มาตรฐานความปลอดภัยเหลว นักวิชาการเปิดสาเหตุรถทัวร์ตกเหวดอยสะเก็ด
ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนชี้เหตุรถทัวร์พลิกคว่ำดอยสะเก็ดคนขับใช้ความเร็วไม่เหมาะสมกับเส้นทาง-สภาพรถโดยสารไม่แข็งแรง แนะ "กรมขนส่ง" คุมเข้มก่อนออกใบอนุญาต ระบุการเกิดเหตุซ้ำสะท้อนความล้มเหลวมาตรการการควบคุม
จากกรณีเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2558 รถทัวร์โดยสารรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ทะเบียน 30 – 0485 เชียงใหม่ เกิดอุบัติเหตุระหว่าง กม. ที่ 43 บ้านปางแฟน อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวชาวมาเลย์เชื้อสายจีนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนกว่า 14 ศพ โดยรถทัวร์ดังกล่าว เป็นของบริษัท "วีระพันธ์ทัวร์"
นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราถึงกรณีดังกล่าวถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติของรถทัวร์วีระพันธ์ทัวร์บริเวณดอยสะเก็ดว่า เกิดจากการใช้ความเร็วไม่เหมาะสมกับเส้นทางของผู้ขับจึงเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น และสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 14 ศพนั้น มีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายปัจจัย คือ 1.สภาพความแข็งแรงของรถโดยสาร สังเกตได้จากการยึดต่อเก้าอี้ที่หลุดออกไปจากรถ รถมีการฉีกขาดเก้าอี้หลุดจึงทำให้เกิดความรุนแรง 2.คือผู้โดยสารไม่ได้รัดเข็มขัดนิรภัย
“สำหรับความรุนแรงครั้งนี้ หากมีผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยก็อาจจะไม่ช่วยเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากสภาพรถไม่แข็งแรง และตกลงไปในที่ที่อันตราย”
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวอีกว่า หากจะให้วิเคราะห์แยกสาเหตุที่เกิดขึ้นว่า เกิดเหตุแล้วทำอย่างไรจะไม่รุนแรง ก็ต้องย้อนกลับไปตอบคำถามว่า ทำไมปัญหาเหล่านี้ถึงเกิดซ้ำ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ชี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของระบบการควบคุมกำกับที่ยังไม่เข้มงวด เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของบริษัทวีระพันธ์ทัวร์ เมื่อ 3 ปีก่อนก็เคยประสบอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตถึง 23 ศพ ซึ่งสาเหตุก็เป็นแบบเดียวกัน คือ ปัญหาจากคนขับและสภาพรถ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าผู้ประกอบการมีความเสี่ยง
ผู้จัดการศวปถ. กล่าวถึงการควบคุมและกำกับของกรมการขนส่งทางบกว่า ที่จริงระบบการควบคุมมีอยู่ตามกฎหมาย โดยการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ หากมีเงื่อนไขที่เข้มงวดด้านความปลอดภัยจะทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีความพร้อมเข้าสู่ระบบได้ เช่น สายการบินที่ไม่ปลอดภัยก็ไม่มีสิทธิมาประกอบการ และไม่ได้รับการออกใบอนุญาต แต่ว่ารถสาธารณะเราไม่เข้มงวดเท่าสายการบิน บางครั้งเจอผู้ประกอบการมีรถคันเดียวก็มาวิ่งได้แล้ว
“การที่เราเปิดช่องให้ผู้ประกอบการที่ไม่พร้อมเข้ามาในระบบก็เท่ากับเรายอมรับความเสี่ยง ผู้ประกอบการที่มีคนขับเพียงไม่กี่คน ไม่มีระบบตรวจสอบความปลอดภัย ไม่มีอู่เป็นของตัวเอง ทั้งหมดนี้คือความเสี่ยง”
ทั้งนี้ นพ.ธนะพงศ์ กล่าวถึงการจัดควบคุมความเสี่ยงระหว่างการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมพฤติกรรมการขับรถ การมอนิเตอร์ หรือตรวจสภาพรถก่อนออกเกินทาง ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรก ล้อยาง รวมถึงการสุ่มตรวจบนถนน จะช่วยควบคุมความเสี่ยงของคนขับได้ ที่สำคัญบริษัทเกิดเหตุ ตามข้อกฎหมายระบุว่าต้องมีการส่งรายงานกลับไปที่กรมการขนส่งทางบกเพื่อตรวจสอบผู้ประกอบการว่ามีความพร้อมให้บริการอยู่หรือไม่ หรือจะให้บริษัทที่เกิดปัญหาเหล่านี้บ่อยครั้งหยุดให้บริการไปก่อนจนกว่าจะมั่นใจว่ามีความพร้อม
“อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์อุบัติเหตุบนดอยสะเก็ดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นแล้วว่า บริษัทนี้เคยเกิดเหตุมาแล้ว และมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ แม้จะมีข้อกฎหมายหรือมาตรการควบคุม การเกิดซ้ำจึงบอกว่า มาตรการเหล่านั้นล้มเหลว ที่สำคัญคือไม่มีข้อมูลสาธารณะให้ผู้บริโภคสืบค้นประวัติว่าบริษัททัวร์มีรถกี่คัน มีระบบควบคุมคนขับหรือไม่ ทำประกันภัยชั้นไหนไว้บ้าง มีการตรวจสภาพรถหรือไม่ ประวัติการเกิดอุบัติเหตุเป็นอย่างไร นี่เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รู้ก่อนตัดสินใจเลือกใช้บริการรถทัวร์”
ผู้จัดการศวปถ. กล่าวด้วยว่า การมีระบบควบคุมที่เข้มแข็งจะช่วยสกัดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุได้เป็นด่านแรก ตั้งแต่กระบวนการยื่นจดทะเบียน การมอนิเตอร์ เกิดเหตุแล้วตรวจสอบรายงาน ไม่ใช่มีรถคันเดียวก็ปล่อยให้มาวิ่งได้แล้ว สิ่งเหล่านี้ต้องเข้มงวดตั้งแต่ต้นทาง และที่สำคัญคือควรให้มีการติดสติ๊กเกอร์สำหรับรถที่ผ่านการตรวจสอบพื้นเอียงเพื่อเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการเลือกเช่ารถ