ร่ายยาวผลงานชิ้นโบว์แดง! ‘วิษณุ เครืองาม’ เปรียบกม.เหมือนจักรยาน ปั่นไปสู่จุดหมาย
"...ผลงานด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และระเบียบราชการนั้น สิ่งที่กำลังจะบอกมีประโยคเดียว คือ รัฐบาลนี้ทำอะไร และเมื่อรู้แล้วจะให้คะแนนหรือประเมินเท่าไหร่ เป็นเรื่องของผู้อยู่ในขบวนจักรยานทั้งหลาย คือ ประชาชน ต้องอาศัยประชาชนเป็นตัววัด...เพราะเธอคือประเทศไทย!!!"
เช้าวันที่ 23 ธันวาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำแถลงผลการดำเนินงาน 1 ปี รัฐบาล และการจัดนิทรรศการระหว่างวันที่ 23-25 ธันวาคม 2558 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี, ผู้แทน คสช., สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และข้าราชการระดับสูงเข้าร่วม
หนึ่งในผลงานที่น่าจับตามองของรัฐบาลชุดนี้ หนีไม่พ้นด้านกฎหมาย ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ ‘นายวิษณุ เครืองาม’ รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ได้ร่ายยาวเฉียด 1 ชั่วโมง แจกแจงผลงานเป็นขั้นเป็นตอน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมบางช่วงบางตอนมานำเสนอ
นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลนี้มีผลงานด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และระเบียบราชการ ซึ่งเป็นผลงานที่แปลก และเทียบไม่ได้กับผลงานด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การต่างประเทศ สังคม พลังงาน และอื่น ๆ เพราะผลงานของรัฐบาลใด ๆ ก็ตาม ในด้านดังกล่าว ไม่ได้สมบูรณ์ในตัวเอง แต่เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น
เมื่อเอ่ยถึงกฎหมายทั้งฉบับ สิ่งที่ต้องถามต่อไป จะทำอย่างไรต่อ โดยกฎหมายต้องนำไปแก้ไขปัญหา ซึ่งจะแก้ไขปัญหาไม่ได้เลย ถ้าไม่มีกฎหมายเป็นเครื่องมือ เพราะฉะนั้นเวลาจะพูดถึงเรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์ ทุจริต การประมงผิดกฎหมาย การกระตุ้นเศรษฐกิจ ขึ้นภาษี ลดภาษี การแก้ปัญหาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ การแก้ปัญหาเด็กแว้น ล้วนต้องใช้กฎหมายทั้งนั้น
กฎหมายจึงเป็นเพียงเครื่องมือไปสู่จุดหมายปลายทาง รองนายกรัฐมนตรี หยิบยกเรื่องอุปมาใกล้ตัว ไม่กี่วันมานี้ คนไทยทั้งประเทศทั่วโลกปั่นจักรยาน ไม่ว่าจะเป็น Bike for Mom หรือ Bike for Dad เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทาง นั่นคือ เป้าหมาย
โดยเปรียบเสมือนการพัฒนาประเทศต้องมีเป้าหมาย ส่วนจะไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร ต้องใช้จักรยานเป็นเครื่องมือ ฉันใด ประเทศก็ต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เสมือนจักรยานฉันนั้น โดยมีรัฐบาลเป็นคนปั่น เปรียบเสมือนหนึ่งคนขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทาง
“ปั่นคนเดียวไม่สนุก จึงต้องชวนกันปั่นทั้งประเทศ และทั้งโลก เพราะฉะนั้นขบวนจึงยาวเหยียดต่อท้าย กลุ่มปั่นอยู่ช่วงต้นจัดกลุ่มเอ กลุ่มบี และกลุ่มซี อาจจะเป็นผู้มีภารกิจ รับผิดชอบหนักหน่อย อาทิ แม่น้ำ 5 สาย ข้าราชการ แต่หนีไม่พ้น ต้องอาศัยประชาชนอยู่ในกระบวนการปั่นจักรยาน เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นด้วย”
นายวิษณุ ขยายความต่อว่า ผลงานด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และระเบียบราชการนั้น สิ่งที่กำลังจะบอกมีประโยคเดียว คือ รัฐบาลนี้ทำอะไร และเมื่อรู้แล้วจะให้คะแนนหรือประเมินเท่าไหร่ เป็นเรื่องของผู้อยู่ในขบวนจักรยานทั้งหลาย คือ ประชาชน ต้องอาศัยประชาชนเป็นตัววัด...เพราะเธอคือประเทศไทย!!!
ภาพอดีตที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นายวิษณุ ฉายภาพย้อนให้เห็นว่า มาถึงวันนี้ผ่านมาปีเศษ หลายคนลืมแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนวันนั้น เป็นความทรงจำที่โหดร้าย คนไทยไม่น้อยเสียดายเวลาและโอกาส ในการทำสิ่งดี ๆ หลายอย่าง แต่ทิ้งไว้ค้างคา มีผู้วิเคราะห์น่าเชื่อว่า ถ้าไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น สิ่งที่ค้างคาก่อนวันนั้นยังจะเกิดตามต่อมา แม้จนบัดนี้
ด้วยมองไม่เห็นว่า สถานการณ์ช่วงนั้นจะกระเตื้องขึ้นได้อย่างไร อะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นและมีอยู่ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หากพูดถึงเฉพาะด้านกฎหมาย ไม่ได้พูดถึงด้านความแตกแยก แตกร้าว หรือความมั่นคง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและนอกประเทศ สามารถประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมีอยู่ก่อนวันนั้นได้ 8 เหตุการณ์ใหญ่
รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เหตุการณ์ใหญ่ครั้งนั้นทำให้เราเสียดายโอกาสทอง ผ่านพ้นไปโดยไม่ได้แก้ไข ทั้งนี้ ไม่โทษรัฐบาลก่อนหรือรัฐบาลก่อน ๆ ทุกคนเข้าใจปัญหาเกิดขึ้นและไม่ได้รับการแก้ไขนั้น เนื่องจากมีเหตุขัดข้อง คสช. และรัฐบาลปัจจุบันอาจโชคดี ที่ไม่มีเหตุขัดข้อง
สาเหตุที่ไม่มีเหตุขัดข้อง เพราะบ้านเมืองกลับสู่ความสงบ เหตุขัดข้องจึงหมดไป แต่รัฐบาลก่อนหรือรัฐบาลก่อน ๆ ท่านประสบเหตุขัดข้อง โดยกฎหมายที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นั้นต้องออกจากสภา แต่ยุบสภาแล้ว จะเอาสภาที่ไหนออกกฎหมาย
หรือต่อให้มีสภา แต่รัฐบาลมีเสียงข้างมากไม่หนักแน่นพอ ก็ไม่กล้าผลักดันกฎหมายใดเข้าไป เพราะถ้าผลักดันเข้าไปแล้ว เสียงในสภาไม่พอ เมื่อไม่ผ่านและตก รัฐบาลต้องลาออก ดังนั้น ทางทีดีอย่าเพิ่งเสนอกฎหมาย ทำให้ปัญหายังค้างอยู่
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า แม้แต่ผู้คนในสังคมยังมีความเห็นแตกแยก คัดค้าน คนนั้นจะเอากฎหมายนั้น คนนั้นจะเอากฎหมายนี้ เถียงกันมากนัก เถียงกันให้ตกฟาก จึงอย่าเพิ่งเสนอเลย ทั้งนี้ ยังไม่ว่าเลยไปถึงบางสมัย ซึ่งรัฐบาลในรัฐสภานำเวลาไปทำอย่างอื่น ยกตัวอย่าง การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะสนุกกว่าการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ทำให้ปัญหาค้างคามาก
ย้อนอดีต 8 ปัญหา ก่อน 22 พ.ค. 57 ถ่วงโอกาสทองไทย
1.พันธะระหว่างประเทศยังค้างคา ภาระที่รอการปฏิบัติยังอยู่ เนื่องจากไทยมีการลงนามในสัญญานานาชนิด แล้วสัญญิงสัญญาว่า จะต้องมาออกกฎหมายลูก เพื่ออนุมัติให้เป็นไปตามสัญญาเหล่านั้น สัญญาถูกลงนามแล้ว แต่กฎหมายลูกยังไม่ออก
เขาจึงทวงมา ดังเช่น กรณีการทำประมงผิดกฎหมาย เป็นตัวอย่างการทำผิดสัญญา หรือเรื่องรถไฟได้ตกลงกับจีน แล้วไม่ได้อนุวัตตาม สิ่งเหล่านั้นเป็นตัวอย่างของสัญญา เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามา สิ่งที่ให้ความสำคัญอันดับแรก คือ เร่งออกกฎหมายตามพันธะกรณีที่มีอยู่ให้ครบ และบัดนี้ครบแล้ว
2.การมีกฎระเบียบ กติกา มารยาททางธุรกิจมากมาย ซึ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยไม่ให้แข็งแรง หรือเข้มแข็ง บางอย่างประเทศอื่นมีแล้ว แต่ของไทยยังไม่มี หรือบางอย่างที่มีก็ดันล้าสมัย ดังเช่น พ.ร.บ.หลายฉบับที่นักธุรกิจใช้เป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน ถามว่าทำไมไม่แก้ไข เพราะมีอุปสรรค ซึ่งเป็นความเคราะห์ร้ายของไทย
3.ขาดการจัดระเบียบสังคมสมดุล ระหว่างสิทธิเสรีภาพของบุคคลข้างหนึ่ง กับความสงบเรียบร้อยของส่วนร่วมอีกข้างหนึ่ง เราลองเอาสิทธิประชาชนวางตราชั่งข้างหนึ่ง แล้วนำความสงบเรียบร้อยของสังคมวางบนตราชั่งอีกข้างหนึ่ง พอให้น้ำหนักกับสิทธิประชาชนมากเกินไป สังคมเดือดร้อน ถ้าเช่นนั้นให้น้ำหนักกับสังคมมาก ประชาชนก็เดือดร้อน โอดครวญเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน
เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรกับปัญหา จัดระเบียบให้สองอย่างนี้สมดุล ตราชั่งไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลจัดให้ในส่วนนี้ แต่รับสารภาพตรง ๆ ว่ายังทำได้ไม่หมด แต่พยายามจัดระเบียบให้สมดุล
4.ความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างชายหญิง เจ้าหนี้กับลูกหนี้ คนที่มีวงศาคณาญาติมากกับคนไร้ที่พึ่ง แม้กระทั่งคนจนกับคนรวย ล้วนแต่เป็นเรื่องต้องเข้าไปจัดการ เพื่อลดช่องว่างไม่ให้ถ่างออกไป
นายกรัฐมนตรีพูดเสมอว่า เราทำให้คนจนทุกคนมีฐานะเท่ากับคนรวยไม่ได้ และไม่ใช่เรื่องกดคนรวยให้จนเหมือนคนอื่น แต่ทำอย่างไรให้ช่องว่างระหว่างจนกับรวยไม่ห่างกันมากนัก นั่นคือ ลดความเหลื่อมล้ำ
5.ระบบราชการของประเทศก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรียกสั้น ๆ ว่า ราชการไทยเป็นระบบ 4 ช. คือเชย เชื่องช้า ใช้งบประมาณมาก และเปิดช่องทุจริต สิ่งทีรัฐบาลนี้พยายามทำและอาจทำได้ไม่ครบถ้วน แต่ยังมีเวลาเหลือจะทำต่อ คือ แก้ปัญหา 4 ช. ให้หมดไปหรือลดลงจากระบบราชการนั้นให้ได้
6.ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น พูดกันว่า โลกเปลี่ยนไป แต่กฎหมายไทยถอยหลัง จริงหรือไม่ เมื่อรัฐบาลเข้ามาใหม่ ๆ ปัญหาที่ตำตาเวลานั้นเห็นชัดที่สุด คือ มีเทคโนโลยีอุ้มบุญกันมานาน แต่ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง นี่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งในจำนวนกฎหมายนับร้อยฉบับที่ก้าวไม่ทันโลก เป็นสิ่งที่ต้องพยายามผลักดันออกมาให้ได้
7. ทรัพยากรธรรมชาติได้รับผลกระทบ ทรัพยากรของประเทศถูกกระเทือน และเมื่อเกิดเรื่องขึ้นหากฎหมายไม่ได้ จำเรื่องกรณีเรือล่ม และน้ำมันกระจายไปทั่วท้องมหาสมุทรได้หรือไม่ จะหากฎหมายใดจัดการตรง ๆ ยาก ต้องไปนำกฎหมายอื่นมาบังคับใช้อ้อม ๆ และยังมีปัญหาอื่นอีกสารพัด
8.คดีความรกศาล กระบวนวิธีพิจารณาคดีล่าช้า พิจารณาความไม่ทันสมัย สิ่งนี้คือลักษณะกระบวนการยุติธรรมของไทย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ผู้กล่าวหาทั้งหมด รัฐบาลในอดีต ได้พยายามแก้ไขแล้ว แต่ก็มีข้อจำกัดของท่าน เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามา มีความได้เปรียบตรงจัดให้บ้านเมืองสงบ ดังนั้นสิ่งที่ทำไม่ได้ก็ทำได้ พูดตรง ๆ รัฐบาลนี้ได้เปรียบ เคยมีสองสภา การออกกฎหมายล่าช้า ตอนนี้เหลือสภาเดียว และรัฐบาลนี้อาจโชคดีไม่ต้องเผชิญกับฝ่ายค้านที่วาทะกร้าว จนกระทั่งในที่สุด จะเสนออะไรออกมายากลำบาก
สิ่งใดที่ออกเป็น พ.ร.บ.ได้ รัฐบาลนี้ก็ทำ สิ่งใดด่วนออกเป็นพระราชกำหนด สิ่งใดไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่ควรมีมาตรการกฎหมายรองรับ รัฐบาลนี้ก็ใช้มาตรา 44 นั่นเป็นความได้เปรียบ และรัฐบาลพยายามนำความได้เปรียบมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการปั่นจักรยานเพื่อไปสู่เป้าหมาย
ความเสียเปรียบก็มี เมื่อเทียบกับรัฐบาลก่อน ๆ นายวิษณุ บอกว่า นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้ จะทำดีอย่างไร ทำดีเท่าไหร่ ทำดีเพียงใด จะมีคนเย้ยหยันว่า ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลนี้ทราบว่า นี่คือจุดอ่อน แต่เพราะบ้านเมืองไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ แล้วรัฐบาลไม่เคยปฏิเสธว่ามาหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะไปเถียงกับเขาว่ามาจากเลือกตั้งจะพูดได้อย่างไร
“เรายอมรับสภาพนี้ แต่ใช้จุดอ่อนให้เป็นประโยชน์ที่สุด ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส ใช้ภาระให้เป็นพลัง ทำในสิ่งที่ควรทำ ภายในเวลาจำกัด แล้วส่งต่อให้คนอื่นที่เขาไม่มีจุดอ่อนนี้เข้ามา แต่อย่าไปมีจุดอ่อนอื่นเข้ามาเป็นทวีคูณแล้วกัน”
ผ่านมา 1 ปี รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ ทำอะไรเกี่ยวกับ กม.บ้าง?
จากภาพอดีตก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เมื่อมาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน นายวิษณุ สาธยายผลงานหน้าที่รับมอบหมายให้ฟังพอสังเขปว่า
1.เราพูดกันว่าภาระค้างคา พันธะบีบคอ รัฐบาลนี้ต้องมาจัดการ ยกตัวอย่าง การลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ( Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) ซึ่งรัฐบาลออก พ.ร.บ.งาช้าง พ.ศ.2558
หรือกรณีลงนามในสัญญาป้องกันการก่อการร้าย ซึ่งรอว่าเมื่อใดไทยจะออกกฎหมายตามสัญญา โดยบัดนี้ได้ออก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการอุดหนุนการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งนานาประเทศพึงพอใจ นอกจากนี้ยังมีสัญญาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ซึ่งออกกฎหมายครบตามที่ลงนามแล้ว เหลือเพียงการปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น
2.กฎกติกา ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เข้มแข็ง ธนาคารโลกเสนอให้ไทยมีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยตราบใดกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ออก ไทยจะถูกตัดคะแนนทุกปี เมื่อมีการวัดว่า ไทยเหมาะแก่การทำธุรกิจหรือไม่ สาเหตุที่ผลักดันกฎหมายไม่สำเร็จ เพราะปัญหาเก่ายังมีอยู่ สถานการณ์เก่ายังมีอยู่
เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาจึงผลักดันด้วยความอนุเคราะห์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บัดนี้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งนักธุรกิจทั่วโลกและธนาคารโลกเฝ้ารอ ประกาศใช้บังคับเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ นักธุรกิจจะเออะไรก็ตามมาเป็นหลักประกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเอาทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน ไร่นา สาโท มาจำนองจำนำ เมื่ออดีต แต่วันนี้นำเพียงสิทธิอื่น ชื่อเสียง เกียรติยศ เป็นหลักประกันก็ได้
3.ปัญหาขาดระเบียบสังคมสมดุล กฎหมายพูดมาตั้งแต่ปี 2475 แต่ไม่เคยออกมา ตอนนี้ออกมาแล้ว คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
4.กรณีความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมในสังคม ชี้ไปตรงไหนเห็นความแตกต่างระหว่างชายกับหญิง บัดนี้ พ.ร.บ.ความเสมอภาคระหว่างชายหญิง ประกาศบังคับใช้แล้ว เมื่อไม่กี่วันมานี้ ซึ่งเอกอัครราชทูตสวิซเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ชื่นชมยินดีที่ประเทศไทยที่มีกฎหมายฉบับนี้
หรือพูดถึงความเหลือมล้ำระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ซึ่งไม่เป็นธรรม เป็นฉบับแรก ๆ ของรัฐบาล และยังมี พ.ร.บ.ภาษีมรดก ที่พูดกันมานานออกมาแล้ว แต่ยังไม่บังคับ เพราะต้องให้เวลาเตรียมตัว ทั้งนี้ เพื่อต้องการลดความเหลื่อมล้ำ หรือลดช่องว่างไม่ให้มีมากเกินไป
5.ระบบราชการ 4 ช. รัฐบาลมีความภาคภูมิใจนำเสนอกฎหมายที่เป็นนวัตกรรม และต้องระวังไว้ เพราะนับวันจะออกฤทธิ์มากขึ้นทุกที คือ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ซึ่งคนที่ไปติดต่อกับราชการ เพื่อขอนุญาตอะไรสักอย่าง เช่น ขออนุญาตสร้างบ้าน ตั้งโรงงาน ผลิตยา นำเข้า ส่งออก ท่านจะรู้ดีว่าน่าปวดเศียรเวียนเกล้าเพียงใด กับการขอนุญาตกับทางราชการ
เพราะยื่นคำร้องไปแล้วหายไป สองปีกลับมาถามเมื่อไหร่จะอนุญาต ได้รับคำตอบว่า ปัดโธ่ ทำไมเพิ่งมา หลักฐานที่ยื่นไว้ไม่ครบ แล้วทำไมไม่บอกตั้งแต่เดือนแรก
หรือไปติดต่อทางราชการ พอไปทวงถาม เมื่อไหร่จะอนุญาต ได้รับคำตอบว่า อนุญาตไม่ได้ เพราะว่าผ่านไปอีกหลายโต๊ะ ยังไม่ครบทุกโต๊ะ หรือบางรายเจ้าหน้าที่ตวาดว่า ใครบอกต้องอนุญาตเวลาเท่านั้นเท่านี้ ยืดมาแล้วรอไปก็แล้วกัน
สมัยหนึ่งขอใบ รง.4 ตั้งโรงงาน เวลา 2 ปียังไมได้รับอนุญาตเลย จึงมีบุคคลจำนวนไม่น้อย เลือกเสียเงินใต้โต๊ะดีกว่า หรือ ทำไปโดยไม่มีใบอนุญาต เราจึงเห็นการสร้างบ้านไม่ได้รับอนุมัติแบบ การตั้งโรงงานไม่ได้รับอนุญาต เก่งจริงไปไล่จับไล่ปรับ หนักเข้าก็เสียเงินตอนจับ
เพราะฉะนั้นความไม่สะดวก จึงเป็นบ่อเกิดทุกปัญหาในประเทศ วันนี้ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ ออกมาแล้ว โดยกำหนดให้ทำคู่มือ มีวิธีจะติดต่อเรื่องใด ใช้เวลากี่ชั่วโมงหรือกี่วัน ระวังอย่าให้เกิน เพราะคนเปิดคู่มือเตรียมฟ้องมีอยู่เยอะ จึงต้องบอกเวลา สถานที่ เอกสาร สิ่งที่เป็นผลพลอยตามมา
6.ปัญหาโลกเปลี่ยนไป แต่กฎหมายไทยเปลี่ยนตามไม่ทัน เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (อุ้มบุญ) ออกมาแล้ว
7.ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย วันนี้กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ออกมาแล้ว กฎหมายคุ้มครองทรัพยากรชายฝั่งออกมาแล้ว หรือแม้แต่กฎหมายเล่นงานคนทำให้เกิดมลพิษน้ำมัน ซึ่งไทยไม่เคยมี ก็มีแล้ว
8.คดีรกศาล กระบวนการยุติธรรมล่าช้า วิธีพิจารณาไม่ทันสมัย เรื่องนี้ด้วยความร่วมมือจากสำนักงานศาลยุติธรรมและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ช่วยคิด วันนี้รัฐบาลเข็นกฎหมายแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวออกมาได้เป็นอันมาก
ยกตัวอย่าง แก้ไขกฎหมายล้มละลาย ทำให้การจัดการกับคดีล้มละลายเร็วกว่าเดิม 1 เท่า หรือแม้แต่คดีแพ่ง เดิมฟ้อง 3 ศาล ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา บัดนี้เหลือเพียง 2 ศาล ได้แก่ ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ เว้นแต่คดีสำคัญ ศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุ อาจยื่นมือรับไปได้
นายวิษณุ ยังกล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ มีการเสนอกฎหมายเข้าสภาแล้ว 164 ฉบับ ค้างในสภา 26 ฉบับ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 138 ฉบับ ภายในระยะเวลา 1 ปี เรามีกฎหมายใช้ แต่อย่าเพิ่งพูดเรื่องปริมาณ เพราะไม่มีประโยชน์ ควรพูดเรื่องคุณภาพจะดีกว่า
“กฎหมายอาจไม่มีคุณภาพทั้งหมด เพราะบางอย่างเป็นกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาของหน่วยงาน แต่กฎหมายกว่าครึ่งแก้ปัญหาของประเทศก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และอีกส่วนหนึ่งคือกฎหมายที่รัฐบาลตั้งใจโดยเฉพาะที่จะผลักดันออกมา” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว และว่านายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่า กฎหมายใดที่รัฐบาลสมัยเลือกตั้งออกยาก เราออกให้ได้สมัยนี้ กฎหมายใดที่รัฐบาลเลือกตั้งออกง่าย ทิ้งไว้ให้ออกบ้างก็ได้ เขาเข้ามาไม่พอใจก็แก้ไขเอา ถ้าไม่แก้ไขก็ใช้ต่อไป เป็นเครื่องมือให้รัฐบาลหน้าด้วย
นายวิษณุ ยังเปิดเผยถึงปัญหาอื่นที่ค้างคาอยู่ โดยเฉพาะเรื่องคดีความว่า ล้วนเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปี 5 ปี 10 ปี ก่อนทั้งนั้น ครั้นรัฐบาลจะเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ก็ไม่ได้ เพราะเป็นความรับผิดชอบ อย่างมากที่สุด คือ สานต่อ และดูแลคดีให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ ไม่ว่ารัฐบาลเป็นโจทย์หรือจำเลยก็ตาม
สิ่งที่รัฐบาลพยายามเข้ามาจัดการแก้ไขเรื่องนี้ คือ สำรวจจุดอ่อนของคดี ดูว่าคดีอยู่ชั้นไหน แล้วตั้งคณะทำงานกำกับคดีละชุด เพื่อหาเจ้าภาพ และประสานเชื่อมโยงกับอัยการ มีทั้งสิ้น 12 คดีสำคัญ กล่าวคือ
-6 คดีแรก รัฐบาลเป็นโจทก์ฟ้องเอกชน เพราะถือว่าเอกชนทำให้รัฐบาลเสียหาย
1. คดีทุจริตจำนำข้าว เรื่องยังค้างอยู่ที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ยังไปอีกยาว
2.คดีขายข้าวจีทูจี มีความก้าวหน้าระดับหนึ่ง ถึงขั้นคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งกำลังประเมินความเสียหายฃ
3.คดีขายข้าวจีทูจี ซึ่งเป็นจำเลยอีกคนหนึ่ง อยู่ขั้นคณะกรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งกำลังประเมินความเสียหาย
4.คดีขายข้าวจีทูจี จำเลยเป็นบริษัทเอกชน ซึ่งต้องยื่นฟ้องร้อง
5.คดีฟิลิป มอร์ริส มีการฟ้องเรียกเงินตามภาษีศุลากรจำนวนมาก ขณะนี้คดีอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อไป
6.คดีเอไอเอส รัฐฟ้องเรียกค่าเสียหายประมาณ7 หมื่นล้านบาท คดีอยู่ในชั้นศาล
-อีก 6 คดี ราษฎรหรือเอกชนฟ้องรัฐบาล
7.คดีโทลล์เวย์ มีการฟ้องที่เยอรมัน เรียกค่าเสียหาย 200 ล้านยูโร หรือประมาณ 9,000 ล้านบาท
8.คดีแก้สัญญาโทลล์เวย์ อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
9.คดีคลองด่าน ศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้วให้รัฐบาลชดใช้ 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต่อรองลดเหลือจำนวนหนึ่ง โดยไม่เอาดอกเบี้ย และ ครม.มีมติชดใช้ตามคำพิพากษา
10.คดีไอทีวี เอกชนฟ้องรัฐบาลเรียกค่าเสียหาย 2.1 หมื่นล้านบาท อยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ
11.คดีโฮปเวลล์ เรียกค่าเสียหาย 1.2 หมื่นล้านบาท อยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด
12.คดีทางด่วนบางนา-บางปะกง เรียกค่าเสียหาย 5 พันล้านบาท อยู่ในชั้นศาลฎีกา
เตรียมขับเคลื่อน กม.หลายฉบับ ดีเดย์ 1 ม.ค. 59
นายวิษณุ กล่าวถึงรัฐบาลจะดำเนินการขับเคลื่อนผลงานด้านกฎหมาย ในปี 2559 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป จนกระทั่งส่งต่อให้รัฐบาลสมัยหน้ารับทำต่อ
โดยจะวางระบบการแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับปลัดกระทรวง อธิบดี ทุกกรมใหม่หมด ของเดิมหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร ของใหม่จะมีหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้เป็นธรรม ไม่ใช่ระบบเส้นสาย และไม่ให้มีการวิจารณ์อื้อฉาวกันได้ จะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2559
อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งใกล้จะถึงกำหนดส่งการบ้านนายกรัฐมนตรีแล้ว รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า รัฐบาลจะมีระบบกรประเมินคุณภาพหน่วยงานและผู้บังคับบัญชา นั่นคือ ปลัดกระทรวงและอธิบดี ทุกกรม ทุกกระทรวง ทุกหน่วย 20 กระทรวง 148 กรม 50 รัฐวิสาหกิจ 40 องค์การมหาชน ภายใต้การประเมินแบบใหม่
ทั้งนี้ การประเมินแบบใหม่ คือ ประเมินจากภารกิจปกติ ยุทธศาสตร์ งานที่มอบหมายเป็นพิเศษ และพื้นที่ดำเนินการ ทั้งหมดจะมีสูตรวิธีประเมินออกมาก่อนสิ้นปี โดยเริ่มใช้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า และใช้แต่งตั้งโยกย้ายในอีก 6 เดือนข้างหน้า
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า อนาคตจะปฏิรูปตำรวจ ซึ่งที่แล้วมาอ้อมแอ้มไม่เต็มปาก แต่ครั้งนี้ต้องพูดเต็มปาก โดยรัฐบาลกำหนดจะปฏิรูปเรื่องการแต่งตั้ง การบริหารงานบุคคล และการกระจายอำนาจ จากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร. )ลงไปสู่ระดับผู้บังคับบัญชาแตกต่างกัน ให้สามารถให้คุณให้โทษผู้ใต้บังคับบัญชาได้ และต้องปฏิรูประบบสวัสดิการตำรวจ อำนาจ และการใช้อุปกรณ์ของตำรวจด้วย
“นายกรัฐมนตรีเคยพูดว่า เลิกเสียทีตำรวจเข้ามา แล้วขอน้ำมันชาวบ้าน หรือขอรถชาวบ้าน แต่ทหารเข้ามาแต่ตัว มีอุปกรณ์ให้หมด ทำไมตำรวจมา จึงไม่สามารถมาแต่ตัวได้ เมื่อขอเครื่องมือกับชาวบ้าน เขาก็ให้ ต่อไปจะเป็นพระเดช พระคุณ และเป็นหนี้ต้องทดแทน เป็นพันธะไม่รู้จบ ฉะนั้นต้องปฏิรูประบบเดียวกันทั้งหมด”
กฎหมายเศรษฐกิจของประเทศเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะใช้หลักปฏิรูปแบบประชารัฐ โดยไม่ให้กระทรวงเศรษฐกิจคิดฝ่ายเดียว แต่ภาคเอกชนต้องเข้ามาคิดด้วย ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจแต่งตั้งทีมไว้แล้ว
โดยมีเฉพาะผู้นำภาคเอกชน ไม่มีข้าราชการ ไม่มีนักกฎหมาย แต่ล้วนทำธุรกิจมานาน รู้ว่าปัญหาอยู่ที่กฎหมายอะไร คนเหล่านี้จะมาบอกปัญหาและความต้องการ แล้วภาครัฐค่อยมากลั่นกรองความต้องการ เพื่อเร่งออกกฎหมายให้ เริ่ม 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป
นายวิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการเรียกเอกสารจากประชาชน เริ่มต้นจากบีโอไอ ต่อไปขยายไปอีกหลายกรม และคาดว่าภายใน 1 ปี 6 เดือนนั้น จะไปได้เกือบหมดทุกส่วนราชการ รวมถึงปรับปรุงแบบฟอร์มให้ง่าย
การปราบปรามการทุจริตก็เป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ การจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ขณะเดียวกันให้มีวิธีพิจารณาโดยเฉพาะและใช้ระบบประชารัฐเข้ามา คือ การป้องกัน ป้องปราม ปราบปราม จะทำร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งจะมีมาตรการตามมาในไม่ช้า
“การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้ทันสมัย ซึ่งเป็นงานเชิงปฏิรูป เรียนว่า จะนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้ การชะลอการฟ้องมาใช้ เพื่อไม่ให้คนถูกฟ้องติดคุก เข้ามหาวิทยาลัยแห่งชีวิต คนดี ๆ ออกมา เลยรู้วิชาโจร หากปล่อยตัวได้โดยไม่ต้องฟ้องจะพยายามทำ แต่เรื่องนี้ต้องอาศัยกฎหมาย หรือแม้แต่พิจารณาให้รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ด้วย”
นายวิษณุ ยังกล่าวว่า ปี 2559-60 รัฐบาลตั้งใจจะมีกฎหมายเชิงนโยบายส่งเข้า สนช.อีกหลายฉบับ แต่กฎหมายที่รัฐบาลถือเป็นชิ้นเอกตามการจัดลำดับความสำคัญนั้น ได้แก่
1. กลุ่มกฎหมายดิจิทัล
2.กฎหมายแก้ปัญหาเศรษฐกิจตามภาคเอกชนเสนอ
3.กฎหมายวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อเร่งรัดคดีคอร์รัปชัน
4.กฎหมายคนเข้าเมือง
5. กฎหมายบูรณาการเพื่อการทำงานข้ามกระทรวง
6.กฎหมายอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
“รัฐบาลคาดว่า ภายในมีนาคม 2559 การร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จ หากการลงประชามติผ่าน เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่สมบูรณ์ในตัวเอง จำเป็นต้องออกกฎหมายลูกอีกหลายสิบฉบับ จึงนำทยอยเข้าสภาเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม๊พ” นายวิษณุ ทิ้งท้าย .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์มติชน