ปี 59 เเล้งหนัก! ภาคเอกชนหวั่นกระทบห่วงโซ่ธุรกิจข้าวยกแผง
ปี 58 น้ำน้อย แต่ข้าวเยอะ ‘นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย’ เผยชาวนาปรับตัวรับวิกฤต เน้นหลักสูตรหว่านครั้งเดียว เกี่ยวสองครั้ง ระบุปีหน้าเจอแล้ง ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รถเกี่ยวข้าว-ขายปุ๋ย-โรงสี เสี่ยงรับเคราะห์ ยกเว้นผลิตภัณฑ์จากข้าว
กรมชลประทานคาดการณ์สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้การจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2558/59 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558-30 เมษายน 2559 จะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยส่งน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังมีเกษตรกรเพาะปลูกนาปรังมากกว่า 1.5 ล้านไร่ ซึ่งมีโอกาสที่ผลผลิตจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต หากมีการเพิ่มพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการทำนาปรังในฤดูแล้งนี้ เพื่อป้องกันความเสียหาย โดยสนับสนุนให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน
นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า แม้ปีนี้ไทยจะประสบปัญหาภัยแล้ง แต่น่าสังเกตว่า เพราะเหตุใดผลผลิตข้าวจึงมีปริมาณมาก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวขาวกลับดี ฉะนั้นสถานการณ์วิกฤตครั้งนื้ทำให้เกษตรกรมีการปรับตัว และทำให้เห็นว่า การใช้น้ำมากเพื่อการเพาะปลูกข้าวไม่จำเป็นอีกแล้ว
“ทุกวันนี้ชาวนาไม่ได้ไถนาหว่านกล้า แต่นำเครื่องตัดต้นข้าวให้เหลือเฉพาะโคนรากคล้ายกับการปลูกกล้วย หลังจากนั้นจะรอให้ต้นข้าวแตกหน่อ ทำให้หว่านเพียงครั้งเดียว เกี่ยวได้สองครั้ง” นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าว และว่า การปรับตัวลักษณะนี้ทำให้การปลูกข้าวรอบใหม่ ใช้เวลาเพียง 3 เดือน จาก 4 เดือน เพราะมีรากฝังอยู่แล้ว และช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น ลดค่าไถ ค่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ค่าปุ๋ย
นายมานัส ยังกล่าวว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะทำให้ต้นข้าวเกิดการปรับตัว เมื่อกำลังจะตาย ต้องสืบพันธุ์ให้มีเมล็ดออกมา ทำให้ปีนี้ผลผลิตจึงดี อย่างไรก็ตาม ต้นปี 2559 น้ำในเขื่อนจะมีปริมาณน้อย หากหนักสุดธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการปลูกข้าวประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็น รถเกี่ยวข้าว จำหน่ายปุ๋ย เคมีเกษตร โรงสี ยกเว้น ผลิตภัณฑ์จากข้าว ยังอยู่ได้ เพราะมีปริมาณข้าวสำรองในคลังจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 13 ล้านตัน .
ภาพประกอบ:มานัส กิจประเสริฐ-เว็บไซต์มติชน