เปิดคำแถลง ‘มูลนิธิชีววิถี’ โต้กลุ่มสนับสนุน จ้องปลุกผี ‘ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ’
มูลนิธิชีววิถีตั้งข้อสังเกตต่อการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า เป็นไปเพื่อให้ พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้ระบบเกษตรและอาหารมีความปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน ตามชื่อของสมาพันธ์ฯ หรือเป็นการดำเนินการเพื่อเป็นเครื่องมือในการรองรับการนำพืชจีเอ็มมาปลูกเชิงพาณิชย์ เพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติและกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ?
วันที่ 25 ธันวาคม 2558 มูลนิธิชีววิถี ออกแถลงการณ์ถึงความพยายามผลักดันให้มีการรื้อฟื้นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... ว่า ตามที่กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “สมาพันธ์เกษตร ปลอดภัย มั่นคง ยั่งยืนแห่งชาติ” ซึ่งมีนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเป็นประธาน โดยได้เรียกร้องให้มีการนำพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่รัฐบาลได้ตีกลับไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ นำกลับมาพิจารณาใหม่ หลังจากการคัดค้านของภาคประชาชนและผู้ประกอบอาหาร 125 องค์กร และมีการเคลื่อนไหวคัดค้านพร้อมกันใน 50 จังหวัดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมานั้น
มูลนิธิชีววิถีตั้งข้อสังเกตต่อการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า เป็นไปเพื่อให้ พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้ระบบเกษตรและอาหารมีความปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน ตามชื่อของสมาพันธ์ฯ หรือเป็นการดำเนินการเพื่อเป็นเครื่องมือในการรองรับการนำพืชจีเอ็มมาปลูกเชิงพาณิชย์ เพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติและกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ? ดังต่อไปนี้นี้
1.กลุ่มที่ผลักดันอ้างว่าการที่พ.ร.บ.จีเอ็มโอถูกตีกลับทำให้ไม่สามารถควบคุมกรณีที่มีการนำเข้าและลักลอบปลูกพืชจีเอ็มโอนั้นไม่เป็นความจริง
เนื่องจากการลักลอบนำเข้าและปลูกพืชจีเอ็มโอนั้น เกิดจากการปล่อยปละละเลยของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เอง ที่ไม่ดำเนินการป้องกันและควบคุมอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ภายใต้มาตรา 8 และมาตรา 10 ตามพ.ร.บ.กักพืช (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551การนำเข้าจีเอ็มโอที่ไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตร มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชจากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม ข้อยกเว้นและเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2543 ประกาศพืชดัดแปลงพันธุกรรมรวม 40 ชนิด เป็นสิ่งต้องห้าม) และในกรณีที่เห็นว่าการประกาศพืชดัดแปลง 40 ชนิดไม่ครอบคลุมก็สามารถประกาศให้พืชดัดแปลงพันธุกรรมทั้งหมดเป็น “สิ่งต้องห้าม” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเป็นผู้มีอำนาจลงนาม โดยไม่มีความจำเป็นต้องแก้กฎหมายแต่ประการใด
2.กรณีที่อ้างว่าการขาด พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพทำให้ไม่สามารถทำการทดลองพืชจีเอ็มโอในภาคสนามได้ก็ไม่เป็นความจริง
เนื่องจากผู้ที่ประสงค์จะทำการวิจัยสามารถดำเนินการทดลองได้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 โดยสามารถดำเนินการได้ในระดับแปลงทดลองของทางราชการ แต่ต้องมีมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวด มีการประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียและอื่น ๆ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น
หากกลุ่มสนับสนุนจีเอ็มโอต้องการกระบวนการทดลองที่มีหลักประกันเรื่องความปลอดภัยและมาตรการควบคุมที่เข้มงวดจริงก็ไม่มีความจำเป็นที่จะปฏิเสธกระบวนการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
3.การอ้างว่าการอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอเป็นการสร้าง “ทางเลือก” ให้กับเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงหากอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอโดยปราศจากการป้องกันและควบคุมผลกระทบจากพืชจีเอ็มโอไม่ให้ปนเปื้อนและปะปนกับพืชทั่วไป
3.1 เนื่องจากพื้นที่ปลูกพืชโดยเฉลี่ยของเกษตรกรไทยอยู่ที่ 19.4 ไร่ต่อครอบครัวเท่านั้น ไม่สามารถทำแนวกันชนหรือมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดการผสมข้ามหรือปะปนของพืชและผลผลิตจีเอ็มโอกับเกษตรอินทรีย์และเกษตรทั่วไปได้ เพราะแม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งมีพื้นที่การเกษตรเฉลี่ย 1,100 เอเคอร์ (440 ไร่) หรือมากกว่าเกษตรกรไทยถึง 20 เท่าและมีมาตรการที่เข้มงวดกว่าในการควบคุมก็ยากที่จะควบคุมการปนเปื้อนทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นการปลูกพืชจีเอ็มโอในที่สุดแล้วจะเป็นการผลักภาระให้กับเกษตรกรส่วนใหญ่ และบีบบังคับให้เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องยอมรับการปนเปื้อนทางพันธุกรรม เป็นการ “ทำลายทางเลือก” ของเกษตรกรส่วนใหญ่ในที่สุด
3.2 พืชดัดแปลงพันธุกรรมมากกว่า 70-90% ของโลกดัดแปลงพันธุกรรมให้ต้านทานสารเคมีปราบวัชพืชซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารไกลโฟเสทที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าเป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง การนำพืชดังกล่าวมาปลูกเชิงพาณิชย์เป็นการบีบบังคับทางอ้อมให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีที่บรรษัทกำหนด และในทางปฏิบัติพบว่าปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด การอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอจึงไม่ใช่การสร้างทางเลือก แต่เป็นการทำลายทางเลือกของเกษตรกรในการเลือกใช้วิธีกำจัดวัชพืช สร้างปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทั้งต่อครอบครัวเกษตรกร ชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรวม
3.3 การเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่การใช้พืชจีเอ็มโอจะเป็นการทำลายทางเลือกของเกษตรกรและประเทศในการใช้พันธุ์พืชที่หลากหลายและระบบอาหารที่หลากหลาย เนื่องจากเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอถูกผูกขาดโดยบรรษัทเพียงหยิบมือเดียว ตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา พืชเศรษฐกิจสำคัญคือฝ้าย ถั่วเหลืองและข้าวโพด มีบริษัทมอนซานโต้ผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์ถึง 90% การนำเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเข้ามาปลูกจะเป็นผูกขาดไม่ใช่เป็นการสร้างทางเลือกแต่ประการใด นอกเหนือจากนี้พืชจีเอ็มโอยังมาพร้อมกับระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและสัญญาการใช้ที่เข้มงวด ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในการเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อหรือการแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชระหว่างเกษตรกร ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต
4.กลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอเรียกร้องให้นำพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพมาพิจารณาใหม่ ประเด็นสำคัญคือกลุ่มดังกล่าวต้องการผลักดันให้มีกฎหมายที่มีเนื้อหาเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อกลุ่มผลประโยชน์จากพันธุ์พืชจีเอ็มโอที่มีการคัดค้าอย่างกว้างขวาง หรือยอมรับให้มีเนื้อหาในร่างกฎหมายที่ครอบคลุมหลักการและมาตรการสำคัญตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ?
จากการประมวลของมูลนิธิชีววิถี ข้อเสนอในการยกร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่สามารถคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ สุขภาพ และป้องกันผลกระทบไม่ให้เกิดขึ้นต่อเกษตรอินทรีย์และผู้ประกอบการเกษตรและอาหารที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ ต้องมีเนื้อหาอย่างน้อย มีดังต่อไปนี้
4.1 มาตราต่างๆในกฎหมายต้องนำหลักการป้องกันเอาไว้ก่อน (Precaution principle) และการคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม (Socio-economic approach) ไปบัญญัติไว้ โดยสามารถระงับไม่ให้มีนำเข้า ทดลอง หรือปลูกพืชจีเอ็มโอได้ทันทีเมื่อมีเหตุเบื้องต้นที่คาดว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือต่อเศรษฐกิจสังคม ไม่ใช่นำหลักที่สหรัฐอเมริกาและบรรษัทข้ามชาติที่ให้นำเอาวิธีปฏิบัติที่ต้องพิสูจน์ผลกระทบอย่างร้ายแรง และการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัด เท่านั้นมาใช้เหมือนที่ปรากฏในร่างพ.ร.บ.ที่ถูกยกเลิกไป
4.2 นำเอากระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้ทั้งก่อนหน้าการอนุญาตการทดลองในสภาพควบคุม ในภาคสนาม และก่อนการปลดปล่อยจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีคณะทำงานชำนาญการอิสระที่ประเมินติดตามผลกระทบหลังจากได้อนุญาตให้มีการปลดปล่อยจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อมแล้วอย่างต่อเนื่อง
4.3 ต้องมีการกำหนดความรับผิดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทดลองและปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่อ้างเหตุสุดวิสัย (ข้อยกเว้นใช้ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติหรือภัยสงครามเท่านั้น) โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต้องให้ครอบคลุมผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของมนุษย์และสัตว์ ผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม เช่น ผลกระทบต่อการส่งออก การปนเปื้อนหรือการปะปนทางพันธุกรรม โดยภาระในการพิสูจน์เป็นของผู้ครอบครองจีเอ็มโอเอง ทั้งนี้ในระหว่างการดำเนินคดีหรือพิสูจน์ผู้ครอบครองจีเอ็มโอต้องวางเงินประกันในกองทุนที่ใช้สำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูความเสียหายในระหว่างคดีที่ยังไม่สิ้นสุดด้วย
4.4 กฎหมายต้องไม่ให้อำนาจหน่วยงานระดับกรมหรือสถาบันเป็นผู้อนุญาตในการปลดปล่อยจีเอ็มโอสู่สภาพแวดล้อม โดยให้มีอำนาจเฉพาะการควบคุมการทดลองในสภาพควบคุมและภาคสนามตามเงื่อนไขและระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดเท่านั้น เนื่องจาก “หน่วยงานผู้รับผิดชอบ” มักมีหน้าที่ในการส่งเสริมการวิจัยเรื่องจีเอ็มโอ ขาดการถ่วงดุล ตรวจสอบ
ทั้งนี้การตัดสินใจในการปลดปล่อยจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อมหรืออนุญาตให้มีการปลูกเชิงพาณิชย์ต้องส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา เนื่องจากต้องมีการประเมินผลทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของระบบเกษตรและอาหารประกอบด้วย มิได้พิจารณาเฉพาะประเด็นทางวิทยาศาสตร์หรือเฉพาะประเด็นความปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยเท่านั้น
4.5 คณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพควรประกอบไปด้วยกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้องไม่ใช่มีเฉพาะหน่วยงานของรัฐและกลุ่มสนับสนุนเรื่องจีเอ็มโอดังที่ปรากฎอยู่ในร่างพ.ร.บ.ที่ถูกยกเลิก โดยต้องมีตัวแทนจากกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการอิสระ และองค์กรสาธาณประโยชน์ให้มีส่วนร่วมทั้งในระดับคณะกรรมการ อนุกรรมการ และผู้ชำนาญการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย อีกทั้งต้องมีข้อบัญญัติป้องกันไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในคณะกรรมการระดับต่างๆ
5. เราเห็นว่าการผลักดันให้มีพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีตัวแทนของเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการ “ประชารัฐ” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีคณะกรรมการในการขับเคลื่อนครบถ้วนทั้ง 12 คณะ เป็นการฉวยโอกาสทางการเมือง เนื่องจากภาคประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางการเมืองได้อย่างอิสระ สาระสำคัญของกฎหมายที่ดีต้องมาจากกระบวนการที่โปร่งใส การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของประชาชน ตั้งแต่กระบวนการร่างกฎหมาย การแปรญัตติ การอภิปรายเนื้อหา ตลอดจนการลงมติเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแต่ประการใด
มูลนิธิชีววิถีจะร่วมมือกับองค์กรภาคประชาชนและกลุ่มผู้ประกอบการเกษตรและอาหาร จับตาการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอ และการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในนโยบายเกี่ยวกับจีเอ็มโอของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด โดยทั้งนี้ได้มีนัดหมายตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนทั้ง 125 องค์กร และตัวแทนจากจังหวัดต่าง ๆ 77 จังหวัด ในวันที่ 11 มกราคม 2559 เพื่อกำหนดแนวการขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมและอาหารที่ปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน(ที่แท้จริง) ให้ปรากฎเกิดขึ้นเป็นจริงต่อไป .