ประชุมนัดแรก กยน.เผยวางแผนระบบน้ำถาวร-ผังเมืองใหม่-ศึกษา 25ลุ่มน้ำ ทั่วปท.
คกก.ยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ ตั้ง 2 อนุฯแก้ปัญหาเฉพาะหน้า-ระยะยาว เผยจ้าง"ไจก้า"วางแผนระบบน้ำถาวร “สุเมธ”ห่วงกิจกรรมแก้ปัญหาเร่งด่วน “สมิทธ”ชี้ระบบพยากรณ์ต้องแม่นยำ ประชุมนัดหน้า 7 ธ.ค. คุย ลัดเวย์ตามโครงการพระราชดำริ และแม่น้ำเจ้าพระยา 2
วันที่ 22 พ.ย.54 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ(กยน.) ภายหลังประชุม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิช ในฐานะผู้ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้รับผิดชอบดูแล กยน. แถลงว่าที่ประชุมได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการภารกิจพิจารณาเร่งด่วน มีนายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการวางระบบอย่างยั่งยืน มีนายกิจจา ผลภาษี เป็นประธาน
โดยคณะกรรมการ กยน.จะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า) มาเป็นที่ปรึกษา รวมทั้งการช่วยเหลือจากองค์กรต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะไจก้าที่ได้มีการศึกษาลุ่มน้ำในภาคกลางตั้งแต่ปี 2543 สอดคล้องกับผลการศึกษาของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่วนการทำงานนั้น กยน.และคณะอนุกรรมการฯ จะเร่งทำงาน เบื้องต้นจะหารือในหลักการการสร้างพนังกั้นน้ำถาวร วางแผนระบบประตูระบายน้ำและการวางเครื่องสูบน้ำในจุดที่เหมาะสม
"ตั้งเป้าว่าฤดูฝนปีหน้าจะทำพนังกั้นน้ำแบบถาวร วางระบบป้องกันคูคลอง และทำงานครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ มั่นใจว่าสิ่งก่อสร้างที่อาจเป็นอุปสรรคกีดขวางทางน้ำ จะบริหารจัดการได้ ส่วนเรื่องผังเมืองจะเสนอแนวทางให้ครม.พิจารณาอนุมัติผังเมืองให้สอดคล้องกับการทำงาน โดยโครงสร้างใหม่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังผังเมืองใหม่เสร็จแล้ว ส่วนการช่วยเหลือของไจก้าก็ไม่ได้หวังผลใด แต่ได้ศึกษาการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำมาแล้ว ทำให้เริ่มทำงานได้" นายกิตติรัตน์ กล่าว
ส่วนกรณีนิคมอุตสาหกรรมต่างๆหรือสิ่งปลูกสร้างเดิมที่ขวางทางไหลของน้ำนั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่าเชื่อว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคขวางทางน้ำ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเพราะบริหารจัดการน้ำไม่ดีพอ ซึ่งก็คงไม่ต้องมีการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมแต่อย่างใด ซึ่งมองว่าสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ทันทีคือสำรวจความตื้นของคูคลองและระบบระบายน้ำ
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒนาสังคมและความมั่นคงแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า กรอบการทำงาน 1-3 เดือนจากนี้ จะศึกษาประเด็นของน้ำท่วมว่าจุดอ่อนและจุดแข็งอยู่ที่ใด เช่น ทำไมน้ำไหลไม่ออก เพื่อให้มั่นใจว่าฤดูฝนครั้งหน้าน้ำจะไม่ท่วม แล้วต้องเสนอให้ ครม.และ กยน.วางแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับสถานการณ์ปีหน้า เช่น การทำประตูระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง วางเครื่องสูบน้ำ และการวางระบบในระยะยาวที่จะมองถึงต้นทางน้ำมาถึงในภาคกลางที่เป็นจุดกักเก็บน้ำและปลายทาง
ทั้งนี้ยอมรับเรื่องผังเมืองที่อาจจะเป็นจุดอ่อน โดยอาจจะมีการประกาศไม่ให้สิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ ขณะเดียวกันการพยากรณ์ที่มีการอ้างอิงข้อมูลจากหลายภาคส่วน ก็จะมอบหมายให้คณะอนุกรรมการภารกิจพิจารณาเร่งด่วน ศึกษาดูข้อมูลเพื่อจะทำการพัฒนาและวิเคราะห์ให้แม่นยำขึ้น ซึ่งจะขอความร่วมมือจากต่างประเทศด้วย
นายวิเชียร ชวลิต เลขานุการกยน. กล่าวว่าการแก้ไขปัญหาน้ำต้องวางระบบให้ดี โดย กยน.เห็นควรดูให้ครอบคลุมทุกด้านทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพราะหลังจากที่มีปัญหาอุทกภัยแล้วมักจะมีปัญหาภัยแล้งตามมา ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะมีศึกษาหาจุดอ่อนเพื่อดำเนินการแก้ไข ซึ่งระหว่างการประชุมนายสุเมธ ตันติเวชกุล ที่ปรึกษา กยน. แสดงความเป็นห่วงเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ไม่ใช่การดูโปรเจ็ค แต่ต้องดูกิจกรรมด้วย ส่วนนายปราโมทย์ ไม้กลัด เป็นห่วงเรื่องการระบายน้ำในคูคลองที่จะต้องมีการบูรณะดูแล
ด้าน นายสมิทธ ธรรมสโรช กรรมการ กยน. กล่าวว่า การแก้ไขป้องกันไม่ให้น้ำท่วมในระยะสั้นและระยะยาวนั้น ข้อมูลที่จะนำมาพยากรณ์ต้องมีความแม่นยำ เพื่อให้หน่วยงานอื่นนำไปวิเคราะห์ได้ถูกต้องโดยในระยะ 6 เดือน จะต้องไม่มีผลกระทบจากธรรมชาติเกิดขึ้น ขณะที่การประชุมครั้งต่อไป 7 ธ.ค.นี้ จะต้องเสนอแนะให้ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง ทั้งเรื่องฟลัดเวย์ตามโครงการพระราชดำริ และแม่น้ำเจ้าพระยา 2 .
ที่มาภาพ : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1321681677&grpid=00&catid=00