เปิดผลวิจัย ยุค คสช.งัดสารพัดวิธีควบคุม-แทรกซึมโลกอินเตอร์เน็ต
"ดูเหมือนว่าที่ผ่านมารัฐยังไม่เข้าใจหรือพยายามจะไม่เข้าใจว่า จริงๆ แล้ว ธุรกิจดิจิทัลหรือ digital economy นั้นคืออะไร ทั้งที่เมื่อก่อนอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่สบายที่ใครอยากจะระบายอะไร หรือแสดงความเห็นสามารถทำได้อย่างสบายใจ แต่วันนี้เราสังเกตเห็นได้เลยว่า คนไทยเริ่มรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในการใช้งานอินเทอร์เน็ต เริ่มรู้สึกว่ามีคนจับจ้อง เล่นงานอยู่ ความวางใจถูกกระทบกระเทือนเป็นอย่างมาก”
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ชั้น 11 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai netizen network) จัดเสวนา “ระบอบการกำกับดูแลโลกไซเบอร์ไทย นับแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยมีอาจารย์ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อาจารย์สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายกิตติพงษ์ ปิยะวรรณโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอินเทอร์เน็ต ร่วมเวที และดำเนินรายการโดยนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต
เวทีเสวนาเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า หลังการทำรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐทหารมีความพยายามในการเข้ามาแทรกแซงโลกไซเบอร์อย่างไรบ้าง
อาจารย์ทศพล หยิบยกข้อมูลจากงานวิจัยที่ใช้เวลาเก็บข้อมูลมากว่า 1ปี 7เดือน และว่า เดิมทีอินเทอร์เน็ตถูกสร้างขึ้นมาโดยปราศจากการเข้ามาแทรกแซงของรัฐ และให้การพัฒนาของเทคโนโลยีเป็นตัวกำกับ และต่อมาเมื่อมีการใช้งานมากขึ้น รัฐจึงเริ่มเข้ามาควบคุมโลกไซเบอร์มากขึ้น โดยมีรูปแบบปลีกย่อยต่างออกไป เช่นรูปแบบลักษณะที่มีรัฐเข้ามา แต่ยังให้ผู้ประกอบการเอกชนกำกับดูแลเงื่อนไขต่างๆ (Term&Condition) หรือในรูปแบบที่รัฐออกกฏหมายและตั้งหน่วยงานขึ้นมาควบคุม รวมถึงการพยายามทำให้สังคมเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลด้วย
แต่รัฐไทยปัจจุบันเลือกที่จะใช้การควบคุมแบบอำนาจรวมศูนย์ ซึ่งมีประเทศไม่กี่ประเทศที่ใช้ลักษณะแบบนี้ อย่างเช่น ประเทศจีนคือตัวอย่างของการควบคุมแบบอำนาจรวมศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง The Great Firewall
อาจารย์ทศพล ระบุถึงงานวิจัยพบว่า วิธีการควบคุมแบบรวมศูนย์ของรัฐบาลนั้น มีตั้งแต่การใช้การสอดแนม หรือการใช้การดักจับข้อมูลในลักษณะ Man in the Middle การออกกฎหมายโดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และแนวคิดการจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์ แม้กระทั่งมีการพยายามจับกุมและดำเนินคดีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต สั่งปิดเว็บไซต์ หรือปิดกั้นการเข้าถึง (Block) การใช้กฎหมาย มาตรา44 และม.112 รวมไปถึง ม.116
ทั้งนี้จาการวิจัย อาจารย์ทศพล เผยว่า รัฐมีการใช้สายลับ อาทิ การให้เจ้าหน้าที่แฝงตัวเข้าไปในกรุ๊ปในเฟซบุ๊กเพื่อจับตาผู้ใช้ การใช้เครือข่ายประชาชนช่วยเฝ้าระวัง เช่น โครงการลูกเสือไซเบอร์ โครงการร้านเน็ตใสสะอาด และมีการให้รางวัลผู้ที่พบเห็นการโพสต์เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย
ถามว่า ทำไมรัฐถึงกลัวพลังในโลกไซเบอร์ เรื่องนี้อาจารย์ทศพล ยกกรณีตัวอย่าง Arab Spring ซึ่งโลกได้เห็นมาแล้วจากเหตุการณ์การลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลในประเทศแถบตะวันออกกลาง ที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือจนทำให้เผด็จการทหารอยู่ไม่ได้
หรือในกรณี การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. ที่มีการใช้พลังของโซเชียลเข้ามาทำให้สามารถล้มรัฐบาลเสียงข้างมากได้สำเร็จ บทเรียนเหล่านี้ทำให้ฝ่ายความมั่นคงของไทยเกิดความกลัว ผนวกกับการที่ไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่จัดว่าค่อนข้างสูง ทหารจึงเห็นว่า จำเป็นที่จะต้องเข้ามากำกับควบคุมพื้นที่บนอินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม การรวมศูนย์การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตของไทยและจีนแตกต่างกัน อาจารย์ทศพล อธิบายว่า ทางการจีนออกแบบระบบที่รวมศูนย์เช่นนี้มาตั้งแต่แรกของการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศ ขณะที่ประเทศไทย ในช่วงแรกอินเทอร์เน็ตถูกกำกับดูแลโดยเอกชนและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ก่อนที่จะมาถูกเปลี่ยนเป็นการกำกับดูแลแบบรวมศูนย์หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557
"ภายใต้บริบทที่ต่างกันเช่นนี้ ความพยายามกำกับควบคุมอินเทอร์เน็ตของรัฐไทยจะประสบความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยไม่ได้เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ต้น” อาจารย์ทศพล ตั้งคำถาม
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการที่รัฐบาลพยายามเข้าหารือกับบริษัทเอกชนอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิล แสดงให้เห็นว่า ในการกำกับดูแลดังกล่าว รัฐไทยไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกับบริษัทเอกชน
อาจารย์ทศพล ยังตั้งคำถามต่อการกระทำของรัฐว่า การที่รัฐพยายามขโมยข้อมูลที่สามารถบ่งชี้ตัวบุคคล เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน การกระทำดังกล่าวกระทำโดยมีหมายศาลหรือไม่ ถ้ากระทำก่อนแล้วค่อยขอหมายศาลก็เป็นการกระทำที่มีปัญหา แต่ถ้าศาลอนุญาต ก็มีคำถามต่อมาว่า ศาลใดเป็นผู้อนุญาต แล้วทำไมถึงอนุญาตให้กระทำการเช่นนั้นได้ ซึ่งวิธีการแบบนี้ เรียกว่า การก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism)
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา อาจารย์ทศพล กล่าวว่า รัฐบาลความพยายามใช้การโน้มน้าวประชาชน เช่น การพยายามโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) อย่างการสั่งทำสติ๊กเกอร์ไลน์ “คืนความสุข” ของกองทัพ หรือการสร้างเพจเฟซบุ๊กจำนวนมากเพื่อโพสต์เนื้อหานิยมชมชอบรัฐบาล มีการจ้างเจ้าหน้าที่ควบคุมทิศทางการนำเสนอข่าว รวมทั้งการพยายามขีดเส้นว่า เรื่องใดที่ประชาชนพูดได้ และเรื่องใดที่ห้ามพูด อย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ในขณะเดียวกันที่รัฐพยายามทำการควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต รัฐเองกลับออกนโยบายที่จะสร้างให้ประเทศเป็นศูนย์กลางของธุรกิจดิจิทัล
"ดูเหมือนว่า รัฐยังไม่เข้าใจหรือพยายามจะไม่เข้าใจว่า จริงๆ แล้ว ธุรกิจดิจิทัลหรือ digital economy นั้นคืออะไร ทั้งที่เมื่อก่อนอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่สบายที่ใครอยากจะระบายอะไร หรือแสดงความเห็นสามารถทำได้อย่างสบายใจ แต่วันนี้เราสังเกตเห็นได้เลยว่า คนไทยเริ่มรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในการใช้งานอินเทอร์เน็ต เริ่มรู้สึกว่ามีคนจับจ้อง เล่นงานอยู่ ความวางใจถูกกระทบกระเทือนเป็นอย่างมาก”
อาจารย์ทศพล กล่าวอีกว่า ดูเหมือนผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง กลุ่มคนอีกกลุ่มที่จะเดือดร้อนมากคือกลุ่มธุรกิจไอที และบรรยากาศการควบคุมอินเทอร์เน็ตแบบนี้จะไม่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจไอที ซึ่งต่างจากสิงคโปร์หรือฮ่องกง แล้วยังงี้การลงทุนในธุรกิจดิจิทัล กลุ่มลงทุนจะเลือกไปที่ไหนมากกว่า ระหว่างประเทศที่มีเสรีภาพกับประเทศที่ทุกอย่างดูรัฐจับตา
ด้านนายกิตติพงษ์ กล่าวถึงสงครามไซเบอร์ หรือcyber warfare ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับประวัติศาสตร์สงคราม และลักษณะของ cyber warfare นั้นมีเป้าหมายในสเกลระดับประเทศหรือระดับสากล คือการเข้าไปทำลายระบบทั้งระบบ (Critical infranstructure) ในส่วนของไทยนั้นยังไม่ถึงขั้นของการก่อให้เกิด cyber warfare เรายังอยู่แค่ในระดับ cyber crime แต่หากต้องเผชิญจริง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าไทยไม่พร้อมรับมือแน่นอน เพราะที่ผ่านมาก็พบว่า ขีดความสามารถในการป้องกันตัวเองของรัฐไทยยังป้องกันตัวเองยังไม่ได้ เช่นกรณีที่มีการถล่มเว็บไซด์ของภาครัฐในช่วงการประท้วง single gateway ที่ผ่านมา เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านด้านระบบอินเทอร์เน็ต ยังกล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลต้องการควบคุมพื้นที่อินเทอร์เน็ตได้อย่างสมบูรณ์ รัฐก็ต้องมีขีดความสามารถดังต่อไปนี้
1.มีความสามารถในการฟังหรือเข้าถึงข้อมูล ความพยายามจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์เป็นความพยายามหนึ่งในการสร้างขีดความสามารถนี้
2.มีความสามารถในการคัดกรองข้อมูล
3.มีความสามารถในการจัดเก็บข้อมูล
4.มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล
5.มีทรัพยากรบุคคลที่พร้อม มีความรู้และทักษะที่จำเป็น
นายกิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า หากรัฐไทยมีขีดความสามารถทางเทคนิคข้างต้นครบ เราก็สามารถเป็นอย่างประเทศจีน ซึ่งควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างไเบ็ดเสร็จด้ อย่างไรก็ตาม แม้เราจะใช้งบประมาณลงทุนมหาศาลเพื่อให้ได้เหมือนอย่างจีน แต่ก็เห็นได้ว่า ยังมีช่องโหว่มากมาย
"อย่างกรณีที่ผมไปเซียงไฮ้ ปรากฏว่าผมยังสามารถใช้งานเฟซบุ๊คได้ตามปกติ และจะสังเกตได้ว่า ทางการจีนเองก็เริ่มมีการผ่อนปรนในการจำกัดการเข้าถึงโดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถ้ารัฐไทยจะทำจริงๆ ถามว่าจะคุ้มไหมหากรัฐต้องการจะทำ"
ด้านอาจารย์สาวตรี กล่าวว่า หลังจากรัฐบาล คสช.ขึ้นมา จะเห็นได้เลยว่า มีความพยายามในการเข้ามาควบคุมการออกความเห็นของประชาชน ตั้งแต่การออก พ.ร.บ.ความมั่นคงทางไซเบอร์ ใช้อำนาจในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล และพบว่า มีการขยายอำนาจทางกฎหมายอาญาให้ไปคุ้มครองกว้างมากขึ้น อย่างกรณี ม.116 ที่มีความพยายามในการตีความกว้างครอบคลุมตัวนายกรัฐมนตรีไปด้วย และยังมีการใช้มาตรากฎหมายในลักษณะบิดเบือน
การออกกฎหมายโดยการตั้งองค์กรความมั่นคงเพิ่มขึ้นในลักษณะเพื่อการควบคุมในด้านนี้โดยตรง อาจารย์สาวตรี ตั้งคำถามว่า เป็นการคุ้มครองหรือเป็นการควบคุมกันแน่
ประเด็นนี้อาจารย์สาวตรีตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงหลังรัฐประหาร เห็นได้ชัดว่ามีการนำกฎหมายด้านความมั่นคงซึ่งมีโทษสูง เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 มาใช้ แทนที่จะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อเอาผิดพยายามเอาผิดกับผู้แสดงความคิดเห็นในโลกอินเทอร์เน็ต ในเหตุที่ทำให้ทางรัฐมีความพยายามในมาตราหนักๆ เหล่านี้ทำให้คดีหลายคดีถูกพิจารณาในศาลทหาร
"ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลต้องการให้คดีเหล่านี้เป็นเรื่องร้ายแรง ทำให้ประชาชนคนอื่นเกิดความหวาดกลัว จนกระทั่งต่อไปนี้จะกดไลท์ไม่อาจไม่กล้า” อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์กล่าว และว่า การควบคุมโลกออนไลน์ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นไม่ได้มาจากรัฐบาลหรือทหารฝ่ายเดียว แต่เป็นประชาชนด้วยกันเองด้วยอย่างเช่นมีการฟ้องร้องใน ม.112 เพิ่มากขึ้น รวมไปถึงการกลั่นแกล้ง
ทั้งนี้อาจารย์สาวตรี ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงที่มีปัญหาทางการเมืองยังเป็นช่วงที่มีการฟ้องร้องในคดี ม. 112 อย่างมีนัยยะสำคัญ สังเกตได้จากตัวเลขที่ทาง iLaw ได้มีการบันทึกเอาไว้ จะเห็นได้ว่า ช่วงหนักอย่าง ปี 2552 มีคดี ม.112 กว่า 104 คดี เทียบกับ ปี 2550 ที่มีเพียง 36 คดี หรือในปี 2555 มีแค่เพียง 23 คดี แต่อย่างปี 2557 มีมากถึง 96 คดี
ในส่วนของคดีในมาตรา 116 นั้น อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. เปรียบเทียบให้เห็นว่า ระหว่างรัฐบาลที่มากจากการเลือกตั้ง กับรัฐบาลทหารนั้นเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะก่อนรัฐประหาร คดีม.116 มีเพียง 4 คดี แต่หลังจากรัฐประหารตัวเลขกระโดดมาที่ 10 คดี ทั้งๆ ที่มีการต่อต้านรัฐบาลที่รุนแรงพอๆ กัน แต่ทำไมในช่วงก่อนรัฐประหารถึงมีน้อยกว่ามาก
ในส่วนทิศทางของการควบคุมอินเทอร์เน็ตของไทยในอนาคต อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. มองว่า ประเทศไทยจะยังมีการควบคุมอินเทอร์เน็ตแบบนี้ต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและจนกว่าประเทศจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่หากมองในระดับโลก การควบคุมอินเทอร์เน็ตโดยรัฐก็จะเข้มงวดขึ้นด้วย เพราะมีประเด็นเรื่องการก่อการร้ายสากลเข้ามา
ทั้งนี้อาจารย์สาวตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
1. ต้องแก้รัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดให้นำผู้ที่ทำรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อที่รัฐประหารจะได้ไม่เกิดขึ้นอีกเหมือนดังที่หลายประเทศทำมาแล้ว
2. ต้องมีการปฏิรูปกองทัพ โดยลดบทบาททางการเมืองและลดงบประมาณของกองทัพลง เพื่อให้ทหารกลายเป็นทหารอาชีพจริงๆ แต่คำถามคือรัฐบาลพลเรือนที่จะเข้ามาจะกล้าทำหรือไม่
3. ควรมีศาลชำนาญการพิเศษในเรื่องไอทีโดยเฉพาะ และมีผู้พิพากษาสมทบที่มีความรู้เรื่องนี้
4. ปรับแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อระบบเท่านั้น ไม่รวมเรื่องเนื้อหา
5. ทบทวนว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จำเป็นหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องมีควรต้องการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อป้องกันและดูแลความปลอดภัยไซเบอร์
6. ควรมีองค์กรข่าวสารและต้องมาจากการร่วมทุกภาคส่วน
7. ควรมีการตั้งองค์กรตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ยกตัวอย่างกรณีประเทศเยอรมนี ที่มีองค์กรอิสระที่ควบคุมดูเเลว่ามีแม่ทัพหรือคนในกองทัพที่เข้าข่ายพฤติกรรมที่ไม่เคารพประชาธิปไตยหรือไม่
8. กฎหมายอาญาต้องไม่เปิดช่องให้มีการใช้อำนาจเกินขอบข่าย
9. เปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยเข้าถึงพยานหลักฐานดิจิทัลปฐมภูมิได้อย่างเท่าเทียมกัน