โทรฟรี อย่าโทรป่วนผิดกฎหมาย สายด่วนสพฉ.1669 เจอก่อกวนมากกว่าหมื่นครั้ง/เดือน
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดสถิติการโทรก่อกวนสายด่วน 1669 ในปีที่ผ่านมา เขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล พบมากกว่าหมื่นครั้งต่อเดือน ส่วนใหญ่เด็ก-วัยรุ่นคึกคะนอง เร่งประชาสัมพันธ์ประชาชนเห็นถึงความสำคัญ ประสานตำรวจลงพื้นที่ตักเตือน
วันที่ 23 ธันวาคม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดงานเสวนาในหัวข้อ “เดินทางไปกลับปีใหม่ปลอดภัย หยุดพฤติกรรมโทรป่วนสายด่วน 1669 ต่อชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน” ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ซอย 6 โดย นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นายจีรวุธ ทองทศ เจ้าหน้าที่พยาบาลวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ศูนย์สื่อสารสั่งการโรงพยาบาลสมุทรปราการ และนายกมลศักดิ์ ชาโรจน์ ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการโทรป่วนสายด่วน 1669 จนทำให้เกิดการสูญเสียในพื้นที่สำโรงใต้
นพ.อนุชา กล่าวถึงองค์การอนามัยโลก และสหประชาชาติต่างก็ตระหนักถึงการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรจนน่าเป็นห่วง และมีการประกาศปี 2010-2020 หลายๆ ประเทศจะลดการเสียชีวิตบนท้องถนนให้ได้เกินครึ่ง ซึ่งประเทศไทยก็ไปลงนามด้วย
"5 ปีต่อมา องค์การอนามัยโลกจัดทำรายงาน พบประเทศไทยแชมป์อันดับ 3 มีอุบัติเหตุการเสียชีวิตบนท้องถนน และขึ้นไปอันดับ 2 ของโลก" นพ.อนุชา กล่าว และว่า ในสถานการณ์ปกติเราก็เสี่ยงภัยอยู่แล้ว ุ60 คนเดินทางออกจากบ้าน ไม่ได้กลับเข้าบ้าน ยิ่งในช่วงเทศกาลเราจึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษ จนรัฐบาลประกาศเป็นนโยบายการจัดการเรื่องอุบัติเหตุบนถนน
นพ.อนุชา กล่าวถึงศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 ที่พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมงนั้น ถือเป็นบริการโทรฟรี โทรที่ไหนติดที่จังหวัดนั้น มีผู้ใช้บริการมาถึง 1.3 ล้านครั้ง ดังนั้น โอกาสผิดพื้นที่น้อยมาก แต่ปัจจุบันกลับพบว่า การโทรฟรีกลับกลายเป็นการโทรเล่น โทรป่วนเข้ามาเกิดขึ้นเยอะมาก สถิติจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการโทรมาป่วนมากสุด เห็นได้ชัด ยังมีหลายคนไม่ตระหนักถึงการใช้สายด่วน ทั้งๆ ที่มีโทษทางปกครอง ปรับสูงสุดถึง 5,000 บาท
เลขาธิการสพฉ. กล่าวถึงการเอื้อเฟื้อหลีกทางให้รถพยาบาล หรือรถฉุกเฉินช่วงเทศกาล ในถนนสายหลักไปจังหวัดท่องเที่ยว ขณะนี้กำลังรณรงค์การให้ทางกับรถฉุกเฉิน รวมถึงประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจะสร้างเลนฉุกเฉินให้เฉพาะรถกู้ชีพ
ด้านนายจีรวุธ กล่าวถึงการโทรก่อกวนสายด่วน 1669 จะทำให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือไม่สามารถโทรเข้ามาใช้บริการได้ และจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ เสียชีวิตได้ 1 นาทีของเราเท่ากับ 1 ชีวิต หรือแม้กระทั่งแค่ 10 วินาที ก็เท่ากับการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้หลายคน
"จังหวัดสมุทรปราการมีอยู่ 3 คู่สาย แต่พบว่า การใช้งานจริงเพียง 1 คู่สาย เพราะที่เหลือเจอโทรก่อกวนจนไม่สามารถใช้การใดๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการกับบุคคลที่โทรก่อกวนเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการ ทำมาหลายวิธี ทั้งการไปแจ้งความ เช่น 4 วัน มีการโทรก่อกวนกว่า 270 สาย โดยได้ประสานขอความร่วมมือกับตำรวจ และผู้ดูแลเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์ กระทั่งสามารถหาตัวผู้กระทำผิด จนจับกุมมาดำเนินคดีได้"
สำหรับช่วงเวลาที่พบการโทรป่วน โทรเล่น โทรแล้ววางมากที่สุด นายจีรวุธ กล่าวว่า อยู่ในช่วงพักกลางวัน และหลังเลิกเรียน โดยเด็กจะใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะ หยอดเหรียญ รวมถึงวัยรุ่น ใช้เวลาหลังเลิกงาน มีทั้งประเภทโทรมาไม่พูด กดโทรเล่น และพวกมีปัญหาสภาพจิต เป็นต้น
ขณะที่นายกมลศักดิ์ ถ่ายทอดประสบการณ์การใช้บริการสายด่วน 1669 ซึ่งเป็นไปอย่างยากลำบาก โทรติดยาก สายไม่ว่าง เพราะถูกโทรก่อกวน ซึ่งส่งผลให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ไม่ทันท่วงที กระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา