ปธ.คตง.แนะ รบ.ใช้วิธีหักกลบลบหนี้จ่ายค่าโง่‘คลองด่าน’
‘ชัยสิทธิ์’ ปธ.คตง. แนะ รบ. ใช้วิธีหักกลบลบหนี้จ่ายค่าโง่ ‘บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน’ เหตุกลุ่มกิจการร่วมค้าขาดคุณสมบัติตาม TOR ทำกรมควบคุมมลพิษเสียหายร้ายแรงกว่า 2.3 หมื่นล้าน ชี้คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดมีปัญหาต้องดูว่าถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่
จากกรณีศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อ 17 ธ.ค. 2558 ให้จำคุกอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษกับพวกรวม 3 คน คนละ 20 ปี ฐานทุจริตต่อหน้าที่โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน สมุทรปราการ เนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่โดยเอื้อประโยชน์และช่วยเหลือผู้รับจ้างโดยมิชอบ เช่น การเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย การกำหนดราคาค่าก่อสร้างให้สูงขึ้น การทำสัญญากับผู้รับจ้างทั้ง ๆ ที่ขาดคุณสมบัติตาม TOR เป็นเหตุให้รัฐเสียหายอย่างร้ายแรง 23,700 ล้านบาท
ล่าสุด นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษกับพวกทุจริตต่อหน้าที่โดยกระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์และช่วยเหลือกิจการร่วมค้า ให้เป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคอลงด่านโดยมิชอบ และกิจการร่วมค้า ขาดคุณสมบัติตาม TOR ของกรมควบคุมมลพิษ เนื่องจากบริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียขอถอนตัวจากกิจการร่วมค้าก่อนมีการลงนามในสัญญาจ้าง ย่อมเข้าข่ายการกระทำละเมิดต่อกรมควบคุมมลพิษ ทำให้กรมควบคุมมลพิษเสียหายอย่างร้ายแรง 23,700 ล้านบาท ผู้ร่วมค้าทั้ง 5 บริษัท และอธิบดีกรมควบคุมมลพิษกับพวกจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมควบคุมมลพิษ 23,700 ล้านบาท
นายชัยสิทธิ์ กล่าวอีกว่า แม้ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าเสียหายให้ผู้ร่วมค้าทั้ง 5 บริษัท 9,000 กว่าล้านบาท ซึ่งยังมีปัญหาว่าถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ กรมควบคุมมลพิษก็ขอหักกลบลบหนี้ ได้ทำให้ผู้ร่วมค้าทั้ง 5 บริษัทต้องจ่ายเงินให้กรมควบคุมมลพิษ 14,700 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย แม้รัฐบาลจะตกลงกับผู้ร่วมค้าทั้ง 5 บริษัทไปแล้ว ก็ขอหักลบกลบหนี้ได้ เพราะหนี้ละเมิดผิดนัดตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิด ฉะนั้น รัฐบาลจึงควรพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบในการใช้งบกลางจ่ายเงินให้ผู้ร่วมค้าทั้ง 5 บริษัท 9,000 กว่าล้านบาท
“ก่อนคดีค่าโง่คลองด่าน มีคดีค่าโง่ทางด่วนสายบางนา-บางพลี-สมุทรปราการเกิดขึ้น แม้อนุญาโตตุลาการจะชี้ขาดให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจ่ายค่าเสียหายให้กิจการร่วมค้า บีบีซีดี 6,000 ล้านบาทเศษ แต่ศาลฎีกาก็มีคำพิพากษาที่ 7277/2549 ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่ต้องจ่ายตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแม้แต่บาทเดียว เพราะผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยทำสัญญากับกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ผู้รับจ้างโดยเอื้อประโยชน์และช่วยเหลือผู้รับจ้าง สัญญาจ้างจึงเกิดจากกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่มีผลผูกพันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งคดีค่าโง่คลองด่านนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็เอื้อประโยชน์และช่วยเหลือผู้รับจ้างเช่นเดียวกัน ผลคดีน่าจะไม่ต่างกัน คือ รัฐไม่ควรจ่ายค่าโง่เหมือนกัน แต่เมื่อคดีค่าโง่คลองด่าน ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้จ่าย รัฐบาลก็ควรแก้ด้วยการขอหักกลบลบหนี กับค่าเสียหายที่ผู้รับจ้างต้องร่วมรับผิดชอบทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายและยังเรียกร้องให้ผู้รับจ้างจ่ายค่าเสียหายอีก 14,700 บาท ได้ด้วย” นายชัยสิทธิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า กรณี ค่าโง่คลองด่าน เดิมโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่านจะก่อสร้างขึ้นใน 2 ฝั่ง แม่น้ำเจ้าพระยาใน จ.สมุทรปราการ คือ ฝั่งบางปูและฝั่งพระสมุทรเจดีย์แต่ต่อมากลับรวมโครงการไว้ในที่ผืนเดียวกันที่ฝั่งคลองด่าน ทั้งๆที่ขัดแย้งกับผลการศึกษาของบริษัท มอนด์โกเมอรี่ วัตสัน เอเชีย จำกัด ที่เห็นว่าฝั่งคลองด่านไม่เหมาะสม และที่ดินฝั่งคลองด่านส่วนหนึ่งเป็นที่สาธารณะประโยชน์ แต่มีการออกโฉนดโดยมิชอบขายให้แก่กรมควบคุมมลพิษในราคาที่สูงมาก เป็นเหตุให้ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนายวัฒนา อัศวเหมเป็นเวลา 10 ปี
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มวงเงินโครงการจากเดิม 13,612 ล้านบาท เป็น 22,955 ล้านบาท และเดิมมีผู้ซื่อซองประกวดราคา 13 ราย แต่เมื่อมีการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะเจาะจงใน TOR ว่าผู้รับจ้างต้องมีประสบการณ์ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ทำให้มีผู้ยื่นซองประมูลจริงเพียง 4 ราย และผ่านคุณสมบัติเพียง 2 ราย ได้แก่ “กิจการร่วมค้า NVPSKG” และ “กลุ่มบริษัทมารูบินี”
ต่อมานายปกิต อธิบดีกรมควบคุมมลพิษในขณะนั้น ได้แก้เงื่อนไขการประมูลให้รวมทำโครงการบำบัดน้ำเสียบนที่ดินผืนเดียว ทั้งที่มติ ครม.ระบุให้ทำบนที่ดินสองผืน ทำให้กลุ่มบริษัทมารูบินีถอนตัว เพราะหาที่ดินไม่ทัน กิจการร่วมค้า NVPSKG จึงชนะการประมูลที่ราคา 22,949 ล้านบาท
แต่ก่อนทำสัญญาบริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ NWWI ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียได้ถอนตัวจากกิจการร่วมค้า NVPSKG ทำให้กิจการร่วมค้าขาดคุณสมบัติตามเงื่อนไขใน TOR เพราะผู้ร่วมค้าอีก 5 บริษัทไม่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่มีการทำสัญญาไปทั้งที่ขาดคุณสมบัติ
ระหว่างการก่อสร้างนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ได้สั่งให้ยุติการก่อสร้าง เนื่องจากพบประเด็นทุจริตหลายรายการ รวมทั้งการที่ไม่มี NWWI อยู่ในกิจการร่วมค้า กิจการร่วมค้า NVPSKG จึงยื่นคำร้องให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินค่าเสียหาย 9,000 ล้านบาทเศษ และในที่สุดศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าเสียหายตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายชัยสิทธิ์ จาก thaipublica