ธุรกิจโทรคมนาคมส่อแววแข่งขันรุนแรง หลังประมูลคลื่น 900 MHz
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2015 ที่ผ่านมา กสทช. ได้แถลงผลการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต มีแบนด์วิธใบอนุญาตละ 10 MHz โดย JAS เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นใบอนุญาตแรกที่ราคา 75,654 ล้านบาท ส่วน TRUE เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นใบอนุญาตที่สองที่ราคา 76,298 ล้านบาท รวมมูลค่าเงินประมูลสูงถึง 151,952 ล้านบาท
เป็นไปตามคาดว่าการประมูลคลื่น 900 MHz จะมีการแข่งขันเพื่อแย่งชิงคลื่นความถี่อย่างรุนแรง เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขันของผู้ให้บริการมือถือ โดยทั่วไป ผู้ให้บริการมือถือต่างต้องการคลื่นความถี่ทั้งในย่านความถี่ต่ำและความถี่สูงเพื่อใช้งานผสมผสานกันตามแต่ละพื้นที่ โดยคลื่นความถี่สูงมีพื้นที่กระจายสัญญาณแคบ ต้องวางเสากระจายสัญญาณจำนวนมาก จึงมักใช้เพื่อให้บริการในพื้นที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ในเขตเมือง ส่วนคลื่นความถี่ต่ำครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้าง ทำให้ประหยัดค่าลงทุนโครงข่ายและเหมาะสำหรับการใช้งานในต่างจังหวัด ซึ่งคลื่น 900 MHz จะไม่มีการประมูลอีกในช่วง 15 ปีข้างหน้า ดังนั้น ผู้ให้บริการมือถือแต่ละรายจึงมีความต้องการคลื่น 900 MHz เป็นอย่างมาก
เมื่อประกอบกับเงื่อนไขการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz ที่ยืดหยุ่นกว่าการประมูลคลื่น 1800 MHz1 ส่งผลให้การประมูลมีความดุเดือดและราคาประมูลรวมถูกดันให้สูงกว่ามูลค่าประเมินคลื่นความถี่ โดยใบอนุญาตทั้งสองใบคิดเป็นเกือบ 5 เท่าของมูลค่าคลื่น นอกจากนี้ ราคามูลค่าคลื่นเฉลี่ยต่อ 1 MHz ยังสูงถึงเกือบ 3 เท่าของราคาเฉลี่ยต่อ 1 MHz ในการประมูลคลื่น 1800 MHz เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีมูลค่าการประมูลต่อใบอนุญาตขนาด 10 MHz สูงที่สุดในโลกอีกด้วย
การที่ผู้เล่นบางรายพลาดการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันได้ โดยในส่วนของ DTAC นั้น แม้ว่าจะมีคลื่นในมือกว่า 50 MHz แต่คลื่นบางส่วน ได้แก่ คลื่นความถี่ 1800 MHz (จำนวน 25 MHz) และคลื่นความถี่ 850 MHz (จำนวน 10 MHz) จะค่อยๆ ทยอยหมดอายุภายในปี 2018 ฉะนั้น การที่ DTAC พลาดการประมูลทั้งคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz จึงอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของบริษัท อีกทั้ง DTAC ยังคงต้องลงทุนโครงข่ายภายใต้คลื่นสัมปทานเดิมที่มีอายุเหลือเพียง 3 ปี เพื่อรักษาฐานลูกค้า ทำให้มีต้นทุนค่าเสื่อมราคาที่สูงขึ้นและอาจเกิดความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาวได้
ในส่วนของ AIS นั้น การที่ AIS พลาดการประมูลคลื่น 900 MHz ทำให้ AIS มีคลื่นในมือเหลือเพียง 30 MHz จากเดิมที่เคยถือครองคลื่นความถี่กว่า 45 MHz อีกทั้งยังเป็นคลื่นความถี่ในย่านความถี่สูงทั้งสิ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารจัดการคลื่นให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่กว้างและมีปริมาณการใช้งานไม่มาก ทำให้การลงทุนเสาสัญญาณสำหรับคลื่นในย่านความถี่สูงเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดอาจไม่คุ้มทุนนัก นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเรื่องแบนด์วิธของคลื่นที่อาจไม่เพียงพอต่อปริมาณการใช้งานข้อมูลในอนาคต อย่างไรก็ดี คาดว่า AIS จะใช้เม็ดเงินที่พลาดจากการประมูลไปลงทุนพัฒนาโครงข่าย รวมถึงอาจเจรจาเพื่อขอเช่าคลื่นความถี่ต่อจาก CAT และ TOT เพื่อลดปัญหาคลื่นความถี่ไม่เพียงพอ
ด้วยข้อจำกัดของโทรศัพท์ที่รองรับการใช้งาน 4G จึงคาดว่าผู้ชนะการประมูลมีแนวโน้มนำคลื่น 900 MHz มาใช้งานในระบบ 2G/3G อีไอซีคาดว่าในระยะแรก TRUE และ JAS มีแนวโน้มนำคลื่นที่ได้ไปใช้งานในระบบ 2G/3G เพื่อให้บริการในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันมีรุ่นโทรศัพท์ที่รองรับการใช้งาน 4G-LTE บนคลื่น 900 MHz ไม่มากนัก อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ว่า TRUE อาจนำคลื่นความถี่ 900, 1800 และ 2100 MHz มารวมกัน (Carrier Aggregation) และให้บริการ LTE-Advanced ที่มีความเร็วสูงกว่าเทคโนโลยี 4G-LTE ธรรมดา เพื่อใช้เป็นจุดเด่นทางการตลาดได้
การก้าวเข้ามาของ JAS ส่งผลให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมีผู้เล่นหลักเพิ่มขึ้นเป็น 4 ราย และคาดว่าในปี 2016 การแข่งขันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การประมูลครั้งนี้ ทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมีผู้เล่นหลักเพิ่มขึ้นเป็น 4 ราย โดยผู้เล่นแต่ละรายต่างมีข้อได้เปรียบและเสียเปรียบที่แตกต่างกัน เช่น รายที่มีคลื่นความถี่ในมือมากสุดทำให้มีข้อได้เปรียบเรื่องการให้บริการข้อมูลที่รวดเร็วกว่าคู่แข่ง แต่อาจมีปัญหากระแสเงินสดจำกัด ส่วนรายที่เคยครองตลาด เริ่มมีความเสี่ยงจากจำนวนคลื่นที่มีอยู่จำกัดแต่มีความแข็งแกร่งทางการเงินที่สามารถขยายการลงทุนโครงข่ายได้มากกว่าคู่แข่ง ในขณะที่ผู้เล่นรายใหม่นั้นอาจเสียเปรียบในเรื่องเม็ดเงินและประสบการณ์ในการทำธุรกิจ แต่สามารถต่อยอดบริการจากฐานลูกค้าบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตที่มีอยู่กว่า 2 ล้านรายได้
ทั้งนี้ อีไอซีคาดว่าในปี 2016 ธุรกิจโทรคมนาคมจะมีการแข่งขันอย่างรุนแรงเพื่อช่วงชิงฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาดให้ได้มากที่สุด โดยผู้เล่นรายใหม่อาจร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการต่างชาติและใช้กลยุทธ์ทั้งด้านการตลาดและราคาเพื่อสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ส่วนผู้เล่นรายเดิมอาจชูประสิทธิภาพในการให้บริการที่เหนือกว่าเนื่องจากมีแบนด์วิธมากกว่า ประกอบกับนำเสนอแพ็คเกจราคาที่ถูกลงเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมของตน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว สงครามราคาที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประกอบการของผู้เล่นแต่ละราย โดยรายที่มีคลื่นในระบบใบอนุญาตทั้งหมดจะมีข้อได้เปรียบมากกว่า เนื่องจากมีต้นทุนกำกับดูแล (regulatory cost) ที่ต่ำกว่า ต่างจากผู้เล่นบางรายที่ยังคงมีคลื่นในระบบสัมปทานที่ต้องเสียส่วนแบ่งรายได้เป็นค่าสัมปทานในอัตราที่สูงกว่า
อย่างไรก็ดี ในระยะกลาง-ยาว ตลาดโทรคมนาคมอาจมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างผู้เล่นหลัก 4 ราย โดยครั้งล่าสุดที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือเมื่อ TRUE ซื้อกิจการของ HUTCH ในช่วงปลายปี 2010 โดย Hutch เคยเป็นผู้ให้บริการมือถือในระบบ CDMA (Code Division Multiple Access) ความถี่ 800 MHz อย่างไรก็ดี HUTCH มีข้อจำกัดในการให้บริการหลายประการ อาทิ มีแบนด์วิธในการให้บริการไม่มากนักเพียง 10 MHz และได้รับสัมปทานเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และ 25 จังหวัดภาคกลาง จึงทำให้กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งผลให้ HUTCH มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 2-3% ทั้งนี้ TRUE ได้เข้าซื้อกิจการของ HUTCH ในเดือนธันวาคม 2010 หลังจากที่ HUTCH เข้ามาทำธุรกิจในไทย 7 ปี
ดังนั้น จึงต้องจับตามองทิศทางและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของธุรกิจโทรคมนาคมหลังจากนี้ โดยจากกรณีศึกษาของประเทศพัฒนาแล้วที่มีประชากรใกล้เคียงกับไทย เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ หรือเกาหลีใต้ พบว่ามีจำนวนผู้ให้บริการมือถือไม่มากนัก ประมาณ 3-4 ราย เท่านั้น โดยผู้ให้บริการรายเล็กสุดในประเทศเหล่านี้ที่ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 10% ขึ้นไป
รายละเอียดการถือครองคลื่นความถี่ของผู้ให้บริการมือถือ
1การประมูลคลื่น 900 MHz ในครั้งนี้ กสทช. กำหนดให้ผู้ชนะการประมูล ชำระเงิน 8,040 ล้านบาท (50% ของมูลค่าคลื่น) ในปีแรก และชำระเงินอีกปีละ 4,020 ล้านบาท (25% ของมูลค่าคลื่น) ในปีที่สองและสาม แล้วส่วนที่เหลือให้ไปชำระทั้งหมดในปีที่ 4 ในขณะที่การประมูลคลื่น 1800 MHz นั้น กสทช. กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลชำระเงิน 50% ของราคาใบอนุญาตที่ประมูลได้จริงในปีแรก และชำระเงินอีก 25% ของราคาใบอนุญาตที่ประมูลได้จริงเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปี และ 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตตามลำดับ
2BTO หรือ Build-Transfer-Operate คือสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนที่มีข้อตกลงให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง มีหน้าที่สร้าง โอนกรรมสิทธิ์ และดำเนินงาน