ป.ป.ช.เพิ่มสินบนนำจับได้ 15% ของทรัพย์สิน ขยับเพดานเป็น100ล.-เดิมแค่ 10 ล.
ป.ป.ช. เพิ่มสินบนนำจับได้ 15% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ถูกยึดตกเป็นของแผ่นดิน แต่ไม่เกินร้อยล้าน จากเดิมได้ 10% แต่ไม่เกิน 10 ล้าน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558
ระเบียบดังกล่าว ระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการจ่ายเงินสินบน พ.ศ. 2553
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 25 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงกําหนดระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการจ่ายเงินสินบน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558”
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 17 ของระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบน พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 17 การจ่ายเงินสินบนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินสินบน ให้จ่ายเมื่อทรัพย์สินที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือที่เพิ่มขึ้นผิดปกตินั้น หรือทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหากรณีบังคับเอากับทรัพย์สินดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดิน อันเป็นผลมาจากศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดให้ตกเป็นของแผ่นดินโดยให้จ่ายในอัตราร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินที่นําส่งกระทรวงการคลังแต่ไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาท”
ลงนามโดยปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธาน ป.ป.ช.
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2553 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ออกระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการจ่ายสินบน พ.ศ.2553 มีสาระสำคัญ เช่น ข้อ 12 ระบุว่า การชี้ช่อง แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ถูกตรวจสอบ รวมทั้งตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย อย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
(1) ชื่อและที่อยู่ของผู้ชี้ช่อง แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง
(2) ชื่อและที่อยู่ สถานที่ทำงาน หรือตำแหน่งของผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ถูกตรวจสอบ
(3) ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ถูกตรวจสอบ รวมทั้งตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ที่ชัดเจนเพียงพอ กรณีบุคคลผู้ชี้ช่อง แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง ไม่ประสงค์จะแจ้งชื่อ และที่อยู่ ให้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ในข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกตรวจสอบที่ตนได้ให้ไว้ และต้องทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างน้อยสองคน และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ลงชื่อกำกับไว้ แล้วส่งสำเนาให้แก่บุคคลผู้ชี้ช่อง แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง เก็บไว้หนึ่งฉบับหรือกรณีจำเป็นไม่สามารถพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ให้จัดทำข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ถูกตรวจสอบ เป็นสองฉบับ และพิมพ์ลายนิ้วมือ ไว้ทั้งสองฉบับแล้วจัดส่งมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนหนึ่งฉบับ ส่วนอีกหนึ่งฉบับ ให้เก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อนำมาแสดงต่อคณะกรรมการพิจารณาเงินสินบนในการขอรับเงินสินบน
ข้อ 13 ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่นำมาแจ้งตามข้อ 12 วรรคหนึ่ง (3) ต้องเป็นสาระสำคัญ ของการตรวจสอบ ซึ่งหากไม่มีการแจ้งข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเช่นว่านั้น จะไม่สามารถรู้หรือตรวจสอบ การร่ำรวยผิดปกติหรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติได้ และจะต้องไม่เป็นปกติวิสัยที่จะตรวจพบได้อยู่แล้ว
ส่วนการจ่ายเงินสินบนนั้น ข้อ 17 ระบุว่า การจ่ายเงินสินบนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินสินบน ให้จ่ายเมื่อทรัพย์สินที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือที่เพิ่มขึ้นผิดปกตินั้น หรือทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหากรณีบังคับเอากับทรัพย์สินดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดิน อันเป็นผลมาจากศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้จ่ายในอัตราร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินที่นำส่งกระทรวงการคลังแต่ไม่เกินสิบล้านบาท
ข้อ 18 การคำนวณมูลค่าทรัพย์สิน กรณีอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่มิใช่เงินฝากหรือเงินสด ให้จ่ายโดยคำนวณตามมูลค่าทรัพย์สินที่นำส่งกระทรวงการคลังอันเป็นผลมาจากศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ตกเป็นของแผ่นดิน
อ่านรายละเอียดฉบับแรก : http://www.thethailaw.com/law24/lawpdf/law25512560/4711.pdf
อ่านรายละเอียดฉบับที่ 2 ปี 2554 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/A/064/15.PDF