คุยกับ ‘ นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ’ สะท้อนมุมมอง ‘แม่พลอย’ ในสี่แผ่นดิน
“แม่พลอยเป็นผู้หญิงเข้มแข็งมาก ผ่านอะไรมาเยอะ จนกระทั่งลาจากโลกด้วยวัย 64 ปี วันเดียวที่ทราบข่าวรัชกาลที่ 8 สิ้นพระชนม์ นับเป็นชีวิตของคนที่ผ่านทุกข์สุข ทำให้เห็นสัจธรรมของโลกว่า ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน รวยที่สุด อาจจนที่สุด”
“อ่าน ‘สี่แผ่นดิน’ จนจำได้ แม้จะจำรายละเอียดไม่หมด แต่เป็นวรรณกรรมที่ชื่นชอบมาก และเชื่อว่าทุกท่านที่มาในวันนี้ต้องเคยอ่านหรือชมละครมาก่อน”
คือคำทักทายของ ‘พงศกร’ หรือ นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ นักเขียนชื่อดัง มีผลงานมากมาย อาทิ กี่เพ้า มาดามดัน กลกิโมโน กำไลมาศ ชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ‘TK Reading Club ตอน สี่แผ่นดิน’ อยากจะท่องไปในโลกนวนิยายเรื่องนี้ ณ TK park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
โดยเป็นบทประพันธ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งถูกยกย่องเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มี ‘แม่พลอย’ เป็นตัวละครหลัก ถ่ายทอดบทบาทชีวิตใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยตลอด 4 แผ่นดิน ตั้งแต่รัชกาลที่ 5-8
พงศกร บอกเล่าถึงมุมมองที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เลือกเขียนให้แม่พลอยเป็นตัวละครหลัก ว่าส่วนใหญ่ตัวละครเอกในวรรณกรรมไทยกว่า 80% มักเป็นผู้หญิง เช่น ข้างหลังภาพ-ม.ร.ว.กีรติ คู่กรรม-อังศุมาลิน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะนักเขียนสามารถเล่าเรื่องละเอียดอ่อนและซาบซึ้งได้ดีกว่าผู้ชาย
โดยเฉพาะ ‘สี่แผ่นดิน’ ที่มีเค้าโครงเรื่องราวในวัง และความเปลี่ยนแปลงของช่วงชีวิตคน ดังนั้น การเขียนให้ผ่านสายตาของผู้หญิงอย่าง ‘แม่พลอย’ ซึ่งเป็นทั้งลูกสาว ภรรยา และแม่ จะช่วยให้บอกเล่าอะไรได้มากกว่า
คิดดูสิ! ว่าหากเปลี่ยนให้ ‘คุณเปรม’ เป็นตัวละครหลัก หลายประเด็นจะตกหล่นไป ไม่สามารถบอกเล่าได้ ดังเช่น การใช้ชีวิตในวัง ซึ่งเขาคงไม่มีโอกาสเข้าไปวิ่งเล่น หรือปอกมะปรางริ้วเหมือน ‘แม่พลอย’ ฉะนั้นจึงเป็นความจงใจของผู้ประพันธ์ที่ต้องการนำเสนอเรื่องราวของราชสำนักฝ่ายใน
‘พลอย’ สตรีผู้เทิดทูนสถาบันกษัตริย์
ทั้งนี้ หากใครเคยอ่านจะพบว่า ‘แม่พลอย’ ถูกจัดวางให้เป็นตัวแทนสะท้อนภาพความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเขาเห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยกล่าวว่า ส่วนใหญ่เราเห็นประวัติศาสตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 5-8 เพราะเป็นช่วงเกิดการเปลี่ยนแปลง
ยิ่งในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ซึ่ง ‘แม่พลอย’ อาศัยอยู่ในวัง มองเห็นหลังคาพระที่นั่งของพระองค์ทุกวัน จึงสัมผัสได้ถึงความเศร้าโศกในพระราชหฤทัยที่ไม่สามารถรักษาแผ่นดินไทยทั้งหมดไว้ได้ จนกระทั่งประชวรช่วงระยะเวลาหนึ่ง เรื่องราวเล่านี้ล้วนถูกบอกเล่าผ่านชีวิตของเธอ
พงศกร บอกด้วยว่า ความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของ ‘แม่พลอย’ คือ การสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 5 แต่เธอยืนหยัดอยู่ได้ เพราะใช้หลักธรรมที่ได้รับการสอนสั่งมาสมัยอยู่ในวังอย่างมีสติและสง่างาม
“แม่พลอยเป็นผู้หญิงเข้มแข็งมาก ผ่านอะไรมาเยอะ จนกระทั่งลาจากโลกด้วยวัย 64 ปี วันเดียวที่ทราบข่าวรัชกาลที่ 8 สิ้นพระชนม์ นับเป็นชีวิตของคนที่ผ่านทุกข์สุข ทำให้เห็นสัจธรรมของโลกว่า ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน รวยที่สุด อาจจนที่สุด”
นางเอก ‘สี่แผ่นดิน’ ตัวจริง ไม่ใช่ ‘พลอย’
ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ว่า ‘แม่ช้อย’ (เพื่อนอายุรุ่นราวคราวเดียวกับแม่พลอย) เป็นนางเอกตัวจริงของเรื่อง พงศกร อธิบายว่า แม่ช้อยถูกเขียนขึ้นให้เป็นสีสันของสี่แผ่นดิน หากไม่มีตัวละครนี้เรื่องราวจะถูกดำเนินแบบเรียบง่าย แม้จะสนุก แต่ไม่เห็นอีกมุมหนึ่ง
ทั้งนี้ ภาพของคนไทยระบุชัดว่า ชาววังต้องเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ แต่แม่ช้อยกลับกะโหลกกะลา และด้วยความแก่น ทำให้ผู้อ่านได้เห็นสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัง จากการพาแม่พลอยวิ่งเล่นซุกซน และด้วยเหตุนี้ ผู้อ่านจึงชื่นชอบเรื่องราวในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 มาก
“ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า นางเอกตัวจริงของสี่แผ่นดิน คือ แม่ช้อย ซึ่งชาววังแท้ ๆ ก็อย่างแม่ช้อยนี่แหละ ต้องไม่เรียบร้อย”
อย่างไรก็ตาม พงศกร กลับเห็นว่า ชาววังโดยแท้ขึ้นอยู่กับนิยามของแต่ละคน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีอุดมคติต้องเป็นกุลสตรี เรียบร้อย มีฝีมือปอกมะปรางริ้ว ซึ่ง ‘แม่พลอย’ มีความสามารถครบทุกอย่าง แต่ความจริงแล้ว ชาววังโดยแท้จะทำได้เพียงบางอย่างเท่านั้น เช่น อาหาร เครื่องหอม
ข้อมูลครบ! นิยายประวัติศาสตร์ เก็บรายละเอียดดีสุด
“ ‘สี่แผ่นดิน’ เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เก็บรายละเอียดได้มากที่สุด” พงศกร ยืนยันด้วยเสียงหนักแน่น เมื่อถูกถามถึงความสมบูรณ์ของข้อมูลในนวนิยาย
ที่มั่นใจ เพราะม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ใช้ประสบการณ์ตรงที่ได้สัมผัสเอง หรือรับฟัง นำมาเขียนขึ้น มีความใกล้เคียงกับ ‘ร่มฉัตร’ ประพันธ์โดย‘ทมยันตี’ แต่เรื่องดังกล่าวเน้นนำเสนอวิถีชีวิตของคนนอกวัง
ทั้งนี้ การเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เป็นความฝันของนักเขียนหลายคน แต่ยอมรับว่า ยากแสนสาหัส เพราะต้องมีชีวิตของผู้คนอยู่ในเรื่อง แตกต่างจากสารคดี ฉะนั้นต้องมองให้ออก ตัวละครอยู่ในช่วงเวลาใด มีภาษาพูดอย่างไร เพื่อให้มีมิติชัดเจน
“กฤษณา อโศกสิน พูดไว้ว่า ยิ่งย้อนประวัติศาสตร์ไปไกลเท่าไหร่ ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น เพราะมีหลักฐานให้ค้นคว้าน้อยลง”
อีกหนึ่งความยาก พงศกร กล่าวว่า จะเสียดายข้อมูล เวลาค้นคว้าได้มาก เรื่องนั้นก็อยากเล่า เรื่องนี้ก็อยากเล่า หาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เสียดายข้อมูล ‘สี่แผ่นดิน’ คง 8 เล่มจบ เพราะข้อมูลในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 มีจำนวนมาก เฉพาะในนวนิยายก็กินเนื้อที่เกือบ 50%
64 ปี ชีวิต ‘แม่พลอย’ สุขมากสุด สมัยรัชกาลที่ 5
พงศกร เชื่อว่า ในแผ่นดินล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เป็นช่วงชีวิตที่คนไทย โดยเฉพาะ ‘แม่พลอย’ มีความสุขมากที่สุด เพราะใช้ชีวิตเรียบง่าย หาความบันเทิงใกล้ตัว เรียกว่า ใช้ชีวิตแบบSlow Life ไม่ค่อยหวือหวา เพราะสิ่งที่กำหนดชะตาชีวิตของคนทั้งชาติ คือ พระมหากษัตริย์
“ไม่เฉพาะกบฏ 112 หรือสงครามโลกเท่านั้น แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพระมหากษัตริย์ มักส่งผลกระทบต่อชีวิต ‘แม่พลอย’ ด้วย”
ชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงคนนี้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยิ่ง นอกจากนี้แม้ภายนอกจะคอยเป็นช้างเท้าหลังของครอบครัวตลอด แต่ภายในลึก ๆ แล้ว เธอมีความเป็นผู้นำสูง
พงศกร ขยายความว่า ช่วงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ได้แต่งตั้งให้ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขณะนั้นในวังตื่นเต้นกันมาก โดยเฉพาะ ‘แม่พลอย’ และ ‘แม่ช้อย’
ถึงขนาดมีประโยคพูดคุยกันว่า “ความจริงผู้หญิงก็ทำอะไรได้เหมือนผู้ชาย เพียงแต่ไม่มีโอกาส ดูอย่างสมเด็จรีเยนทร์สิ!”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางเสี้ยวมุมของการล้อมวงสนทนากัน ซึ่งบางคนอาจมีมุมมองต่อ ‘สี่แผ่นดิน’ บางอย่างเหมือนกัน บางอย่างไม่เหมือนกัน ก็สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ แต่ที่แน่ ๆ เรื่องราวทั้งหมดในวรรณกรรมชิ้นนี้มีอยู่จริง ยกเว้น ตัวละคร โดยเฉพาะ 'เเม่พลอย' !!!