สุรินทร์ พิศสุวรรณ :สวัสดิการของครูต้องดี อย่าให้เป็นหนี้ท่วมหัว
“...การจะปฏิรูปการศึกษาสำเร็จนั้น สวัสดิการของครูต้องดี อย่าให้เป็นหนี้ท่วมหัว อย่าให้ต้องไปใช้เวลาเพื่อประคองชีวิตในครอบครัว ชนบท หมู่บ้าน ครูจะต้องเก่ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ครูถึงจะมีกะจิตกะใจทุ่มเทเต็มที่ 100% ให้กับงานที่อยู่ตรงหน้า คือ งานการสอน...”
ศาสตราภิชาน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ครูกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในงานวัน “กำพล วัชรพล” เพื่อมอบรางวัลสำหรับวิทยานิพนธ์ด้านสื่อสารมวลชน ประจำปี 2558 จัดโดยมูลนิธิไทยรัฐ ณ สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไทยจะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์ จะเพลี่ยงพล้ำ หรือกำชัยชนะ ขึ้นอยู่กับการเตรียมคน
ศาสตราภิชาน ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ไทยชกต่ำกว่าน้ำหนักตัวเองบนเวทีภูมิภาคและเวทีโลก หมายถึง ทำได้ดีกว่านี้เยอะ มีบุคลากรที่มีความรู้ มีความสามารถ มีองค์กรอย่างมูลนิธิไทยรัฐ และผู้มีวิสัยทัศน์อย่างท่านกำพล วัชรพล ซึ่งกำพล หมายถึง กำไว้ซึ่งพลัง โดยเป็นพลังแห่งแก้วมณี วัชรพล
"ท่านกำพลเป็นผู้ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลข่าวสารคือพลัง เมื่อมีไทยรัฐอยู่ในมือ จึงเปรียบเหมือนมีพลังอยู่ในมือ จึงเป็นผู้รับผิดชอบต่อสังคมและประชาคม ทำให้เกิดโรงเรียนไทยรัฐวิทยาและมูลนิธิไทยรัฐขึ้น เพราะมุ่งหวังจะพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาเพื่ออนาคตของประเทศ
สิ่งที่ท่านกำพลและมูลนิธิไทยรัฐทำ คือ สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรมนุษย์ เพราะประเทศไทยจะขึ้นเวทีแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ ถ้าคนไม่มีความรู้ความสามารถ”
อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวอีกว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ระบุไทยขาดครู 22% บัณฑิตว่างงาน 22% แต่สิ่งที่ยังไม่พูด คือ ศธ.ได้รับงบประมาณ 22% ของงบประมาณแผ่นดินทุกปี เพราะฉะนั้นถือเป็นกระทรวงที่ใช้ทรัพยากร 1 ใน 5 ของงบประมาณแผ่นดิน แต่ผลพวงที่เกิดขึ้น เรากลับไม่ได้เหมือนที่อยากได้ เพื่อจะลบคำครหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ภาษาอังกฤษอ่อนด้อย จำนวนครูในห้องเรียน บัณฑิตว่างงาน
ทั้งนี้ ไม่มีเศรษฐกิจรูปแบบใดจะแข่งขันกับคนอื่นได้ และยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้ในยุคโลกาภิวัตน์ หากไม่มีการลงทุนเรื่องการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
“เมื่อเปรียบเทียบกับทุกประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการลงทุนเรื่องดังกล่าวประมาณ 2.8-3% ของรายได้ประชาชาติ ขณะที่ไทยมีการลงทุนน้อยมาก แค่ 0.2% ของรายได้ประชาชาติ” เขาบอก และขออนุโมทนา หากคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคนปัจจุบันที่ว่า สิ้นรัฐบาลนี้ต้องได้ 1% กลายเป็นจริง
ศาสตราภิชาน ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงประเทศไทยมีครูประมาณ 5 แสนคน ในระดับพื้นฐาน ลูกศิษย์ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งจะต้องพัฒนาอย่างไรให้ลูกศิษย์เหล่านี้มีความพร้อมจะขึ้นเวทีอาเซียนและมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีกุญแจและอาวุธที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ในเมื่อไทยมีตัวเลขของการวัดผลต่ำกว่าทุกตัว แต่กลับเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน และมีระบบเศรษฐกิจหลากหลายที่สุด
เพราะฉะนั้นควรจะอยู่ในฐานะที่พัฒนา ปรับปรุง ลงทุน และใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อรักษาความหลากหลายนั้นให้เป็นเลิศ นำคนอื่น และดีกว่าอีก 9 ประเทศ
แม้เราไม่เป็นเมืองขึ้นของใคร ถือเป็นความภูมิใจ แต่ความไม่เป็นเมืองขึ้นของคนอื่น กลับกลายเป็นประเด็นทำให้เราไม่กระตือรือร้น จะไปแข่งขันกับคนอื่น เพราะคิดว่า อยู่กันมาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าหลวงทรงรักษาอิสรภาพไว้ให้ต่อไป ดังนั้นภาษาอังกฤษของเราไม่ดี เพราะไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร
ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ประเทศที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ แต่ขณะนี้ภาษาอังกฤษดีขึ้น และสามารถสอบ TOEFL ได้ดีกว่าไทย เป็นเช่นนี้จะตอบคำถามโลกอย่างไร
ภาษาอังกฤษเป็นภาษาใช้งานของอาเซียน หมายความว่า ใครไม่รู้ภาษาอังกฤษ เชิญหาล่ามมาเอง ใครไม่รู้ภาษาอังกฤษเชิญแปลเอง และคนที่จะแปลต้องเป็นล่ามกระซิบด้วย มิฉะนั้นจะสร้างความรำคาญคนอื่น และขณะนี้เวทีระหว่างประเทศ ผลประโยชน์ของประเทศ วาระของประเทศ ล้วนปกป้อง ต่อสู้ รวมถึงต่อรองบนเวทีต่างประเทศทั้งสิ้น
ปัญหาของไทยอีกว่า เราไม่เคยสอนเด็กให้นำเสนอปัญหา ดีเบตปัญหา ปกป้องข้อเสนอ พยายามอธิบายจุดยืน วาระ ความเห็น หรือผลประโยชน์ของเรา นั่นเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้น ซึ่งครูทำอยู่แล้ว แต่ผลที่ออกมาขณะนี้ ยังไม่บอกว่า ควรจะพอใจ
เราต้องลงทุนต่อ ทำต่อ ดิ้นรนต่อ ฉะนั้นโรงเรียนไทยรัฐ 101 แห่ง จะต้องเป็น 101 แห่งที่ผลิตบุคลากรหรือโครงสร้างพื้นฐานของทรัพยากรมนุษย์ ทั้งดี มีคุณธรรม และเก่งด้วย เพื่อเป็นหัวหอกขึ้นเวทีอาเซียน” นายสุรินทร์ กล่าว และว่า ที่เต็มไปด้วยโอกาส แต่ก็เต็มไปด้วยการแข่งขัน ใครที่จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความสามารถทางการแข่งขันสำหรับประเทศ และเศรษฐกิจนี้ในอนาคต ถ้าไม่ใช่ครู 5 แสนคน ในระดับพื้นฐาน
เพราะฉะนั้นการเป็นครูถือเป็นหน้าที่นี้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นหน้าที่รับมาแล้ว อยู่บนบ่า อยู่บนตัก ที่จะทำให้ลุล่วง ฉะนั้นถูกแล้วที่ ศธ.มีนโยบายนำครูคืนห้องเรียน เพราะกุญแจดอกสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา คือ ครู
การจะปฏิรูปการศึกษาสำเร็จนั้น อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า สวัสดิการของครูต้องดี อย่าให้เป็นหนี้ท่วมหัว อย่าให้ต้องไปใช้เวลาเพื่อประคองชีวิตในครอบครัว ชนบท หมู่บ้าน ครูจะต้องเก่ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ครูถึงจะมีกะจิตกะใจทุ่มเทเต็มที่ 100% ให้กับงานที่อยู่ตรงหน้า คือ งานการสอน
พุทธทาสภิกขุ สอนว่า การทำหน้าที่ คือ การปฏิบัติธรรม ดังนั้น การทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ คือ การปฏิบัติธรรมที่สมบูรณ์ วินัยจึงเริ่มตรงที่ครูให้ 100% กับความรับผิดชอบหรือไม่ ส่วนค่าครองชีพ การอบรม ห้องเรียนใหญ่เกินไป สิ่งนั้นคือสิ่งต้องแก้ไข ลดภาระเพื่อให้ได้ทำหน้าที่ 100% ในฐานะเป็นนักการศึกษาของประเทศนี้
โดยการที่เราจะเป็นอะไรก็ตาม 100% ในวิชาชีพที่เรียนมา สั่งสมความรู้ ประสบการณ์มา คือ การทำตัวเป็นมืออาชีพ เหมือนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐต้องเป็นมืออาชีพ มิเช่นนั้นคงไม่อยู่ครองตลาดได้จนถึงทุกวันนี้ และมีผู้อ่านวันละ 12-13 ล้านคน ดังนั้น คนของไทยรัฐจึงต้องทุ่มเทกัอาชีพกับการเป็นนักหนังสือพิมพ์ 100%
“ถ้าครูจะให้ 100% จะต้องมีทุกอย่างมาสนับสนุนให้ครูเป็นครูได้ 100% ลดภาระอื่นปลีกย่อยให้หมด เพิ่มเทคโนโลยี การอบรม ลดขนาดห้อง ลดหนี้ เพื่อครูจะได้เป็นครู 100% ถ้าครูทำได้ ผลพวงจะเกิดที่ศิษย์”
ศาสตราภิชาน ดร.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า การบูรณาการ รวมตัวเข้าหากัน เป็นการสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ แต่เป็นโอกาสที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เต็มไปด้วยการท้าทาย และเป็นโอกาสที่อาจจะเปิดจุดเสี่ยงให้ประเทศนี้ เพราะเราเปิดอาเซียนแล้วไม่มีเฉพาะสิ่งดีเข้ามา แต่ยังมียาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ ค้ามนุษย์ แม้แต่โรคภัยไข้เจ็บที่หายไปก็กลับมาอีกได้ เพราะการเปิดประตูเข้าหากันตามกระบวนการของอาเซียน ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันภายใน เพื่อให้คนไทย พร้อมจะป้องกันตัวเอง และตักตวงสิ่งที่เป็นประโยชน์ของประเทศ
“ภารกิจของครูทั้งหลาย ล้นบ่า ล้นไหล่ แต่เป็นภารกิจที่ต้องภูมิใจ กระทรวงศึกษาธิการ คือ กระทรวงสร้างชาติ สร้างอนาคต สร้างความสามารถในการแข่งขัน เพราะฉะนั้นจงภูมิใจในสถานภาพของตัวเอง”
อริสโตเติล บอกว่า ผู้นำที่ดีคือครูที่ดี ทางกลับกัน ครูที่ดีก็คือผู้นำที่ดี ศิษย์จะมองครูเป็นไอดอล เป็นโรลโมเดล เป็นตัวแบบ เพราะครูแสดงให้เห็นว่า นี่คือวิถีชีวิตที่ถูกต้อง และประเสริฐ ซึ่งไม่มีอะไรจะสอนเด็กได้เท่ากับการใช้ชีวิตให้เห็น
เพราะฉะนั้นสิ่งที่พูดกันวันนี้นอกเหนือการเตรียมตัวเข้าอาเซียน ยังหมายถึงการปฏิรูปประเทศไทย การปฏิรูปการศึกษาไทย ต่อให้ไม่มีอาเซียน ประเทศไทยก็ต้องปรับตัว!!
“อยู่ในแบบเดิม โหมดเดิม กรอบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เพราะคนอื่นวิ่งเกียร์ 5 เกียร์ 6 เราอยู่เกียร์ 1 ไม่ได้ เกียร์ว่างไม่ได้ เกียร์ 2 ก็ไม่ได้ ไม่ทันการ ครูทุกท่านอยู่ในระดับรากแก้วของประเทศ เห็นความยากจน ความไม่เป็นธรรม ความด้อยโอกาส ซึ่งรับภาระเหล่านี้
เชื่อเถอะในบรรดาศิษย์กี่หมื่นคน ในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 101 แห่ง ต้องมีช้างเผือกหลายเชือก และหากพวกเขาเป็นคนที่มีความรู้ มีคุณภาพ จิตใจเผื่อแผ่ มีพลังอยู่ในมือ และเป็นพลังแก้ว เปรียบกับน้ำที่สดใสหมือนหยดน้ำ ชำระล้างหลายสิ่งหลายอย่างที่ดำรงอยู่”
ศาสตราภิชาน ดร.สุรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า วิธีคิดของ ‘กำพล วัชรพล’ คือ วิธีคิดไม่ตรง ‘อ้อม’ ตลบหลัง ว่าการสร้างคนดี สร้างโรงเรียนดี สร้างครูดี เชื่อว่าจะมีทรัพยากรมนุษย์ที่ดี ทั้งหมดจึงร่วมกันเป็นพลังหยดน้ำ 101 หยด หรือกี่เหมื่นกี่แสนหยดที่ได้รับการกลั่นกรองมาแล้ว จะรวมกันเป็นพลังน้ำที่ยิ่งใหญ่ สายธารที่เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์ ชำระล้าง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ปฏิรูปสังคมนี้ได้
เพราะหนทางเดียวเท่านั้นที่จะอยู่รอดในสังคมแห่งการแข่งขันในอาเซียน นอกอาเซียน และประชาคมโลก นั่นคือ การเตรียมคนให้พร้อม .