถึง 1 พันคน ถ้าเป็นตัวเลขจริงก็แสดงว่าสถานการณ์ดีขึ้น ความมั่นใจในเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
แต่เรื่องนี้จะจริงแท้ หรือจริงโฆษณา ยังต้องตามดูกันต่อไป เพราะในจำนวน "คนกลับบ้าน" ที่เดินทางไปร่วมกิจกรรมพบปะท่านประวิตรในวันนั้น ก็ยังมีบางส่วนไม่ได้เข้าร่วมโครงการจริงๆ แต่ถูกเกณฑ์ไป โดยจ่ายเบี้ยเลี้ยงหัวละ 200 บาท
เอ้า! ย้อนกลับมาที่ประเด็นสามจังหวัดใต้จะสงบปีหน้ากันต่อดีกว่า หากพิจารณาจากคำพูดของ พล.อ.ประวิตร ก็จะพบว่าความมั่นใจมาจากโครงการ "พาคนกลับบ้าน" อย่างชัดเจน แต่เมื่อนักข่าวไปถาม ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษาของ พล.อ.ประวิตร ก็ได้รับการขยายความในมิติที่กว้างขึ้น
ดร.ปณิธาน บอกว่า การพูดว่าภาคใต้จะสงบ เป็นเป้าหมายที่วางไว้ โดยขณะนี้มีปัจจัยในทางบวกทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงที่ลดลง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ และเริ่มจัดระบบงบประมาณแบบรวมศูนย์ได้
อีกทั้งกฎหมายมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) ที่มีเงื่อนไขให้ผู้เห็นต่างกลับเข้าสู่กระบวนการทำงานร่วมกันยากนั้น ขณะนี้มีข้อเสนอใหม่ ๆ ทำให้มีผู้กลับใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตัวเลขตอนนี้มีผู้กลับเข้ามาประมาณเกือบ 2 พันคน (แต่ในงานที่หาดใหญ่ อ้างตัวเลขถึง 3 คนแล้ว) แต่เราก็ต้องทำงานหนัก หากมีผู้กลับเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ก็ถือว่ามีโอกาสที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าได้
ประกอบกับขณะนี้มีกระบวนการพูดคุยกับผู้เห็นต่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าน่าจะดีขึ้นกว่าเก่า แต่ก็ต้องวางระบบในระยะยาวด้วย
สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว ดร.ปณิธาน อธิบายว่า จะอยู่ในยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ต้องจัดการเรื่องการศึกษา และอื่นๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าหากยุทธศาสตร์ 20 ปีเดินได้จริง จะทำให้เกิดโครงสร้างใหม่ ป้องกันไม่ให้เป็นแบบเดิม
อย่างที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า ช่วงนี้มีหลายคนพูดเรื่องไฟใต้จะดับในปีหน้า ฉะนั้นคนที่พูดแบบนี้จึงไม่ใช่แค่ท่านประวิตร และที่ปรึกษาของท่าน แต่ยังมี พล.ท.เรืองศักดิ์ สุวรรณนาคะ แม่ทัพน้อยที่ 4 ด้วย
ท่านแม่ทัพน้อย พูดก่อนท่านประวิตรเพียง 1 วัน อาจจะเรียกว่าบังเอิญก็พอได้ เพราะท่านให้ลูกน้องเชิญผมในฐานะสื่อที่ทำข่าวภาคใต้มานาน ไปพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการทำงานว่าจะช่วยกันสื่อสารให้เกิดสันติสุขได้อย่างไร
หลายช่วงของการพูดคุย ท่านแม่ทัพน้อยที่ 4 บอกว่า ปีหน้าภาคใต้จะสงบแล้ว อยากให้สื่อช่วยๆ กัน...
และท่านยังให้ข้อมูลว่า จะมีการประกาศ "อำเภอสันติสุข" นำร่อง 5 อำเภอใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลังจากวันที่ท่านพูด 1-2 วัน ทีมโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.ก็แถลงเรื่องนี้ โดย 1 ใน 5 อำเภอสันติสุข คือ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งท่านแม่ทัพน้อยที่ 4 บอกกับผมว่า เป็นอำเภอยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะไฟใต้รอบนี้ถูกเปิดขึ้นที่นี่ ก็ต้องปิดเกมกันที่อำเภอนี้
ความหมายของท่านที่ว่าไฟใต้ถูกเปิดขึ้นที่นี่ น่าจะหมายถึงเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่เมื่อ 4 ม.ค.2547 ที่ปล้นจากค่ายทหารใน อ.เจาะไอร้อง ถือเป็นปฐมบทแห่งความรุนแรงรอบใหม่ที่ชายแดนใต้
ส่วนเหตุผลอื่นๆ ที่ท่านแม่ทัพน้อยเชื่อว่าภาคใต้จะสงบในปีหน้า ก็คล้ายๆ กับที่ ดร.ปณิธาน พูด คือการจัดงบที่รวมศูนย์อยู่ที่ กอ.รมน. ทำให้สามารถเน้นงานพัฒนาที่ตรงเป้า ตรงพื้นที่ และตรงตามความต้องการของชาวบ้าน
นี่คือสารที่ท่านแม่ทัพน้อยที่ 4 ส่งถึงผมโดยตรง เพราะนั่งคุยกันวงเล็กๆ นานถึง 4 ชั่วโมง!
ถ้าทิศทางของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างที่ไล่เรียงมาให้ฟังนี้จริงก็คงดี พื้นที่จะได้สุขสงบเสียที แต่เรื่องแบบนี้คงต้องรอดูกันต่อไป เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเคยได้ยินคำพูดลักษณะคล้ายๆ กัน ทำนองว่าภาคใต้ใกล้สงบ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 ช่วงต้นปี ช่วงนั้น พล.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านเคยพูดในที่ประชุมวงปิดของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ที่ค่ายสิรินธร จ.ปัตตานี ว่าเร็วๆ นี้ (หมายถึงในปี 2556) ภาคใต้จะสงบแล้ว ถึงขนาดแซวให้แม่ทัพภาคที่ 4 เตรียมเก็บของ บอกน้องๆ ทหาร ตำรวจ ไม่ต้องเสียดายวันทวีคูณ
หลังจากนั้นไม่นานก็เกิด "โต๊ะพูดคุยสันติภาพ" ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยแกนนำบีอาร์เอ็น เป็นการพูดคุยแบบนั่งโต๊ะ เปิดเผยเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี และภายหลังมีข่าวที่ยืนยันตรงกันหลายแหล่งว่า การพูดคุยที่ว่านั้น จัดให้โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประสานผ่าน นายนาจิบ ราซัก นายกฯมาเลเซีย
นั่นคือที่มาของความมั่นใจที่ พล.อ.อ.สุกำพล บอกกับผู้ใต้บังคับบัญชา และทุกคนคิดกันแบบง่ายๆ ว่า ปัญหาภาคใต้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน คุยกับตัวจริง (บีอาร์เอ็น) ได้ก็จบแล้ว
การพูดคุยในปี 56 ดำเนินไปได้แบบเป็นทางการ 3 ครั้ง จากนั้นก็เกิดปัญหาการเมืองในไทย และการยื่นข้อเรียกร้องที่ยอมรับยากจากฝ่ายบีอาร์เอ็น จนในที่สุดการพูดคุยก็ล่มไป สถานการณ์ในภาคใต้ก็ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ไม่สงบสันติสุขดังที่วาดหวัง
ที่ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อปี 56 ก็เพียงเพื่อจะบอกว่าปัญหาภาคใต้นั้นอาจซับซ้อนมากกว่าที่ฝ่ายรัฐคิด ความไม่พอใจรัฐบาลหรืออาจเรียกว่า "รัฐไทย" โดยรวมๆ ก็ได้ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐสีต่างๆ ที่ลงไปอยู่ในพื้นที่ มันฝังลึกเข้าไปในจิตใต้สำนึกของผู้คนที่นั่น ปัญหาในอดีตก็ยังแทบไม่ได้สะสาง ปัญหาใหม่ๆ ก็ยังเกิดอยู่เป็นระยะ พวกที่ตอกย้ำ หาประโยชน์จากความรุนแรงและความสูญเสียก็มีมากขึ้น ขยายวงกว้างขึ้น
แค่ตัวเลข "คนกลับบ้าน" หรือความคืบหน้าของโต๊ะพูดคุยฯ คงไม่ใช่ดัชนีชี้วัดความสงบในภาคใต้ โดยเฉพาะเมื่อลองไปสัมผัสกับประชาชนในพื้นที่จริงๆ แล้วพบว่าพวกเขาไม่ได้ชื่นชอบ ชื่นชม หรือแม้แต่เชื่อถือเจ้าหน้าที่รัฐสักเท่าไหร่เลย...
ถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ภาคใต้สงบยากครับ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กิจกรรมอำเภอสันติสุข ที่ อ.นาทวี จ.สงขลา
ขอบคุณ : ภาพจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง