ปฏิรูป "บัตรทอง" สู่ ประชารัฐร่วมจ่าย เปิดประเด็นให้สังคมได้ถกเถียง
"ถ้าไม่มีใครตีเรื่องนี้ระบบหลักประกันฯ ก็เจ๊ง เรื่องนี้ถ้าใครไม่เห็นด้วย ไม่ใช่แค่มาบอกว่า ไม่ดีๆ แต่ต้องเสนอมาด้วยว่า ที่ดีนั้น คืออะไร ให้ทำอย่างไร จะพัฒนาประเทศอย่างไร"
“นี่คือรูปแบบของประชารัฐ ซึ่งต้องมาคุยกันด้วยเหตุและผล ต้องเดินหน้าและยืนอยู่บนความจริง ไม่ใช่ตีก่อนเลย ยินดีมาก หากภาคประชาชนจะเข้ามาร่วมเสนอแนวทาง เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศเหมือนกัน ปัญหาต้องได้รับการแก้ไข"
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างงานพบปะสื่อมวลชน (Meet the Press) ตอนหนึ่งถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ของไทย ที่มีแนวโน้มการใช้งบประมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สัดส่วนอยู่ที่ 16-17% หรือคิดเป็น 4.6 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
เหตุผลดังกล่าวทำให้ปี 2559 รัฐบาลมีนโยบาย “ประชารัฐจะต้องร่วมจ่าย” เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพฯ
ส่วนจะดำเนินการแบบไหนนั้น รมว.สธ. ระบุว่า ขณะนี้คณะกรรมการจัดทำแนวทางเพื่อระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ ที่มี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน และ ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นที่ปรึกษา ได้เสนอหลักการภาพรวมมาแล้วว่า จะต้องดำเนินการแบบ SAFE คือ ยั่งยืน เข้าถึงได้ มีความเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ นพ.ปิยะสกล ยังชี้ว่า ไม่มีประเทศไหนที่รวยกว่าประเทศไทยกล้าที่จะใช้งบประมาณจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ประเทศไทยต้องยอมรับความจริงตรงจุดนี้ และแม้การออกมาเปิดประเด็นให้ประชาชนร่วมจ่าย หนีไม่พ้นจะถูกคัดค้าน และถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่นพ.ปิยะสกล เห็นว่า ถ้าไม่มีใครตีเรื่องนี้ระบบหลักประกันฯ ก็เจ๊ง พร้อมกับชี้ว่า เรื่องนี้ถ้าใครไม่เห็นด้วย ไม่ใช่แค่มาบอกว่า ไม่ดีๆ แต่ต้องเสนอมาด้วยว่า ที่ดีนั้น คืออะไร ให้ทำอย่างไร จะพัฒนาประเทศอย่างไร
จากนั้นไม่ถึงสัปดาห์หลังแถลงผลงานรัฐบาล 1 ปีผ่านไปก็มีการแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวหลายมุมมองดังมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่ฝั่งพรรคเพื่อไทย ออกมาแสดงความเห็นใจผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะไม่มีโอกาสได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี
หรืออย่าง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แกนนำสำคัญแพทย์ชนบทภาคใต้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ก็ออกมาระบุ "เราคนในวงการจะนิ่งเฉยได้อย่างไร กลองศึกเริ่มส่งเสียงรัว หรือประวัติศาสตร์การต่อสู้กับความคิดเผด็จการเฉกเช่นกรณี P4P จะกลับมาอีกครั้ง เร็วๆนี้ แต่ครั้งนี้ในนาม Co-payment"
รวมไปถึงนักวิชาการอิสระ ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไปจนได้รับสมญานามว่า ปัญญาชนสยาม นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ โพสต์แสดงความเห็นในเฟชบุคส่วนตัวไว้อย่างน่าสนใจ
ส. ศิวรักษ์ ได้หยิบยกหนังสือ "ตำนานบัตรทอง: ประวัติศาสตร์การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย" เขียนโดยนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ขึ้นมากล่าวอ้าง
เขามองว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยประกันสุขภาพถ้วนหน้า นับว่าเป็นความสำเร็จของวงการสาธารณสุขไทย อันควรแก่การก้มหัวให้ โดยนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นคนแรก ที่ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม โดยศึกษาหาข้อมูลอย่างเต็มที่ มีเพื่อนร่วมงานที่สำคัญ เช่น นายแพทย์วินัย สวัสดิวร ที่ร่วมงานอย่างสำคัญมาโดยตลอด รวมถึงบุคคลอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนไม่น้อยในกระทรวงสาธารณสุขซึ่งผลักดันจนเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยได้สำเร็จ
“และแม้ทักษิณ ชินวัตรจะฉวยโอกาส แต่เขาก็กล้าตัดสินใจ รับเอางานชิ้นสำคัญนี้มาเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลสมัยแรกของเขา จนทำให้ตำนานบัตรทองเป็นของจริงและใช้การอย่างได้ผล”
ในหนังสือตำนานบัตรทอง นายแพทย์วิชัยเขียนเล่าเรื่องความเป็นมาของตำนานดังกล่าว โดยโยงไปถึงหลักประกันสุขภาพจากอังกฤษและญี่ปุ่นเป็นประเด็นที่สำคัญ ส. ศิวรักษ์ ชี้ว่า ใครก็ตามที่อยากรู้เรื่องตำนานบัตรทองต้องอ่านหนังสือเล่มนี้
“ขณะที่นายกรัฐมนตรีในปัจจุบันต้องการจะทำลายสิ่งอันประเสริฐสุดที่รัฐไทยให้แก่ราษฎร เพราะอคติหรือความไร้เดียงสาทางการเมืองก็สุดแท้ จึงอยากให้ใคร ๆ ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ พร้อมกับ เชื่อว่าผู้อ่านจะรวมตัวกันทำประชามติคัดค้านรัฐบาลเผด็จการ คสช. ซึ่งปกครองบ้านเมืองด้วยอคติ ด้วยอวิชชา
น่าเศร้าที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้ก็เป็นหุ่นเชิดให้รัฐบาล คสช. โดยไม่ไยดีกับการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของคนไทยเอาเลย ถ้ารัฐบาลนี้ไม่เปลี่ยนมติในเรื่องดังกล่าว พวกเราต้องรวมตัวกันขับไสไล่ส่งรัฐบาลให้ปลาสนาการไปจากอำนาจด้วยวิถีทางของสันติประชาธรรม”
สำหรับประเด็นแนวโน้มการใช้งบประมาณสูงขึ้นต่อเนื่องของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) นั้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบจากเอกสารงบประมาณประจำปี 2559 สำนักงบประมาณ พบว่า การสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีสิทธิสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพนั้น
- ปี 2558 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีงบประมาณ 1.14 แสนล้านบาท
- ปี 2559 งบประมาณรายจ่าย กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มขึ้นกว่า 1.23 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกันหากย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน (ปี 2555) คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ก็เคยมี (ร่าง) ข้อเสนอการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมด้านสาธารณสุขในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมระหว่างระบบบริการสาธารณสุข 3 ระบบ คือสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และระบบบัตรทอง
โดยพบว่า ระบบสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่ดูแลโดยกรมบัญชีกลาง เป็นระบบที่ใช้จ่ายเงินภาษีอากรของประเทศสูงสุด แต่เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพต่ำสุด ดูแลข้าราชการและครอบครัว 5 ล้านคน แต่ใช้เงินงบประมาณ ปี 2553 กว่า 6 หมื่นล้านบาท
ส่วนระบบบัตรทอง ดูแลประชากร 47-48 ล้านคนใช้เงินในปีงบประมาณ 2552 เพียง 9.3 หมื่นล้านบาท
ระบบสวัสดิการข้าราชการเป็นระบบเดียวที่ใช้ระบบการเงินการคลังแบบปลายเปิด ขณะที่ระบบบัตรทอง และประกันสังคม เป็นระบบการเงินการคลังแบบปลายปิด และจ่ายผู้ให้บริการโดยวิธีการเหมาะจ่ายรายหัว (Capitation) ร่วมกับการจ่ายด้วยระบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม ในวงเงินเกินที่ตั้งงบประมาณไว้ จึงไม่เคยมีกรณีที่งบประมาณบายปลายเหมือนระบบสวัสดิการข้าราชการ
ในหนังสือเล่มนี้ ยังมีข้อเสนอการปฏิรูปประเทศน่าสนใจ ในหน้า 379 นายแพทย์วิชัย ระบุไว้ด้วยว่า ทุกครั้งที่จะมีการแก้ไขปัญหาความไร้ประสิทธิภาพในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล วาทกรรมที่มีการหยิบยกขึ้นมาอ้างเสมอ คือ “ข้าราชการเงินเดือนน้อย รัฐจึงต้องให้สวัสดิการด้านรักษาพยาบาลชดเชย”
หมอวิชัย ชี้ว่า วาทกรรมดังกล่าว เป็น มายาคติ (myth) ไม่ใช่ความจริง เพราะปัจจุบันข้าราชการส่วนใหญ่มีเงินเดือนสูงกว่าผู้ใช้แรงงานทั่วไปมาก และสูงกว่าชาวไร่ชาวนา และแรงงานนอกระบบอื่น ซึ่งยังไม่ได้รับสวัสดิการอื่นๆ อีกมากมาย
นี่คือมุมมองที่ถูกเขียนไว้
มิน่าเชื่อผ่านไปแค่ 3 ปี ปัจจุบัน รมว.สธ. ก็ได้ตอกย้ำวาทกรรมซ้ำเดิม ช่วงตอบคำถามสื่อ เมื่อถูกถาม ที่ผ่านมามีการติงว่าสวัสดิการข้าราชการใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลมากกว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ?
"ข้าราชการเงินเดือนน้อยกว่าเอกชน การให้สิทธิการรักษาพยาบาลก็เป็นการให้สวัสดิการ มิฉะนั้นต้องเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการแล้วมาจ่ายรักษาพยาบาลเท่ากัน"...