พลิกแฟ้มคดีรัฐ VS เอกชน! ‘รบ.บิ๊กตู่’เตรียมสาง-ค่าโง่ 6.8 แสนล.ใครจ่าย?
พลิกแฟ้มสารพัดคดีรัฐ VS เอกชน! ‘รบ.บิ๊กตู่’เตรียมสาง ‘วิษณุ’ ยันคดีจำนำข้าวยังอีกยาว ส่วนระบายข้าวจีทูจีใกล้จบแล้ว คดีภาษีบุหรี่ฟิลิป มอร์ริสเตรีมส่งฟ้อง ค่าโง่คลองด่านยังไม่มีบทสรุปต้องจ่ายอย่างไร มหากาพย์ไอทีวี-โฮปเวลล์ยังยืดเยื้อ รวมความเสียหาย 6.8 แสนล้าน
จบไปแล้วสำหรับการแถลงผลงานครบ 1 ปี ‘รัฐนาวาท็อปบู้ต’ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เพิ่มเติมสีสันด้วยการปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ “เพราะเธอคือ …ประเทศไทย” หลังจากช่วงรัฐประหารกลางปี 2557 แต่งเพลง “คืนความสุขให้คนในชาติ” ไปแล้ว
อย่างไรก็ดีสาระสำคัญนอกเหนือไปจากผลงานต่าง ๆ ของรัฐบาล ยังมีประเด็นเรื่อง ‘คดีความ’ ที่ค้างคาอยู่หลายคดี ไม่ว่าจะเป็นระหว่างรัฐเป็นโจทก์ฟ้องเอกชน หรือประชาชน-เอกชนเป็นโจทก์ฟ้องรัฐ ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมื่อสิบปีก่อนหรือในปัจจุบันก็ตาม
“ครั้นรัฐบาลจะเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ก็ไม่ได้ เพราะเป็นความรับผิดชอบ อย่างมากที่สุด คือ สานต่อ และดูแลคดีให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ ไม่ว่ารัฐบาลเป็นโจทย์หรือจำเลยก็ตาม”
เป็นคำยืนยันของ ‘เนติบริกร’ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย
มีคดีอะไรบ้าง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ย้อนรอยให้เห็นกัน ดังนี้
หนึ่ง คดีที่รัฐบาลเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอกชน เพราะถือว่าเอกชนทำให้รัฐบาลเสียหาย 4 คดี ได้แก่
1.คดีทุจริตโครงการจำนำข้าว
กรณีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2557 ฐานไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากทำให้รัฐขาดทุนกว่า 5 แสนล้านบาท (อ้างอิงจากคำแถลงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.) รวมถึงกระบวนการดำเนินโครงการส่อทุจริตอีกด้วย
ต่อมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น เพื่อเอาผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหายคืนรัฐ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ซึ่งปัจจุบันเรื่องยังค้างอยู่ที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งนายวิษณุ ระบุว่า “ยังอีกยาว”
ส่วนคดีอาญานั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยจะมีการไต่สวนพยานตั้งแต่ช่วงต้นปี 2559 ลากยาวไปจนปี 2560
(อ่านประกอบ : “ปู”ยื่นเงินฝาก 30 ล.ประกันตัว-ใช้พยาน 20 ปากสู้คดีจำนำข้าว )
2.คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
กรณีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (ปัจจุบันถูกศาลออกหมายจับ เนื่องจากมีพฤติกาณ์หลบหนี) นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กับพวกรวม 36 คน ฐานไม่ได้ทำการส่งออกข้าวจีทูจีไปยังประเทศจีนจริง บริษัทจีน 2 แห่งไม่ได้เป็นตัวแทนจากประเทศจีน แต่มีพฤติการณ์นำข้าวมาเวียนขายในประเทศราคาถูกกว่าท้องตลาด
ทั้งนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง (เหมือนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์) จนเสร็จสิ้นกระบวนความแล้ว โดยแบ่งจำเลยออกเป็น 3 ชุด
ซึ่งใน 3 ชุดที่ว่า ยังไม่ปรากฏรายละเอียดว่าใครบ้าง แต่คาดกันว่าชุดแรกเป็นฝ่ายการเมือง 3 ราย คือนายบุญทรง นายภูมิ และ นพ.วีระวุฒิ ชุดที่สองเป็นข้าราชการระดับสูง 3 ราย คือนายมนัส นายทิฆัมพร นายวรทัต อดีต ผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรม และอดีต ผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ประเมินความเสียหายอยู่ และใครจะต้องเป็นคนรับผิดชอบบ้าง
ส่วนชุดที่สาม นายวิษณุ ระบุว่า เป็นบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตามคำแถลงของ ป.ป.ช. มีเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 30 ราย เป็นเอกชนจากจีน 7 ราย เอกชนจากไทย 23 ราย โดยมีบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่มีนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ พ่อค้าข้าวชื่อดังเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และเป็นตัวละครหลักในคดีนี้ (ปัจจุบันถูกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำคุก 6 ปี ฐานยักยอกข้าวของรัฐ อยู่ที่เรือนจำกลาง จ.สมุทรปราการ)
ขณะที่คดีอาญานั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยจะมีการนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานช่วงต้นปี 2559
(อ่านประกอบ :ป.ป.ช.เชือดล็อตแรกคดีข้าวจีทูจี"บุญทรง-ภูมิ"ไม่รอด-ฟ้องแพ่ง 6 แสนล้าน, ป.ป.ช.ฟันลอตสอง!15 เอกชนพันคดีข้าวจีทูจี-บ.เจียเม้งตัวละครข้าวถุงโดนด้วย, ชีวิตในเรือนจำปากน้ำแดน 3 'เสี่ยเปี๋ยง' หลังเจอคุก 6 ปี ยักยอกข้าวรัฐ )
3.คดีเรียกเงินภาษี บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด
กรณีนี้เกิดจากการตรวจสอบพบว่า ระหว่างปี 2546-2550 บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ แจ้งราคานำเข้าบุหรี่ต่ำกว่าราคานำเข้าของบริษัทอื่น ๆ 3-4 เท่า เช่น บุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ สำแดงราคา ซองละ 7.76 บาท แต่บริษัท คิง พาวเวอร์ฯ สำแพงราคา ซองละ 27.46 บาท หรือบุหรี่ยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ สำแดงราคา ซองละ 5.88 บาท บริษัท คิง พาวเวอร์ฯ สำแดงราคา ซองละ 16.81 บาท จึงถูกกล่าวหาว่าสำแดงภาษีเป็นเท็จ ทำให้ประเทศเสียหายกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท
ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รายงานการดำเนินคดีพิเศษเมื่อปี 2549 กรณีนี้ โดยพนักงานสอบสวนมีความเห็นทางคดีว่าควร ‘สั่งฟ้อง’ ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 14 รายต่อพนักงานอัยการ แต่ต่อมาเมื่อปี 2554 พนักงานอัยการกลับมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวกดดันจากกลุ่มนักวิชาการ ภาคประชาชน สื่อมวลชน และหน่วยงานรัฐ รวมถึงดีเอสไอเองก็มีความเห็นแย้งต่อการไม่ฟ้องดังกล่าว กระทั่ง ต.ค. 2556 อัยการสูงสุด (อสส.) ขณะนั้น มีคำสั่งเด็ดขาดให้ ‘ฟ้อง’ และเรื่องก็เงียบหายไป
กระทั่งกลับมาร้อนแรงอีกครั้งในช่วงปี 2558 ภายหลังบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ส่งหนังสือขอความเป็นธรรมไปยัง ‘บิ๊กตู่’ ทำให้รัฐบาลมีการหารือโดยด่วนเป็นกรณีพิเศษ มีนายวิษณุ เป็นประธาน และคนระดับสูงในรัฐบาลร่วมประชุม ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ (ขณะนั้น) และตัวแทนระดับสูงจากฝ่ายอัยการ เป็นต้น
ล่าสุด คดีนี้ยังค้างอยู่ที่สำนักงาน อสส. โดยพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษได้มีหนังสือนัดผู้ต้องหาเพื่อมารายงานตัวส่งฟ้องคดีแล้ว ขณะเดียวกันนายวิษณุ ได้มอบหมายให้กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมบัญชีกลาง หารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปการแก้ไขปัญหาการขอคืนเงินประกันของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สามารถดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และมอบหมายให้ดีเอสไอตรวจสอบใบขนสินค้าขาข้าวของบริษัทฯ ที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียว่า เป็นเรื่องเดียวกันกับที่ได้ยื่นฟ้องต่อดับเบิ้ลยูทีโอและศาลภาษีอากรกลางหรือไม่ โดยต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนวันที่พนักงานอัยการฯนัดผู้ต้องหามารายงานตัวส่งฟ้องคดี
4.คดีเรียกค่าเสียหายบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ‘เอไอเอส’ กว่า 7 หมื่นล้านบาท
กรณีนี้ เกิดขึ้นระหว่างช่วงปี 2544-2545 เอไอเอสแก้ไขข้อตกลงแนบท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในคลื่น 900 เมกะเฮิร์ซ โดยปรับลดส่วนแบ่งรายได้ระบบเติมเงินครั้งที่ 6 ในปี 2544 และหักค่าใช้จ่ายในการโรมมิ่งครั้งที่ 7 ในปี 2545 รวมมูลค่าประมาณ 7 หมื่นล้านบาท
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดว่า เป็นการแก้ไขสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษากล่าวโทษ นายทักษิณ ชินวัตร นายกฯ (ขณะนั้น) เอื้อประโยชน์ในการแก้ไขสัญญาดังกล่าว
ล่าสุด บริษัท ทีโอทีฯ ได้ยื่นหนังสือแจ้งให้เอไอเอสชำระผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาทแล้ว แต่เอไอเอสได้ทำหนังสือโต้แย้งไปยังบริษัท ทีโอทีฯ และดำเนินการนำข้อพิพาทดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
สอง คดีที่ประชาชนหรือเอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาล 6 คดี ได้แก่
1.บริษัท วอลเตอร์ บาว จำกัด (Walter Bau) ฟ้องรัฐบาลฐานได้รับผลกระทบจากการผิดสัญญาก่อสร้างโทลล์เวย์
กรณีนี้ วอลเตอร์ บาว (เอกชนจากเยอรมนี) อ้างว่าได้รับผลกระทบจากที่รัฐบาลไทยผิดสัญญาในโครงการก่อสร้างโทลล์เวย์หลายประเด็น เช่น ขอให้ลดค่าผ่านทางเหลือ 20 บาทตลอดสาย และมีมาตรการไม่ให้บริษัทปรับค่าผ่านทาง รวมถึงการสร้างทางแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น โครงการโฮปเวลล์ การก่อสร้างทางเบี่ยงบนถนนวิภาวดี-รังสิต การก่อสร้างสะพานลอยที่แยกสุทธสารถนนวิภาวดีฯ การย้ายสนามบินดอนเมืองไปสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น จึงยื่นฟ้องผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เริ่มกระบวนการไต่สวนที่ฮ่องกง ไทยดำเนินการซักค้านเมื่อปี 2550
ต่อมา อนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดเมื่อปี 2552 ระบุว่า ประเทศไทยผิดพันธกรณีภายใต้ความตกลง และต้องชำระค่าชดเชยจำนวน 29.21 ล้านยูโร พร้อมดอกเบี้ย คำนวณตามอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารในกลุ่มยูโร (6 month successive Euribor) ในอัตรา 2% ต่อปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2549 จนกว่าถึงวันชำระเงิน (ความเสียหายล่าสุดประมาณ 200 ล้านยูโร หรือ 9.000 ล้านบาท) พร้อมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีของฝ่ายวอลเตอร์ บาว จำนวน 1,806,560 ยูโร รวมทั้งดอกเบี้ยตามอัตราเดียวกับค่าชดเชยความเสียหาย
ทั้งนี้วอลเตอร์ บาว ได้ยื่นคำร้องต่อศาลสหรัฐอเมริกา ใช้สิทธิตามอนุสัญญานิวยอร์กที่ไทยและสหรัฐฯเป็นภาคี เพื่อบังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ และศาลสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งรับรองคำชี้ขาดให้ไทยต้องรับผิดชอบการจ่ายเงินตามกำหนด หากไม่อย่างนั้นอาจขอให้ศาลบังคับเอาทรัพย์สินของรัฐบาลไทยที่อยู่ในเขตอำนาจได้
ในปี 2553 คณะทำงานดำเนินการเสนอคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเพิกถอนคำชี้ขาด แต่ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยว่า คดีดังกล่าวไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศาลปกครองสูงสุดพิจารณา
2.คดีแก้ไขสัญญาโทลล์เวย์ สมัยรัฐบาลนายทักษิณ-พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
กรณีนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนายสมคิด หอมเนตร กับพวกรวม 21 ราย ฟ้องศาลปกครองกลาง กล่าวหา รมว.คมนาคม อธิบดีกรมทางหลวง บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) คณะรัฐมนตรี กรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคม ต่อศาลปกครองกลาง ฐานเป็นหน่วยงานหรือเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีการร่วมกันเห็นชอบและอนุมัติการแก้ไขบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัมปทาน เมื่อปี 2550
ทั้งนี้ศาลปกครองกลางพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า การบันทึกแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ในทางหลวงแผ่นดิน ถ.วิภาวดี-รังสิต ตอนดินแดง-ดอนเมือง ตามมติคณะรัฐมนตรีนายทักษิณ และสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัท ทางยกระดับดอนเมืองฯ เพียงฝ่ายเดียว และการจัดเก็บค่าผ่านทางสร้างภาระให้ประชาชน ผู้บริโภค ผู้ใช้ทางยกระดับเกินสมควรจึงเป็นการไม่เหมาะสม ในการยกเลิกผลประโยชน์การตอบแทนรัฐให้แก่เอกชน ขยายอายุสัมปทานออกไปอีก 27 ปี และยอมให้เอกชนมีอำนาจเหนือรัฐ กำหนดราคาล่วงหน้า ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ทำให้รัฐและประชาชนได้รับความเสียหาย
ดังนั้น มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 เม.ย. 2549 เฉพาะส่วนรับทราบข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาการขาดทุนของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 เม.ย. 2550 เฉพาะส่วนที่ให้ความเห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ฉบับที่ 3/2550 วันที่ 12 ก.ย. 2550 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
3.คดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
กรณีนี้ เกิดจากเบื้องต้นจะก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียขึ้นใน 2 ฝั่ง แม่น้ำเจ้าพระยาใน จ.สมุทรปราการ คือ ฝั่งบางปูและฝั่งพระสมุทรเจดีย์แต่ต่อมากลับรวมโครงการไว้ในที่ผืนเดียวกันที่ฝั่งคลองด่าน ทั้งๆที่ขัดแย้งกับผลการศึกษาของบริษัท มอนด์โกเมอรี่ วัตสัน เอเชีย จำกัด ที่เห็นว่าฝั่งคลองด่านไม่เหมาะสม และที่ดินฝั่งคลองด่านส่วนหนึ่งเป็นที่สาธารณะประโยชน์ แต่มีการออกโฉนดโดยมิชอบขายให้แก่กรมควบคุมมลพิษในราคาที่สูงมาก เป็นเหตุให้ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนายวัฒนา อัศวเหมเป็นเวลา 10 ปี
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มวงเงินโครงการจากเดิม 13,612 ล้านบาท เป็น 22,955 ล้านบาท และเดิมมีผู้ซื่อซองประกวดราคา 13 ราย แต่เมื่อมีการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะเจาะจงใน TOR ว่าผู้รับจ้างต้องมีประสบการณ์ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ทำให้มีผู้ยื่นซองประมูลจริงเพียง 4 ราย และผ่านคุณสมบัติเพียง 2 ราย ได้แก่ “กิจการร่วมค้า NVPSKG” และ “กลุ่มบริษัทมารูบินี” ต่อมานายปกิต อธิบดีกรมควบคุมมลพิษในขณะนั้น ได้แก้เงื่อนไขการประมูลให้รวมทำโครงการบำบัดน้ำเสียบนที่ดินผืนเดียว ทั้งที่มติ ครม.ระบุให้ทำบนที่ดินสองผืน ทำให้กลุ่มบริษัทมารูบินีถอนตัว เพราะหาที่ดินไม่ทัน กิจการร่วมค้า NVPSKG จึงชนะการประมูลที่ราคา 22,949 ล้านบาท
แต่ก่อนทำสัญญาบริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ NWWI ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียได้ถอนตัวจากกิจการร่วมค้า NVPSKG ทำให้กิจการร่วมค้าขาดคุณสมบัติตามเงื่อนไขใน TOR เพราะผู้ร่วมค้าอีก 5 บริษัทไม่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่มีการทำสัญญาไปทั้งที่ขาดคุณสมบัติ
ระหว่างการก่อสร้างนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ได้สั่งให้ยุติการก่อสร้าง เนื่องจากพบประเด็นทุจริตหลายรายการ รวมทั้งการที่ไม่มี NWWI อยู่ในกิจการร่วมค้า กิจการร่วมค้า NVPSKG จึงยื่นคำร้องให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินค่าเสียหาย 9,000 ล้านบาทเศษ
ในที่สุดศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าเสียหายตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และล่าสุดคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ มีมติให้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแล้ว ท่ามกลางการคัดค้านของภาคประชาชน นักวิชาการ รวมถึงกรรมการ ป.ป.ช. อย่างนายวิชา มหาคุณ ขณะที่ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ได้เสนอให้รัฐบาลใช้วิธีหักลบกลบหนี้แทน
(อ่านประกอบ : ปธ.คตง.แนะ รบ.ใช้วิธีหักกลบลบหนี้จ่ายค่าโง่‘คลองด่าน’ )
4.คดีบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเรียกค่าเสียหาย 1.2 หมื่นล้านบาท กรณีกระทรวงคมนาคมบอกเลิกสัญญา
โครงการโฮปเวลล์หรือโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้ชนะประมูลคือบริษัท โฮปเวลล์ฯ อายุสัมปทาน 30 ปี ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดีหลังจากเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ 7 ปี พบว่าล่าช้าเป็นอย่างมาก กระทรวงคมนาคมจึงบอกเลิกสัญญาเมื่อปี 2541 และให้โครงสร้างทุกอย่างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (บริษัทแม่) ร้อต่ออนุญาโตตุลาการให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท. รับผิดค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญา เป็นเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท ส่วน รฟท. ร้องค่าเสียโอกาสเป็นเงิน 2 แสนล้านบาท แต่อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท. ชดใช้ค่าเสียหาย 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี ให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ฯ
ต่อมา กระทรวงคมนาคมและ รฟท. ได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลการต่อศาลปกครองกลาง และศาลฯมีคำพิพากษาเมื่อต้นปี 2557 ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าว โดยระบุว่า การยื่นเรื่องให้อนุญาโตตุลาการเกินกรอบเวลา 60 วัน ที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน ล่าสุด อยู่ระหว่างศาลปกครองสูงสุดพิจารณา
5.คดีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ฟ้องศาลแพ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เรียกค่าเสียหาย 5 พันล้านบาท
กรณีนี้บริษัท ช.การช่างฯ ในฐานะหุ้นส่วนกิจการร่วมค้าบีบีซีดีและในนามกิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้ฟ้อง กทพ. ในข้อหาลาภมิควรได้ กรณีเมื่อปี 2538 กทพ. จ้างเหมาให้กิจการร่วมค้า บีบีซีดี เป็นผู้รับจ้างออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง วงเงินกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจาก กทพ. ส่งมอบพื้นที่ไม่ทันกำหนด และแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างทำให้งานของ บีบีซีดี ล่าช้าต้องขยายเวลาอีก 11 เดือน ปรับค่าจ้างเพิ่มกว่า 6 พันล้านบาท
ช.การช่างฯ จึงเสนอข้อขัดแย้งต่ออนุญาโตตุลาการ โดยชี้ขาดให้ กทพ. ชำระค่าจ้างเพิ่มเติมให้พร้อมดอกเบี้ย แต่ กทพ. ไม่ยอมชำระ ช.การช่างฯ จึงยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ให้บังคับคำชี้ขาดดังกล่าว โดยศาลแพ่งฯพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ฝ่าย กทพ. ได้อุทธรณ์และฎีกาตามลำดับ ซึ่งท้ายสุดศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำร้องของ ช.การช่างฯ นั้น โดยให้เหตุผลว่า การทำสัญญาจ้างเอื้อประโยชน์แก่ ช.การช่างฯ จึงไม่มีผลผูกพันกับ กทพ.
อย่างไรก็ดี ช.การช่างฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กทพ. อีกครั้งต่อศาลแพ่งเมื่อปี 2551 อ้างว่า ผลแห่งคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวทำให้ กทพ. ได้ทางพิเศษสายบางนา-บางพลี-บางปะกง มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย กทพ. มีหน้าที่คืนทางพิเศษให้แก่ ช.การช่างฯ และบีบีซีดี แต่เนื่องจากทางดังกล่าวตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว กทพ. จึงต้องชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินกว่า 9.6 พันล้านบาท ต่อมาศาลแพ่งพิพากษาให้ กทพ. ชำระเงินจำนวน 5 พันล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีให้แก่ ช.การช่างฯ กับพวก
ด้าน กทพ. ได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง ระบุว่า ช.การช่างฯ กกับพวกทำสัญญาจ้างเหมาพิพาทกับ กทพ. โดยกระทำการไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้น ช.การช่างฯ ยอมรับความเสี่ยงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการออกแบบและก่อสร้างที่เกิดขึ้นภายหลังเอง ดังนั้นแม้ต่อมา ช.การช่างฯ ทำงานแล้วเสร็จส่งมอบโครงการให้ กทพ. ก็ยังถือว่า ช.การช่างฯ กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ล่าสุดคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
6.คดีข้อพิพาทระหว่างบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)
กรณีเกิดขึ้นภายหลังรัฐประหารเมื่อปี 2549 เมื่อเครือชินคอร์ปมีตระกูลชินวัตรถือหุ้นใหญ่ ต่อมากลุ่มผู้บริหารใหม่เปลี่ยนผังรายการ ปลับลดสัดส่วนข่าว เพิ่มวาไรตี้ จนร้องเรียนไปยังอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีคำสั่งชี้ขาดให้แก้ไขสัญญาลดสัดส่วนข่าวจากไม่ต่ำกว่า 70% เป็นไม่ต่ำกว่า 50% และลดค่าสัมปทานจากปีละ 1 พันล้านบาท เหลือ 230 ล้านบาท
หลังจากนั้น สปน. ยื่นฟ้องศาลปกครอง กระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาปลายปี 2549 (หลังการรัฐประหาร) ว่า คำสั่งอนุญาโตตุลาการไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี และดำเนินการไม่สุจริต ต่อมาปี 2550 สปน. มีคำสั่งให้ไอทีวีชำระค่าปรับรวมกว่า 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดียังไม่ทันครบกำหนดชำระ สปน. ได้ยึดไอทีวีคืนเป็นของรัฐ และให้ออกอากาศต่อในนามทีไอทีวี ตามที่พนักงานร้านศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว ต่อมาจึงโอนคลื่นให้ไทยพีบีเอสที่จัดตั้งขึ้นใหม่ไปใช้
นอกจากนี้ สปน. ยังให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องไอทีวีฐานผิดสัญญาเรียกค่าเสียหายรวม 1.01 แสนล้านบาท ไอทีวีต่อสู้ร้องศาลปกครองให้ตั้งอนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยชี้ขาดกรณี สปน. ใช้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อสัญญาเข้าร่วมงานฯ และความไม่ถูกต้องในการเรียกร้องให้บริษัทฯ ชำระค่าส่วนต่าง ดอกเบี้ย ค่าปรับมูลค่าทรัพย์สินที่ส่งมอบไม่ครบ และบริษัทฯ ขอเรียกค่าเสียหายจาก สปน.จำนวน 21,814 ล้านบาท พร้อม ทั้งขอให้ชดเชยความเสียหายโดยให้บริษัทฯ ได้กลับเข้าดำเนินการสถานีโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ต่อไปจนครบอายุตามสัญญาฯ
ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้ตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดปัญหาข้อพิพาทเรื่องค่าปรับ และขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนอนุญาโตตุลาการชี้ขาดอีกรอบ
ทั้งหมดคือสารพัดคดีไม่ว่าจะเป็น รัฐฟ้องเอกชน-เอกชนฟ้องรัฐ ที่ยังคาราคาซัง บางคดีก็ใกล้ปิดฉาก บางคดีอีกยาวไกล ซึ่งรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ กำลังเร่งรัดให้ ‘เคลียร์’ ทุกคดีให้จบโดยเร็วที่สุด
รวมค่าความเสียหายทั้งหมดเบ็ดเสร็จกว่า 6.8 แสนล้านบาท
ส่วนจะทำได้หรือไม่ สุดท้ายรัฐต้องเสียค่าโง่ หรือจะได้เงินกลับคืนมา ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด !
หมายเหตุ : ภาพประกอบทั้งหมดจาก pantip, lokwannee, tnews