นพ.ประเวศ วะสี :สุขภาวะต้องมองจากวิสัยการเรียนรู้ไม่ใช่อำนาจ
“ที่ผ่านมารัฐบาลทหารเขาเข้ามาดูระบบสุขภาพ พอเข้ามาดูแล้วไม่เข้าใจ ว่า สวดมนต์เกี่ยวกับสุขภาวะอย่างไร เพราะเขามองจากวิสัยอำนาจ ไม่ได้มองจากวิสัยการเรียนรู้ ทั้งๆที่การสร้างสุขภาวะคือการสร้างความถูกต้องให้แก่แผ่นดินและมหาชนชาวสยาม ซึ่งการเมืองทำไม่ได้เพราะการเมืองมัวแต่ทะเลาะกัน”
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 มีปาฐกถาพิเศษ โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ณ อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี
นพ.ประเวศ กล่าวตอนหนึ่งว่า การร่วมสร้างสังคมสุขภาวะของคนไทยถือเป็นกระบวนการใหม่ เปลี่ยนเป้าหมายและมองเรื่องสุขภาพเป็นเป้าหมายสูงสุด และสุขภาพคือ Health is the whole สุขภาพคือทั้งหมดไม่ใช่แค่เรื่องมดหมอยูกยาเท่านั้น หากเรามองเรื่องสุขภาพแบบแยกส่วนก็จะนำไปสู่วิกฤตทันที นี่คือการมองสุขภาพแบบกระบวนทัศน์ใหม่ นอกจากนี้การปฎิรูประบบสุขภาพยังจะเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปทุกเรื่อง
นพ.ประเวศ กล่าวถึงการพัฒนาเรื่องต่างๆ ที่ไม่ประสบความสำเร็จของประเทศนั้นเกิดจากที่ผ่านมาเรามักจะคิดสร้างพระเจดีย์จากยอด ซึ่งไม่มีพระเจดีย์องค์ใดสร้างสำเร็จจากยอด ดังนั้นเรื่องสุขภาวะจึงเน้นเรื่องความเข้มแข็งจากชุมชน เมื่อจับหลักตรงนี้ได้ การสร้างฐานของประเทศก็จะแข็งแรงและมั่นคง
ที่ผ่านมาการสร้างระบบสุขภาพได้ยึดโยงจากแนวคิดการสร้างเจดีย์จากฐาน นอกจากนี้แนวทางในการทำงานเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะจะเน้นไปในการสาน สร้าง เสริม ไม่ใช่โค่นล้ม เช่นเดียวกันกับแนวทางของการเมือง ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นการสร้างความแตกแยก สร้างความรุนแรง และทอนกำลังการทำงาน
ในส่วนการใช้กระบวนการทำงานใหม่นั้น ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า สังคมปัจจุบันมีความซับซ้อน เครื่องมือในการทำงานที่ผ่านมาในอดีตล้วนไม่ได้ผล หลายปัญหาอยู่นอกบริบทความเป็นจริง ดังนั้นการเรียนรู้ร่วมกันและปฏิบัติจริงย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มากกว่าท่องหนังสือมาแก้ปัญหา
สำหรับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่จะทำให้เกิดกระบวนการทำงานใหม่นั้น มี 8 ประการ ดังนี้
1.ต้องเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของทุกคน
2.ต้องเคารพความรู้ในตัวคน ขณะนี้เราเคารพความรู้ในตำราจึงทำให้คนส่วนน้อยมีเกียรติ คนส่วนใหญ่ไม่มีเกียรติ การจะทำให้คนทุกคนมีค่าเราต้องเคารพความรู้ในตัวคน ฉะนั้นประเทศจะแข็งแรงไม่ได้ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่มีเกียรติ และนี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของการทำงาน
3.มีความเอื้ออาทรและมีความจริงใจต่อกัน
4.เชื่อถือไว้วางใจกัน
5.มีสามัคคีธรรม
6.เกิดปัญญาร่วมนวัตกรรม
7.ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จ
8.เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน
“การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ต้องมีการเปลี่ยนผ่าน เกิดการสร้างสังคมเครือข่าย การเมือง การศึกษา ธุรกิจ ราชการ ศาสนา ในการเรียนรู้ร่วมกัน จะสร้างสังคมเครือข่ายต้องทำโครงสร้างให้เหมือนสมอง แต่ละเส้นแต่ละอย่างมีการเชื่อมโยงกัน แม้จะมีส่วนใดส่วนหนึ่งตายไปก็ไม่เป็นไร ส่วนที่เหลือที่ยังสมบูรณ์ยังขยายไปได้เรื่อยๆ”
นพ.ประเวศ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลทหารเขาเข้ามาดูระบบสุขภาพ พอเข้ามาดูแล้ไม่เข้าใจว่าสวดมนต์เกี่ยวกับสุขภาวะอย่างไร เพราะเขามองจากวิสัยอำนาจ ไม่ได้มองจากวิสัยการเรียนรู้ ทั้งๆที่การสร้างสุขภาวะคือการสร้างความถูกต้องให้แก่แผ่นดินและมหาชนชาวสยาม ซึ่งการเมืองทำไม่ได้เพราะการเมืองมัวแต่ทะเลาะกัน
“ผมขอขอบคุณเพื่อนคนไทยที่มาร่วมทำเรื่อที่ยิ่งใหญ่ และสร้างกระบวนการสุขภาวะอย่างกว้างขวาง และเชื่อว่าไม่มีอะไรหมุนกลับมาได้แล้ว การตรวจสอบ สสส. สปสช. นั้น เป็นเพียงคลื่นเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถมาทำอะไรเราได้ เพราะถึงอย่างไรกระบวนการยิ่งใหญ่ไม่มีทางกลับไปเริ่มที่ศูนย์อีกแล้ว เราได้เดินมาไกลมากแล้ว และผมขอให้เพื่อนคนไทยทั้งมวลมีความสวัสดี”