‘ดร.สุรินทร์’ แนะครูทุ่มเทการสอน-รัฐเพิ่มสวัสดิการ ลดภาระงานนอกห้องเรียน
เปิดประชาคมอาเซียน ‘ดร.สุรินทร์’ แนะ ศธ.เร่งทุ่มงบฯ พัฒนาการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เป็น 1% ลดภาระงานนอก ลดหนี้ เพิ่มสวัสดิการ เชื่อครูจะมีกะจิตกะใจทุ่มเทการสอน 100% ทำตัวเป็นมืออาชีพ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิไทยรัฐ จัดงานวัน ‘กำพล วัชรพล’ ครั้งที่ 19 ประจำปี 2558 สำหรับวิทยานิพนธ์ด้านสื่อสารมวลชน เพื่อรำลึกถึง นายกำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเพื่อส่งเสริมบทบาทของการสื่อสารมวลชนในประเทศไทย ณ ห้องประชุมชั้น 9 อาคาร 9 สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ศาสตราภิชาน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ครูกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ใจความตอนหนึ่งว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ระบุไทยขาดครู 22% บัณฑิตว่างงาน 22% แต่สิ่งที่ท่านยังไม่พูด คือ ศธ.ได้รับงบประมาณ 22% ของงบประมาณแผ่นดินทุกปี เพราะฉะนั้นถือเป็นกระทรวงที่ใช้ทรัพยากร 1 ใน 5 ของงบประมาณแผ่นดิน
แต่ผลพวงที่เกิดขึ้น เรากลับไม่ได้เหมือนที่อยากได้ เพื่อจะลบคำครหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ภาษาอังกฤษอ่อนด้อย จำนวนครูในห้องเรียน บัณฑิตว่างงาน ทั้งนี้ ไม่มีเศรษฐกิจรูปแบบใดจะแข่งขันกับคนอื่นได้ และยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้ในยุคโลกาภิวัตน์ หากไม่มีการลงทุนเรื่องการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
“เมื่อเปรียบเทียบกับทุกประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการลงทุนเรื่องดังกล่าวประมาณ 2.8-3% ของรายได้ประชาชาติ ขณะที่ไทยมีการลงทุนน้อยมาก แค่ 0.2% ของรายได้ประชาชาติ” อดีตเลขาธิการอาเซียน และว่า ขออนุโมทนา หากคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคนปัจจุบันที่ว่า สิ้นรัฐบาลนี้ต้องได้ 1% กลายเป็นจริง
ส่วนการจะปฏิรูปการศึกษาสำเร็จนั้น ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า สวัสดิการของครูต้องดี อย่าให้เป็นหนี้ท่วมหัว อย่าให้ต้องไปใช้เวลาเพื่อประคองชีวิตในครอบครัว ชนบท หมู่บ้าน ครูจะต้องเก่ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ครูถึงจะมีกะจิตกะใจทุ่มเทเต็มที่ 100% ให้กับงานที่อยู่ตรงหน้า คือ งานการสอน
พุทธทาสภิกขุ สอนว่า การทำหน้าที่ คือ การปฏิบัติธรรม ดังนั้น การทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ คือ การปฏิบัติธรรมที่สมบูรณ์ วินัยจึงเริ่มตรงที่ครูให้ 100% กับความรับผิดชอบหรือไม่ ส่วนค่าครองชีพ การอบรม ห้องเรียนใหญ่เกินไป สิ่งนั้นคือสิ่งต้องแก้ไข ลดภาระเพื่อให้ได้ทำหน้าที่ 100% ในฐานะเป็นนักการศึกษาของประเทศนี้
โดยการที่เราจะเป็นอะไรก็ตาม 100% ในวิชาชีพที่เรียนมา สั่งสมความรู้ ประสบการณ์มา คือ การทำตัวเป็นมืออาชีพ ดังนั้นครูจะให้ 100% จะต้องมีทุกอย่างมาสนับสนุนให้เป็นครูได้ 100% ลดภาระอื่นปลีกย่อยให้หมด เพิ่มเทคโนโลยี การอบรม ลดขนาดห้อง ลดหนี้ เพื่อครูจะได้เป็นครู 100% ถ้าครูทำได้ ผลพวงจะเกิดที่ศิษย์
“การบูรณาการ รวมตัวเข้าหากัน เป็นการสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ แต่เป็นโอกาสที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เต็มไปด้วยการท้าทาย และเป็นโอกาสที่อาจจะเปิดจุดเสี่ยงให้ประเทศนี้ เพราะเราเปิดอาเซียนแล้วไม่มีเฉพาะสิ่งดีเข้ามา แต่ยังมียาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ ค้ามนุษย์ แม้แต่โรคภัยไข้เจ็บที่หายไปก็กลับมาอีกได้ เพราะการเปิดประตูเข้าหากันตามกระบวนการของอาเซียน ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันภายใน เพื่อให้คนไทย พร้อมจะป้องกันตัวเอง และตักตวงสิ่งที่เป็นประโยชน์ของประเทศ” อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าว .
ภาพประกอบ:asean-focus.com