ดร.วรากรณ์แนะใช้ข้อมูลประชุมโลกร้อนที่ปารีสกำหนดนโยบายขับเคลื่อนศก.
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แนะไทยใช้ข้อมูลประชุมโลกร้อนที่ปารีสกำหนดนโยบายพลังงาน-เศรษฐกิจ-สุขภาวะ ชี้แรงกระตุ้นโลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพด้วย
เมื่อเร็วๆนี้ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 “สานพลังปัญญาและภาคีสร้างสุขภาวะไทย” จัดเวทีสาธารณะ “หยุด ! มองระบบสุขภาพ/สุภาวะไทย” ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงการมีสุขภาวะที่ดี ถือเป็นหัวใจสำคัญของชาติ สุขภาวะดีจะเป็นหลักให้สมาชิกครอบครัว เป็นหัวใจของการสร้างประเทศให้มั่งคั่งและมีผลิตภาพสูง ประเทศจะร่ำรวย หรือยากจน ล้วนอยู่ที่ความสามารถของคนในประเทศ หากคนในประเทศมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งทางกายและทางใจ ไม่ว่าอย่างไรชาติจะต้องก้าวหน้า ดังนั้นการวางแผนระยะยาวคือประเทศไทยทำอย่างไรที่จะให้มีผลิตภาพสูงขึ้นโดยที่สุขภาวะของคนไทยจะต้องดีขึ้นตามไปด้วย
ดร.วรากรณ์ กล่าวถึงการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP21 ที่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยรัฐบาลนานาประเทศมาร่วมกันหาทางออกจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ข้อสรุปมีเป้าหมายคืออุณหภูมิโลกจะต้องไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ท้าทายเป็นอย่างมาก และทุกประเทศจะต้องกลับไปกำหนดเป้าหมายของตัวเอง ไม่ทำตามเป้าหมาย เกิดปัญหาสุขภาพสุขภาวะก็ต้องจัดการแก้ไขกันเอง และในปีค.ศ.2050 โลกจะต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ความท้าทายคือแล้วประเทศไทยจะวางนโยบายสุขภาวะในอนาคตอย่างไร
อธิการบดีม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องเริ่มคิด คือ ตั้งแต่เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อการประชุมCOP21 มีการกำหนดเป้าหมายที่จะให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสแล้ว ปัญหาเรื่องของพลังงานที่เราจะนำมาใช้เป็นอย่างไร การกำหนดเรื่องโรงงานอุตสาหกรรม สุขภาพผู้ป่วย พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นสิ่งที่จะต้องเริ่มนำมาคิด เนื่องจากขณะนี้แรงกระตุ้นของโลกได้เปลี่ยนแปลงแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องนำเงื่อนไขจากการประชุม COP21 ในการกำหนดนโยบายทั้งในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และการใช้พลังงาน
“แผนระยะยาว ประเทศไทยต้องเอาข้อมูลที่ปารีสมาดู นโยบายการใช้ฟอสซิลเป็นพลังงาน การใช้น้ำหรือทรัพยากรต่างๆ ต้องเริ่มมีการวางแผน ซึ่งข้อสรุปของการประชุมดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะนำมาใช้ในการกำหนดหรือสร้างนโยบายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นหลัก”