‘นิพนธ์’ คาดอีก 10 ปี คนไทยบริโภคข้าวลดลง ต่ำกว่า 100 กก./คน/ปี
คนไทยบริโภคข้าวสูง 104 ก.ก./คน/ปี 'นิพนธ์ พัวพงศกร' ชี้อนาคตจะมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะคนเมือง เหตุทำงานไม่หนัก ร่างกายไม่ต้องการพลังงานมาก หวังอาเซียนเปิดเสรีการค้า ประเทศได้เปรียบส่งออกแป้ง
วันที่ 21 ธันวาคม 2558 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการประมาณการบริโภคข้าว ณ ห้องพาโนรามา 1 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยถึงภาพรวมของการบริโภคข้าวไทยทั้งประเทศว่า ไม่น่ากังวล เนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลงน้อย แม้ระยะยาวจะมีปริมาณลดลงก็ตาม โดยปัจจุบันคนไทยบริโภคข้าวเฉลี่ย 100-104 กิโลกรัม/คน/ปี เฉพาะภาคครัวเรือนประมาณ 7 ล้านตัน/ปี และใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ และแป้ง รวมการบริโภคข้าวทั้งประเทศประมาณ 10 ล้านตัน/ปี
ทั้งนี้ แนวโน้มการบริโภคข้าวค่อย ๆ ลดลง แต่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมแป้งมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังกังวลกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนกีดกันทางการค้าผลิตภัณฑ์ชนิดดังกล่าวค่อนข้างมาก ฉะนั้นหากมีการเปิดเสรีทางการค้าจริงในอนาคต จะทำให้ไทยได้เปรียบ เพราะผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดีเเละอุตสาหกรรมเข้มเเข็ง สามารถส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านได้
สำหรับแนวโน้มการบริโภคข้าวที่ค่อย ๆ ลดลง จะเห็นอย่างมีนัยยะสำคัญช่วงเวลาใด นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงลงอย่างช้า ๆ โดยในอีก 10 ปีข้างหน้า คนไทยจะลดการบริโภคข้าวจาก 104 กิโลกรัม/คน/ปี เหลือต่ำกว่า 100 กิโลกรัม/คน/ปี เฉพาะประชากรในเมืองจะบริโภคข้าวต่ำกว่า 90 กิโลกรัม/คน/ปี เพราะมีวิถีชีวิตแตกต่างจากในชนบท ไม่ได้ทำงานหนัก จึงไม่ต้องการพลังงานจากแป้งมาก ฉะนั้นส่งผลให้บริโภคข้าวน้อย
“ที่น่าสนใจ คือ ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย และบริโภคข้าวค่อนข้างมาก จำเป็นต้องประมาณการจำนวนแรงงานกลุ่มเหล่านี้และปริมาณการบริโภคข้าวต่อคน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ภาพรวมการบริโภคข้าวอยู่ในระดับสูง” รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าว .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ผู้จัดการ