ไทยเปิดดีเซลรางหาดใหญ่-ปาดังฯ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าเร็วสูงเข้าเคแอล
ไทยเปิดขบวนรถดีเซลรางจากสถานีหาดใหญ่ไปปาดังเบซาร์ เชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงเข้ากัวลาลัมเปอร์และเมืองท่องเที่ยวต่างๆ เผยวิ่งตรงถึงหาดใหญ่ไม่ได้ เพราะไทยใช้รางคนละแบบ แถมไร้ระบบรถไฟฟ้า
เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ธ.ค.2558 ที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่วมกับ พ.ท.ฮัจญ์ยี การ์บีนี พิจัน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศมาเลเซีย ร่วมเป็นประธานเปิดการเดินรถระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย ขบวนรถ DRC จากสถานีชุมทางหาดใหญ่ ถึงสถานีปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นขบวนดีเซลรางปรับอากาศ และไปเชื่อมต่อกับขบวนรถไฟฟ้าด่วน ETS ของมาเลเซีย ที่สถานีปาดังเบซาร์ เพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองบัตเตอร์เวอร์ธ รัฐปีนัง, เมืองอิโปห์ รัฐเปรัก และกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย
การเปิดเส้นทางรถไฟสายดังกล่าวเป็นการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อันจะส่งผลไปถึงความสะดวกสบายในการเดินทาง ความพร้อมของการขนส่งสินค้าระหว่างกัน รวมทั้งต้อนรับ-ส่งต่อนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ
ในระยะแรก ร.ฟ.ท.จะให้บริการรถไฟสายนี้วันละ 4 ขบวน คิดอัตราค่าโดยสาร 80 บาทตลอดสาย ประกอบด้วย ขบวน 947 หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ออกเวลา 07.30 น. ถึงเวลา 08.25 น. ขบวน 948 ปาดังเบซาร์-หาดใหญ่ ออกเวลา 08.55 น. ถึงเวลา 09.50 น. ขบวน 949 หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ออกเวลา 13.05 น. ถึงเวลา 14.02 น. และขบวน 950 ปาดังเบซาร์-หาดใหญ่ ออกเวลา 14.40 น. ถึงเวลา 15.35 น.
นายวุฒิชาติ กล่าวว่า ที่สถานีปาดังเบซาร์ ผู้โดยสารทั้งไทยแลมาเลเซียสามารถเปลี่ยนขบวนรถ แล้วผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองทั้งสองประเทศได้ทันที และในอนาคตจะเร่งพัฒนาระบบรางคู่ โดยจะให้เส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์เป็นเส้นทางนำร่อง แล้วจึงพัฒนาระบบไฟฟ้าต่อไป
สำหรับการรถไฟแห่งประเทศมาเลเซีย ได้เปิดให้บริการรถไฟระบบไฟฟ้า ความเร็ว 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เส้นทาง กัวลาลัมเปอร์-หาดใหญ่ จากปกติใช้วลาเดินทาง 12 ชั่วโมง เหลือเพียง 5 ชั่วโมง ค่าโดยสารเพียง 80 ริงกิต หรือประมาณ 700 กว่าบาท
ส่วนเหตุผลที่ต้องใช้รถไฟดีเซลรางของประเทศไทยไปเชื่อมกับขบวนรถไฟระบบไฟฟ้าของมาเลเซียที่ปาดังเบซาร์นั้น ก็เนื่องจากรางรถไฟของประเทศไทยเป็นรางเดี่ยว และยังไม่มีระบบไฟฟ้า รถไฟจากประเทศมาเลเซียจึงเข้ามาไม่ได้
น.ส.ซีตีสาวีตา อับดุลเราะห์มาน ชาวมาเลเซีย กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่จะมีรถไฟฟ้าเดินทางไปเมืองหลวงของมาเลเซียได้เร็วขึ้น และมีรถไฟเข้าไปที่เมืองหาดใหญ่ด้วย รู้สึกสะดวก คาดว่าในอนาคตเธอและครอบครัวจะมีโอกาสได้ใช้บริการบ่อยๆ
ขณะที่ นายเปาซี อาแว ชาว อ.หาดใหญ่ กล่าวว่า เป็นนักธุรกิจ จึงต้องเดินทางไปมาระหว่างหาดใหญ่กับประเทศมาเลเซียบ่อยครั้ง รู้สึกดีใจและยินดีมากที่จะมีรถไฟที่สามารถเชื่อมถึงกันได้ ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน