ผ่าเบื้องหลัง ธพว.เปลี่ยน 3 รอบ‘กก.สอบ’ ปล่อยกู้195 ล. เจ้าหน้าที่ผิด-บิ๊กบอสรอด?
เจาะ‘ไทม์ไลน์-เบื้องหลัง’ปมสอบหาคนผิด กรณี ธพว.ปล่อยกู้ บ.ไรซิงฯ 195 ล. ใช้ที่ดินตาบอดค้ำประกัน เสียหาย 300 ล. เปลี่ยนตัวกรรมการ 3 รอบ หลัง ชุดแรกสรุปเบื้องต้นแจ้งข้อหา บอร์ด–ผู้บริหาร 21 คน เหลือผิดแค่ จนท. ผู้บริหารสายงาน?
กรณี คณะกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบสวน ข้อเท็จจริงกรณีการปล่อยสินของธนาคารให้แก่บริษัท ไรซิง (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน รวม 195 ล้านบาท ทำให้ ธพว.ได้รับความเสียหาย 300 ล้าน ทดแทนคณะกรรมการชุดเดิมทั้งชุดเป็นครั้งที่ 3 เป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ของพนักงานในองค์กรและจับตามองธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอย่างมาก เนื่องเพราะการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐแห่งนี้ถูก ธปท.ตั้งข้อสังเกตในหลายกรณีและตกเป็นข่าวมาตลอด
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงเบื้องหลังและความเป็นมากรณีนี้มาเสนอดังนี้
ธพว.ได้ปล่อยกู้รีไฟแนนซ์ให้แก่ บริษัท ไรซิง (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้
มีนายโซ คิน ยูคนักธุรกิจชาวจีนถือหุ้นใหญ่ จำนวน รวม 195 ล้านบาท ทำให้ ธพว.ได้รับความเสียหายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ประมาณ 300 ล้านบาท พฤติการณ์คือ เมื่อลูกหนี้รายนี้มีสินเชื่ออยู่กับธนาคารกสิกรไทยมีปัญหานำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และไม่ได้ชำระหนี้มาเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ต่อมาปี 2552 เมื่อมาขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์กับ ธพว.ได้ 7 เดือนก็มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อีกครั้ง ทว่าปี 2553 ธพว.กลับอนุมัติสินเชื่อครั้งที่สองอีก 35 ล้านบาท มีความผิดปกติ 2 ประการ
1.เพิ่มหลักประกันเป็นที่ดินไร่อ้อยจำนวน 200 ไร่ มีบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาได้โอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของหุ้นส่วนคนหนึ่งก่อนจดจำนองกับธนาคาร
2.มีการถอดที่ดินบางแปลงที่อยู่ติดกับทางสาธารณะออกไป ทำให้ที่ดินหลักประกันที่เหลือเป็นที่ดินไม่ทางออก(ที่ดินตาบอด) ทำให้หลักประกันมีราคาถูก ไม่สมเหตุสมผล
26 มี.ค.58 คณะกรรมการ ธพว. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามคำสั่งที่ 07/2558 (คณะกรรมการชุดแรก) ประกอบด้วย
1.นายนันทพล กาญจนวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ประธานกรรมการ
2.นายยรรยง ลิขิตเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิ (อดีตผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบ ธปท.) กรรมการ
3.นายคงเดชา ชัยรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ กรรมการ
4.นายวิชา จินดาสกุลยนต์ ผู้บริหาร ดูแลงานสอบสวน เลขานุการ
5.ร้อยเอกณัฐพล นภาพรชนะ ผู้จัดการส่วนพัฒนาบุคลากรและวินัยพนักงาน ผู้ช่วยเลขานุการ
ประมาณ เดือนสิงหาคม 2558 คณะกรรมการชุดนี้ได้ดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยได้ว่ามีบุคคลใดปฏิบัติหน้าที่บกพร่องทำให้การอนุมัติสินเชื่อรายนี้เกิดความเสียหายขึ้นกับธนาคาร จึงได้ส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาวินัยร้ายแรง แก่ผู้เกี่ยวข้องที่เป็นพนักงานและบุคคลภายนอกที่เป็นคณะกรรมการบริหารให้ชี้แจงการกระทำที่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง รวม 21 คน
ทั้งนี้ ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจะต้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 7 วัน ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนชุดนี้คาดว่าจะใช้เวลาประชุมเพียง 2 ครั้ง ก็จะสามารถสรุปผลการสอบสวน และจัดทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการ ธพว. ภายในเดือนสิงหาคม 2558
แต่เนื่องจากผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาและให้ชี้แจงจำนวนหนึ่ง ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังคณะกรรมการ ธพว. จึงทำให้คณะกรรมการ ธพว.รับรู้ว่า คณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ วินิจฉัยว่า การอำนวยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้รายนี้ เป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรงของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งในขั้นตอนการวิเคราะห์สินเชื่อ ขั้นตอนกลั่นกรอง และขั้นตอนอนุมัติสินเชื่อโดยคณะกรรมการบริหาร ซึ่งการอนุมัติสินเชื่อรายนี้ มีลักษณะคล้ายกับราย หจก.โรงสีข้าวจงเจริญ ที่คณะกรรมการชุดปัจจุบันเป็นผู้อนุมัติ และเป็นหนี้เสีย เป็นเหตุให้ ธปท.สั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน และอยู่ระหว่างการสอบสวนอีกเช่นกัน กรรมการบางคนในคณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ เป็นกรรมการสอบสวนเรื่องโรงสีข้าวจงเจริญด้วย มีแนวโน้มว่าผลการวินิจฉัยจะออกมาในแนวทางเดียวกัน
คณะกรรมการ ธพว. จึงสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ เข้ารายงานผลการสอบสวนต่อคณะกรรมการ ธพว. (ทั้งที่การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน) และสั่งให้ชะลอการดำเนินการใดๆออกไปก่อน เพื่อรอการสั่งการจากคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง
ในช่วงเวลานั้น นายยรรยง ลิขิตเจริญ หนึ่งในกรรมการสอบสวนได้ขอลาออกจากคณะกรรมการสอบสวน
28 ส.ค. 58 คณะกรรมการ ธพว.มีมติในการประชุมครั้งที่ 20/2558 ให้ปรับกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยให้หน้าที่การแจ้งข้อกล่าวหา เปลี่ยนจากหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง (โดยไม่ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ทำหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาตามข้อบังคับเดิม) และมีมติด้วยว่าในระหว่างที่กระบวนการแก้ไขข้อบังคับยังไม่แล้วเสร็จ การแจ้งข้อกล่าวหาจะต้องเสนอต่อคณะกรรมการ ธพว.เพื่อให้ความเห็นชอบก่อน พร้อมทั้งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนเพิ่มเข้าไปใหม่อีก 3 คน รวมเป็น 5 คน (กรรมการเดิม 2 คน และกรรมการใหม่ 3 คน) เป็นกรรมการชุดที่ 2 ประกอบด้วย
1.นายนันทพล กาญจนวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ประธานกรรมการ
2.นายสมัคร เชาวภานันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานกรรมการ (กรรมการใหม่)
3.นายเวทย์ นุชเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการ (กรรมการใหม่)
4.นายเสรี นนทสูติ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการ (กรรมการใหม่)
5.นายคงเดชา ชัยรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ กรรมการ
6.นายวิชา จินดาสกุลยนต์ ผู้บริหาร ดูแลงานสอบสวน เลขานุการ
7.ร้อยเอกณัฐพล นภาพรชนะ ผู้จัดการส่วนวินัยพนักงาน ผู้ช่วยเลขานุการ
26 ต.ค.58 คณะกรรมการ ธพว. มีมติในการประชุม ครั้งที่ 24/2558 แต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดใหม่ (ชุดที่ 3) ประกอบด้วย
1.นายสมัคร เชาวภานันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานกรรมการ
2. นายเวทย์ นุชเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการ
3.นายเสรี นนทสูติ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการ
4.นายแสงศิริ ศิริศันสนียวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการ (กรรมการใหม่)
5.นายกำธร ประเสริฐสม ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการ (กรรมการใหม่)
6.ร้อยเอกณัฐพล นภาพรชนะ ผู้จัดการส่วนวินัยพนักงาน เลขานุการ
น่าสังเกตว่า
1.คณะกรรมการสอบสวนชุดที่ 3 รวมทั้งเลขานุการ ไม่มีบุคคลใดที่เป็นกรรมการ หรือเลขานุการในคณะกรรมการชุดที่ 1 ซึ่งเป็นชุดที่เห็นควรแจ้งข้อกล่าวหาวินัยร้ายแรงผู้เกี่ยวข้อง 21 คน
2.เหตุใดนายยรรยง ลิขิตเจริญ จึงลาออกจากกรรมการสอบสวนชุดที่หนึ่ง เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2558 (ภายหลังแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้อง 21 คน) ทั้งที่การสอบสวนใกล้แล้วเสร็จ และได้ร่วมประชุมมาแล้ว 12 ครั้ง ได้รับเบี้ยประชุม และค่าใช้จ่ายอื่น ครั้งละ 8,000 บาท รวมเป็น 96,000 บาท ทำให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่เข้ามาแทนจำนวน 3 คน (กรรมการชุดที่สอง)
มีข้อมูลระบุว่า คณะกรรมการสอบสวนชุดที่ 3 ได้ดำเนินการสอบสวนต่อจากชุดที่ 1 และ 2 และยกเลิกการแจ้งข้อกล่าวหาของคณะกรรมการสอบสวนชุดที่ 1 และมีความเห็นว่า การอำนวยสินเชื่อรายนี้ เป็นการกระทำผิดวินัยเฉพาะพนักงานและผู้บริหารในหน่วยงานสินเชื่อ ซึ่งเป็นผู้วิเคราะห์สินเชื่อ และนำเสนอโดยคณะกรรมการสินเชื่อ ที่เป็นผู้กลั่นกรองให้ความเห็นชอบ ขณะที่ คณะกรรมการบริหารไม่มีความผิด แตกต่างจากความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนชุดที่ 1 อย่างสิ้นเชิง
ถ้าเทียบกับคดีทุจริตปล่อยเงินกู้ธนาคารกรุงไทยให้แก่กลุ่มบริษัทกฤษดามหานครเกือบหมื่นล้านบาท (คดีหมายเลขแดงที่ อม.55/2558) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยว่าผู้เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนที่ให้ความเห็นชอบมีความผิดในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ โดยผู้รับผิดชอบสูงสุดคือ คณะกรรมการอนุมัติสินเชื่อ ผู้วิเคราะห์สินเชื่อและผู้กลั่นกรอง ซึ่งไม่มีอำนาจอนุมัติเป็นเพียงผู้สนับสนุน
กรณีนี้หากคณะกรรมการสอบสวนชุดที่ 3 มีความเห็นตรงกันข้ามกับคณะกรรมการสอบสวนชุดที่ 1 จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงที่มีน้ำหนักมาหักล้างและรับฟังได้อย่างสมเหตุสมผลว่า ‘ผู้อนุมัติ’ ไม่มีความผิด ไม่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง
มิฉะนั้น อาจถูกตั้งคำถาม และ อาจจะต้องกลายเป็น ‘ผู้ถูกสอบสวน’ เสียเอง?
อ่านประกอบ:
ธพว.เปลี่ยนตัว ‘กก.สอบ’ปมปล่อยกู้ บ.ไรซิงฯ 195 ล. -ชุดแรกฟันเรียบ 21 คน
ชงฟันบิ๊ก ธพว.-พวก 21 คนพันปล่อยกู้ บ.ส่งออกเสียหาย 300 ล.-‘ที่ดินตาบอด’ค้ำประกัน
เบื้องหลัง ธพว.เปลี่ยน 3 รอบ ‘กก.สอบ’ ปมปล่อยกู้โรงสีข้าวจงเจริญ 125 ล.
เปิดชื่อบอร์ด ธพว.10คนกรณีเงินกู้โรงสี NPL125 ล.-ปมใหม่Conflict of Interest?
หลักฐาน 3 ชิ้น!ใบเสร็จ‘ค่าไฟ’-คำสั่ง รมว.คลัง มัดปมเงินกู้โรงสี-ธพว.125 ล.
เจ้าของโรงสีข้าว‘ลูกหนี้’ NPL 125 ล. ธพว. อยู่คอนโดฯ 5 ล. กลางกรุงเทพฯ
ไขปริศนา!‘เงินปล่อยกู้’17 ล. โรงสีข้าวจงเจริญ ลูกหนี้ NPL 125 ล้าน ธพว.
เปิด‘โรงสีข้าวศรีสะเกษ’กู้ ธพว. 125 ล. หยุดกิจการก่อนรับเงิน ชนวนร้องสอบบิ๊ก
จริงหรือเพิ่มทุน 50 ล.ด้วยเงินสด? ไขปม ธพว.ปล่อยกู้ รร.ดัง จ.มุกดาหาร 102 ล.
เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้ NPL 694 ล. ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.
ไขปมข้อสังเกต ธปท. ‘โรงสีข้าว’จ.อุตรดิตถ์ กู้ ธพว.480 ล.-ชำระค่าหุ้น 60 ล.จริง?
‘เอกสาร’ขาดความน่าเชื่อถือ!กรณี ธพว. ปล่อยกู้ รร.ภูเก็ตนักธุรกิจใหญ่ 194 ล.
เปิดไส้ใน ธพว.ปล่อยกู้347.5 ล. ซื้อที่ดินโครงการปัญหา‘แก่งกระจาน’บ.นักธุรกิจดัง
ค้างจ่ายภาษีอื้อ!สรรพากรบี้ รร.เกาะพะงัน ลูกหนี้NPL ธพว. 199 ล. -สาวสึก‘ผู้ถือหุ้น’
ปล่อยกู้ซื้อที่ดินเปล่า‘โรงพิมพ์ประสานมิตร’ NPL ธพว. 180 ล. -ศาลสั่งล้มละลาย
ใช้เงินสด30.2 ล. เพิ่มทุนก่อนกู้! ปริศนา โรงสี จ.ชัยนาท ลูกหนี้ NPL ธพว.159 ล.
เพิ่มทุน50 ล.ด้วยเงินสด!ปริศนา โรงแรมเกาะพะงัน ลูกหนี้ NPL ธพว.199 ล.
แฟ้มลับ ธปท.กรณี ธพว.ปล่อยกู้ ร.ร. นานาชาติ ก่อนติดNPL อันดับหนึ่ง359 ล.
เปิดชื่อ20 ลูกหนี้ NPL รายใหญ่ ธพว.โรงสีอื้อ 6 แห่ง-ยอดรวม 2.7 หมื่นล้าน
ปิดตำนาน22 ปี“โรงพิมพ์ประสานมิตร”ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์-ขาดทุนสะสม 7 ล้าน