เล่นงานคนโกงด้วย “ศาลปราบคอร์รัปชัน”
“มาตรการป้องกัน เฝ้าระวัง ตรวจจับ และลงโทษที่เข้มข้นเหล่านี้ จะสร้างความเกรงกลัวให้กับคนโกงและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า “คนโกงต้องโดนลงโทษ” และ “คนไทยเอาชนะคอร์รัปชันได้” ซึ่งช่วยให้การต่อสู้กับคอร์รัปชันได้ผลดียิ่งขึ้น”
คนไทยได้เห็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชันจากการที่รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบ ร่าง “พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ....” ซึ่งเป็นข้อเสนอที่มีมานานของประชาชน และได้รับการสนับสนุนจาก สปช. และ สปท. ตามลำดับ จนรัฐบาลเห็นความสำคัญและสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายนี้ขึ้น
ข้อดีจากการจัดตั้งศาลปราบคอร์รัปชัน
1. การดำเนินคดีคอร์รัปชันทำได้รวดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาการเข้าคิวรอในศาลอาญาทั่วไปที่มีคดีอยู่จำนวนมาก จนอาจทำให้พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องสูญหายหรือเปลี่ยนไปหรือรวบรวมได้ยาก
2. คุณสมบัติของผู้พิพากษาที่กำหนดว่า ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะว่าต้องผ่านการปฏิบัติหน้าที่ในระดับเดียวกันมาก่อนและผู้มาทำหน้าที่ผู้พิพากษาทุกคนต้องผ่านการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษามาไม่น้อยกว่าสิบปี ทำให้มั่นใจว่าท่านเหล่านี้เป็นผู้มีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควรที่จะ “อดทน” ต่อการข่มขู่คุกคามหรือความพยายามจากคนโกงที่จะหยิบยื่นผลประโยชน์จนทำให้เสียความยุติธรรมไป
3. ผู้พิพากษาที่มีความชำนาญเฉพาะเรื่องเฉพาะทางเช่นนี้ จะทำให้มีการเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ให้เท่ากลโกงและขบวนการโกงที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น
4. การที่มีองค์กร มีคณะผู้พิพากษาที่ชัดเจนเช่นนี้ จะช่วยให้เกิดการประสานงานเพื่อสร้างความร่วมมือ ประเมินข้อมูล การวางแผนและยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันได้ง่ายขึ้น เช่น ป.ป.ช. สตง. ป.ป.ท. ปปง. อัยการ เป็นต้น
ขั้นตอนต่อไป
หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบแล้วได้ส่งเรื่องไปยังกฤษฎีกาเพื่อปรับปรุงก่อนส่งให้ สนช. พิจารณาเพื่อตราเป็นกฎหมายต่อไป หลังจากนั้นยังต้องมีการกำหนดหรือการตรา พ.ร.บ. วิธีพิจารณาฯ ที่จะสร้างความชัดเจนในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลฯ เช่น จะใช้ระบบไต่สวนเหมือนที่ ป.ป.ช. ใช้อยู่หรือใช้ระบบกล่าวหาเหมือนศาลอาญาทั่วไป จะยึดถือสำนวนคดีของ ป.ป.ช. เป็นหลักแค่ไหน จะมีการพิจารณาเป็นสามศาลหรือศาลเดียวเหมือนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมือง หรือสองศาลเหมือนศาลปกครองและศาลเลือกตั้งฯ ประชาชนมีสิทธิ์ในการเป็นโจทก์ฟ้องร้องแค่ไหน จะมีการลดวิธีการขั้นตอนให้กระชับได้แค่ไหน เป็นต้น
โดยรวมแล้วการปฏิรูปการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างรอบด้าน ด้วยการลงโทษคนโกงทั้งผู้ให้ผู้รับและทุกคนที่เกี่ยวข้องอย่างรุนแรง การมีมาตรการติดตามและยึดคืนทรัพย์สินของแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ มีกฎหมายที่ลดอำนาจลดการใช้ดุลพินิจของข้าราชการและนักการเมือง การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การบูรณาการกลไกต่อต้านคอร์รัปชัน
เชื่อว่าด้วยมาตรการป้องกัน เฝ้าระวัง ตรวจจับและลงโทษที่เข้มข้นเหล่านี้ จะสร้างความเกรงกลัวให้กับคนโกง
และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า “คนโกงต้องโดนลงโทษ” และ “คนไทยเอาชนะคอร์รัปชันได้” ซึ่งช่วยให้การต่อสู้กับคอร์รัปชันได้ผลดียิ่งขึ้น
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
25 ธันวาคม 2558